ความสมดุลของเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ประเทศแรก ๆ ที่จัดตั้งเขตอุตสาหกรรมส่งออก (Export Processing Zone หรือ EPZ) ได้แก่ ไต้หวัน (พ.ศ. 2512) สิงคโปร์ (พ.ศ. 2513) และเกาหลีใต้ (พ.ศ. 2513)

ความสำเร็จจากการจั้ดตั้ง EPZ นั้นเป็นที่ประจักษ์ว่า สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมที่เน้นแรงงานเข้มข้นและสร้างการส่งออกได้จริง ทำให้ประเทศต่าง ๆ นำไปเป็นโมเดลการพัฒนา โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เริ่มกำหนดนโยบายจัดตั้ง EPZ

อย่างไรก็ดี ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจอาเชียน พ.ศ. 2540 ส่งผลให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ กลับมาให้ความสำคัญกับการปรับปรุงผลิตภาพและพยายามยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศให้สูงขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาแรงงานราคาถูก ผลที่ตามมาก็คือ เกิดการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมการผลิตจากในเขตอุตสาหกรรม จากเขตที่มีหลากหลายกิจกรรม ไปสู่เขตที่มีความเฉพาะเจาะจงของกิจกรรมมากขึ้น จนกลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone หรือ SEZ) ที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่สูง และมีการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

ตัวอย่างเช่น ไต้หวันมีการก่อตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ (Science Park) ขึ้นมา 3 แห่ง อีกทั้งยังก่อตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม (Environmental Science and Technology Park) อีก 4 แห่ง ซึ่งการก่อตั้งอุทยานดังกล่าว ทำให้เกิดการกำหนดกิจกรรมเฉพาะให้แก่เขตเศรษฐกิจพิเศษของไต้หวัน 3 แห่ง โดยมุ่งเน้นการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร (Agricultural Biotechnology)

สำหรับแนวคิดการพัฒนาในเขตเมือง (Township Zone) นั้นก็ถูกกล่าวถึง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศด้อยพัฒนา ดังเช่น เกาหลีใต้มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจเสรี (Free Economic Zone) เพื่อส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลของการเจริญเติบโตในภูมิภาค ซึ่งเขตเศรษฐกิจเหล่านี้ไม่ได้อำนวยความสะดวกด้านการผลิตเพียงอย่างเดียว แต่ยังถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่บริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ และพื้นที่การศึกษาด้วย

ทั้งนี้ นโยบายของเขตเศรษฐกิจพิเศษในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่คล้ายกัน อย่างสิงคโปร์ ในช่วงแรกมีการก่อตั้งเขตเศรษฐกิจที่มีหลากหลายกิจกรรม และภายหลังมีการกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษให้มีกิจกรรมที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น กิจกรรมการกลั่นปิโตรเลียม จากนั้น นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษของสิงคโปร์ก็เปลี่ยนไปสู่การสร้างคลัสเตอร์ที่เน้นความรู้เป็นสำคัญ

ด้วยการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน โดยมุ่งเน้นที่กิจกรรมการวิจัยและพัฒนา และกิจกรรมอื่น ๆ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง

ส่วนฟิลิปปินส์ พัฒนามาจากเขตปลอดอากร (Customs-free Zone) ซึ่งสร้างข้อจำกัดให้กับการค้าจากต่างประเทศ และปรับเปลี่ยนมาสู่เขตอุตสาหกรรมส่งออก ซึ่งมีกิจกรรมการผลิตที่หลากหลาย จากนั้นจึงปรับเปลี่ยนเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ดำเนินการทั้งกิจกรรมการผลิตและการบริการ รวมถึงกิจกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในปัจจุบัน ทุกเขตเศรษฐกิจในฟิลิปินส์ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาสู่กิจกรรมเฉพาะ เช่น การผลิต เทคโนโลยีสารสนเทศ อุตสาหกรรมเกษตร การท่องเที่ยว หรือการบริการทางสาธารณสุข

สำหรับประเทศในกลุ่ม CLMV ในช่วงแรกก็เริ่มต้นจากอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อดึงดูดแรงงานเข้มข้นเหมือนกัน แต่ภายหลังก็มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น กัมพูชาก็เน้นอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์

จะเห็นได้ว่า พัฒนาการของนโยบายการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษของแต่ละประเทศนั้น ไม่ได้มีสูตรสำเร็จหรือโมเดลที่แน่นอนตายตัว แต่เกิดมาจากการปรับตัวให้เข้าสู่สมดุล ซึ่งประสบการณ์ของแต่ละพื้นที่ในแต่ละประเทศก็มาจากการลองผิดลองถูก กว่าจะหากิจกรรมที่เหมาะสมกับเขตเศรษฐกิจเหล่านั้น ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่แต่ละเขตเศรษฐกิจพิเศษจะต้องเลือกกิจกรรมสำคัญของพื้นที่