‘ยูเอวี’ ตอบโจทย์พลเรือน สำรวจพื้นที่ ส่งพัสดุจนถึงงานบันเทิง

‘ยูเอวี’ ตอบโจทย์พลเรือน สำรวจพื้นที่ ส่งพัสดุจนถึงงานบันเทิง

หุ่นยนต์มีวิวัฒนาการหลากหลายรูปแบบ จึงรองรับการใช้งานที่แตกต่างกันได้เป็นอย่างดี หุ่นยนต์ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบันคือ “อากาศยานไร้คนขับ” ซึ่งเรียกกันทั้งคำว่า โดรน และ ยูเอวี

นวัตกรรมอากาศยานไร้คนขับตอบโจทย์สังคม มีมูลค่าตลาด 400 ล้านบาท “ท็อป เอ็นจิเนียริ่ง” เผยความต้องการใช้งานจากหน่วยงานพลเรือนเพิ่ม มุ่งภารกิจบินสำรวจพื้นที่ป่า ถ่ายภาพจัดทำแผนที่ความละเอียดสูง เสนอรัฐหนุนทำวิจัยพัฒนา สร้างความตื่นตัวให้กับผู้ผลิตและผู้ใช้  หุ่นยนต์มีวิวัฒนาการหลากหลายรูปแบบ จึงรองรับการใช้งานที่แตกต่างกันได้เป็นอย่างดี หุ่นยนต์ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบันคือ “อากาศยานไร้คนขับ” ไม่มีนักบินประจำการอยู่บนอากาศยาน แต่ควบคุมได้ด้วยระบบควบคุมอัตโนมัติระยะไกลผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ สามารถติดตั้งกล้องถ่ายภาพคุณภาพสูงและอุปกรณ์ตรวจวัดอื่นๆ

การเรียกอากาศยานไร้คนขับว่า “โดรน” (Drone) และ “ยูเอวี” (Unmanned Aerial Vehicle) ซึ่งมีความแตกต่างกัน โดย “โดรน” บินขึ้นลงในแนวดิ่ง ขับเคลื่อนด้วยใบพัดมากกว่า 1 ใบพัดเสมอ บังคับบินได้ในระยะที่สายตามองเห็นเท่านั้นและสามารถผลิตทีละจำนวนมากเพื่อการค้า (แมสโปรดักส์) ขณะที่ “ยูเอวี” ผลิตแต่ละตัวต้องใช้เวลานาน ใช้วัสดุคุณภาพสูง ระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้บังคับมีความซับซ้อน แม้จะบินไปได้ไกลลับสายตาก็สามารถควบคุมได้

ภาพรวมตลาดอากาศยานฯ ในไทย มีมูลค่าประมาณ 400 ล้านบาท และเป็นตลาดที่มีแนวโน้มขยายตัวที่ดี ปัจจุบันการใช้งานไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะด้านความมั่นคง แต่สามารถนำมาสร้างงานเพื่อสังคมได้เป็นอย่างดี เช่น การบินสำรวจพื้นที่ป่า ถ่ายภาพทำแผนที่ความละเอียดสูงที่สามารถเก็บรายละเอียดได้ครบถึง 100% การสำรวจพื้นที่ใช้งานทางการเกษตร การคำนวณพื้นที่ การตรวจสอบตลอดจนการค้นหาต่างๆ และบริการรับส่งสิ่งของซึ่งให้บริการแล้วในต่างประเทศ

กรณรงค์ ถึงฝั่ง กรรมการผู้จัดการบริษัท ท๊อป เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด ดำเนินธุรกิจให้บริการอากาศยานไร้คนขับ กล่าวบรรยายหัวข้อ “Social Airspace robotics” จัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ว่า นวัตกรรมอากาศยานฯ เพื่อสังคมนั้น ทางบริษัทฯ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบ พัฒนาและผลิตเครื่องอากาศยานไร้คนขับ ได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยร่วมกับภาคเอกชนและรัฐบาล  ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานนวัตกรรมฯ กรมชลประทานและ ปตท. นำอากาศยานฯ มาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ เช่น โครงการบินสำรวจโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโสมง จ.ปราจีนบุรี ซึ่งทางหน่วยงานในพื้นที่ต้องการจะสร้างอ่างเก็บน้ำ แต่ปัญหาคือ กรมชลประทานไม่มีแผนที่ความละเอียดสูงสำหรับพิจารณารายละเอียดการก่อสร้าง ทางบริษัทฯ จึงนำอากาศยานไร้คนขับไปช่วยการบินสำรวจเพื่อประกอบการจัดทำแผนที่

นอกจากนี้ยังมีโครงการฟื้นฟูเขาหัวโล้น จ.ลพบุรี โดยสมาคมร่วมใจภักดิ์รักษ์ป่าไทย ที่ต้องการจะเห็นภาพถ่ายทางอากาศสำหรับใช้ประกอบการวางแผนปลูกป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากในอดีตต้องจ้างเครื่องบินพาบินสำรวจจึงจะได้ภาพใหญ่ มีภาระค่าใช้จ่ายหลักล้านบาท ทางบริษัทฯ จึงนำอากาศยานฯ ขึ้นบินสำรวจและถ่ายภาพ ทำให้ได้ภาพที่นำไปใช้วางแผนปลูกป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากได้ภาพที่มีความละเอียดสูง และสามารถบินซ้ำได้หลายครั้งตามต้องการ

ส่วน ปตท.ได้ใช้บริการของบริษัทฯ สำรวจแนวท่อก๊าซระยะทางประมาณ 1,900 กิโลเมตร ที่ผ่านมา ปตท.จะใช้อากาศยานไร้คนขับแบบเฮลิคอปเตอร์และกล้อง พร้อมใช้ผ่านระบบเนวิเกเตอร์ แต่เมื่อปรับมาใช้ยูเอวีทำให้เห็นภาพและแนวท่อที่มีความชัดเจน จึงช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการ ล่าสุดมีหน่วยงานหลายแห่งทั้งภาครัฐ และเอกชนที่สนใจ ติดต่อใช้บริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ส่วนการใช้งานอากาศยานฯ ช่วยภารกิจด้านทางความมั่นคงโดยร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงในการนำอากาศยานฯ บินสำรวจพื้นที่เพื่อเก็บภาพและตรวจจับฝูงชนในระยะเวลา 2 วัน แล้วนำภาพมาเปรียบเทียบว่ามีอะไรเปลี่ยนไป เช่น มีการขุดถนนเพื่อวางระเบิด หรือ นำรถมาจอดเพื่อเป็นชนวนระเบิด เพราะยูเอวีสามารถเก็บรายละเอียดและข้อมูลทุกอย่างได้ครบถ้วน 100% แทนการใช้กล้องวงจรปิดซีซีทีวีที่อาจไม่ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย โดยที่ไม่ต้องใช้กำลังเจ้าหน้าที่ในการเสี่ยงกับสถานการณ์นั้นๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชนและกำลังเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ป้องกันการก่อวินาศภัยอีกทั้งสามารถใช้ได้อีกหลากหลายในเรื่องความปลอดภัย

ทั้งนี้ เมื่อปีที่ผ่านมาท๊อปฯ ก็ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับ บมจ.ไทยคมและกองทัพเรือในการพัฒนา “การควบคุม สั่งการ และสื่อสารอากาศยานไร้คนขับในเขตพื้นที่อ่าวไทย” เพื่อร่วมกันศึกษาวิจัย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และคิดค้นนวัตกรรม ในการนำเทคโนโลยียูเอวี ผนวกกับศักยภาพของดาวเทียม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขยายขอบเขตการปฏิบัติงานของยูเอวี โดยจะส่งมอบผลงานวิจัยให้แก่กองทัพเรือเพื่อใช้ประโยชน์ด้านความมั่นคงของประเทศในอนาคตต่อไป

“หุ่นยนต์ซึ่งรวมถึงอากาศยานฯ ยังทำประโยชน์ให้กับสังคมและประชาชนได้อีกมาก หากหน่วยงานต่างๆ จะให้การสนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวิทยาการหุ่นยนต์และอากาศยานฯ ในประเทศ จะทำให้เกิดความตื่นตัว ความสนใจในการประดิษฐ์นวัตกรรม เพื่อนำมาประยุกต์ใช้งานและเกิดการพัฒนาวิทยาการอย่างยั่งยืน” กรณรงค์ กล่าว