'บอร์ดอีอีซี' ขยับเวลาส่งมอบพื้นที่ไฮสปีดเร็วขึ้น

'บอร์ดอีอีซี' ขยับเวลาส่งมอบพื้นที่ไฮสปีดเร็วขึ้น

บอร์ดอีอีซีไฟเขียวขยับเวลาส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนโครงการไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินให้เร็วขึ้น คาดส่งมอบได้ทั้งหมดภายใน 2 ปี 3 เดือน โครงการเปิดได้ในปี 2568 ด้านผู้ว่าฯ รฟท.ชี้ กรณีร้ายแรงเลิกสัญญาได้คือไม่ได้ส่งมอบพื้นที่เลยภายใน 1 ปี 3 เดือน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนา พิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ กพอ.ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน วันนี้ (16 ต.ค.) ว่า ที่ประชุมฯได้ข้อสรุปเรื่องการส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนที่ชนะการประมูลในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เพื่อให้คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ด รฟท.) จัดทำเอกสารแนบท้ายสัญญาเพื่อลงนามกับเอกชนผู้ชนะประมูลในวันที่ 25 ต.ค.นี้ 

รายละเอียดการส่งมอบพื้นที่ในแนวทางก่อสร้างโครงการ แบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1.สถานีพญาไท - สนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทาง 28 กิโลเมตร รฟท.สามารถส่งมอบที่ดินให้เอกชนได้ทันที 100% หลังลงนามในสัญญา 

ช่วงที่ 2 จากสนามบินสุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา ระยะทาง 170 กม. กำหนดส่งมอบพื้นที่เร็วขึ้นกว่าเดิมจากเดิมภายใน 2 ปีหลังลงนามในสัญญา เป็น 1 ปี 3 เดือนหลังลงนาม โดยโครงการช่วงนี้จะเผิดให้บริการภายในปี 2567 

และช่วงที่ 3 จากสถานีพญาไท - สนามบินดอนเมือง ระยะทาง 22 กิโลเมตร กำหนดส่งมอบพื้นที่เร็วขึ้นจากเดิม 4 ปีเป็นส่งมอบพื้นที่ภายใน 2 ปี 3 เดือน หลังมีการลงนามในสัญญา โดยโครงการช่วงนี้จะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568

ทั้งนี้ ที่ประชุมฯได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่ให้ได้ตามแผนที่กำหนดไว้โดยมอบหมายให้ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ส่วนงบประมาณที่หน่วยงานต่าง ๆ จะใช้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องจะทำงานร่วมกับอีอีซีและเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน พ.ย.นี้ 

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่รัฐไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนได้ตามแผนงานเอกชนสามารถฟ้องร้องต่อรัฐบาลเพื่อเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่ นายคณิศ กล่าวว่า เอกชนไม่สามารถฟ้องร้องรัฐบาลได้เนื่องจากโครงการนี้เป็นการร่วมทุนแบบ PPP net cost ซึ่งเอกชนต้องรับความเสี่ยง โดยคำนวณค่าความเสี่ยงไว้ในราคาที่ประมูลแล้ว อย่างไรก็ตาม กรณีการส่งมอบที่ดินไม่ได้และทำให้โครงการล่าช้ารัฐกับเอกชนสามารถเจรจากันและขยายเวลาในการก่อสร้างโครงการได้ 

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่า รฟท.กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าหาก รฟท.ไม่สามารถส่งมอบที่ดินได้ตามแผนเอกชนสามารถขอยกเลิกสัญญาออกจากโครงการได้ว่าเรื่องนี้จะเกิดในลักษณะนั้นได้กรณีเดียวคือหลังเซ็นสัญญาแล้วรฟท.ไม่ได้ทำงานเลย คือถ้าครบกำหนดเวลา 1 ปี 3 เดือนแล้ว เราไม่ได้ทำอะไรเลย หรือเกิดการประท้วงจนโครงการเดินหน้าไม่ได้แล้วหาทางออกกันไม่ได้ซึ่งนั่นคือกรณีเลวร้ายที่สุดซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นก็อาจยกเลิกสัญญาได้ 

“แบบนั้นอาจต้องเลิกไปเลย แต่ไม่มีใครที่มาเซ็นสัญญาแล้วตั้งใจจะยกเลิกสัญญา การเซ็นสัญญาคือเริ่มต้นทำสัญญา และหลังจากนี้ขอเวลาทำงานก่อน” นายวรวุฒิกล่าว