ภาคการผลิตยกระดับ รับเทคโนโลยี 5 จี

ภาคการผลิตยกระดับ รับเทคโนโลยี 5 จี

สภาดิจิทัลฯ จับมือ ส.อ.ท. – สภาหอการค้าฯ ตั้งคณะทำงานใช้เทคโนโลยีดิจิทัลยกระดับภาคการผลิตไทย เตรียมทำดิจิทัลแพลตฟอร์ม ดาต้าเซ็นเตอร์ ช่วยเอสเอ็มอี

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังการหารือกับ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ว่า ในปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลมีความจำเป็นมากสำหรับผู้ประกอบการในทุกภาคส่วน หาก เทคโนโลยี 5จี เข้ามาในประเทศไทยจะส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและลบอย่างมากกับภาคธุรกิจไทย

ทั้งนี้ คาดว่าเทคโนโลยี 5 จี จะเริ่มเข้ามาในไทยนำร่องในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในช่วงปลายปีหน้า จะทำให้เทคโนโลยี 5จี กระจายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้พัฒนาแพลตฟอร์มแอพพลิเคชั่นได้เตรียมพร้อมที่จะเข้าสู่เทคโนโลยี 5 จี หมดแล้ว จะทำให้มีคนเข้ามาร่วม 5 จี เป็นจำนวนมาก

ดังนั้นภาคเอกชนจึงต้องเตรียมความพร้อมด้านดิจิทัลให้เร็วที่สุด จึงมีความเห็นร่วมกันว่าจะร่วมกับสภาดิจิทัลฯ ตั้งคณะทำงานเพื่อเข้ามาช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การจัดทำแพลตฟอร์ม การทำดาต้าเซ็นเตอร์ และบิ๊กดาต้าของภาคเอกชน ซึ่งจะช่วยผลักดันทั้ง 2 ฝ่ายให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น

“เทคโนโลยีดิจิทัลและภาคอุตสาหกรรมจะต้องก้าวไปร่วมกันอย่างแน่นอน สอดคล้องกับภารกิจที่ทางสภาอุตสาหกรรมฯ กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ทั้งเรื่อง F.T.I. Academy ที่มุ่งเน้นในการยกระดับบุคลากรด้านไอที การนำหุ่นยนต์มาใช้ในภาคอุตสาหกรรม และการเพิ่มขีดความสามารถในอุตสาหกรรมอาหาร"

ทั้งนี้ ส.อ.ท.และสภาดิจิทัลฯ จะร่วมมือในการทำ ดาต้าเซ็นเตอร์ และดิจิทัลแพลตฟอร์ม ร่วมกันในอนาคตโดยมองว่า การจัดทำดิจิทัลแพลงฟอร์ม โดยเฉพาะการร่วมกันพัฒนามาร์เก็ตเพลสที่ ส.อ.ท. มีอยู่ จะช่วยผลักดันเอสเอ็มอีด้านการตลาดได้มาก ซึ่งจะมีการลงในรายละเอียดความร่วมมือกันต่อไป

โดยหลังจากนี้ สภาดิจิทัลฯ จะไปหารือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมมือกับองค์กรภาคเอกชนทั้ง 3 หน่วยงาน ได้แก่ ส.อ.ท. , สภาหอการค้าฯ และสภาดิจิทัลฯ จัดตั้งคณะทำงานร่วมกันต่อไป ซึ่งขณะนี้ ส.อ.ท. ได้ตั้งทีมงานเข้ามาดูแลในเรื่องนี้แล้วหากสภาดิจิทัลฯ ประสานงานกับสภาหอการค้าฯแล้วเสร็จ ก็พร้อมร่วมตั้งคณะทำงานได้ทันที

วางไทยฮับดิจิทัลโลก

นายศุภชัย กล่าวว่า สภาดิจิทัลฯ มีพันธกิจที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลในมิติต่าง ๆ เช่น การกำหนดมาตรฐานด้านดิจิทัล การสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน การพัฒนาศักยภาพด้านบุคลากร การเข้าถึงดิจิทัลของประชาชนทุกกลุ่ม และการสร้างระบบนิเวศที่ดึงดูดทั้งคนและการลงทุน

นอกจากนี้ ได้เป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้อย่างทัดเทียมกับนานาประเทศและพัฒนาไปสู่ Digital Region Hub ในระดับโลก โดยสภาดิจิทัลฯได้มียุทธศาสตร์ที่จะร่วมมือกับ ส.อ.ท. เพื่อสนับสนุนให้เกิดการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศไทย

รวมทั้งการช่วยเหลือในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมให้เกิดการดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ซึ่งทุกอุตสาหกรรมจะต้องมีมาตรฐานด้านดิจิทัล รวมทั้งภาครัฐจะต้องมีมาตรการสนับสนุนผลักดันร่วมกันโดยเฉพาะด้านเนชั่นแนลคราวเซ็นเตอร์ เพื่อต่อยอดบิ๊กดาต้า และด้านไอที เพื่อยกระดับองค์ความรู้ด้านดิจิทัลในระดับประเทศและระดับโลก

นายศุภชัย กล่าวว่า จะมีการการพัฒนาด้านการศึกษาผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีดิจิทัลและด้านข้อมูล ซึ่งจะช่วยยกระดับทักษะด้านการใช้ข้อมูลดิจิทัลให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งหลังจากนี้จะประสานงานกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยร่วมจัดทำคณะทำงานร่วมกัน เพื่อให้ภาคเอกชนเกิดความร่วมมืออย่างใกล้ชิดทั้งสภาหอการค้าฯ ส.อ.ท.และสภาดิจิทัลฯต่อไป คาดว่าจะตั้งคณะทำงานได้ภายในปีนี้

“ส.อ.ท.เป็นเรียลเซ็กเตอร์ด้านอุตสาหกรรม ขณะที่สภาดิจิทัลฯ จะเป็นผู้สร้างระบบนิเวศด้านดิจิทัลให้กับให้กับอุตสาหกรรม ที่ต้องมาขับเคลื่อนร่วมกัน เพื่อช่วยให้เกิดมาตรฐานแพลตฟอร์มกลาง เกิดระบบนิเวศดิจิทัลที่เอื้อกับเรียลเซ็กเตอร์อุตสาหกรรม ซึ่งจะต้องมีคณะทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดการสนับสนุนจัดทำเอสเอ็มอีแพลตฟอร์มที่เร็วขึ้น"