'เงินติดล้อ’สินเชื่อ9เดือนโตทะลุเป้า  ชูกลยุทธ์'ปลดหนี้เร็ว'สร้างความต่าง  

'เงินติดล้อ’สินเชื่อ9เดือนโตทะลุเป้า  ชูกลยุทธ์'ปลดหนี้เร็ว'สร้างความต่าง  

“เงินติดล้อ”ชี้เศรษฐกิจชะลอ ไม่กระทบแผนขยายสินเชื่อ เผย9เดือนปีนี้โตสูงกว่าเป้าหมาย สินเชื่อคงค้าง 4.65 หมื่นล้านบาท  เติบโต17% จากปีก่อน ด้วยกลยุทธ์นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง ลดต้นลดดอก  ช่วยลูกค้าปลดหนี้เร็ว

นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฏ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด ผู้ให้บริการสินเชื่อทะเบียนรถและนายหน้าประกันภัย เปิดเผยว่า ในช่วง9เดือนแของปีนี้ บริษัทยังมียอดสินเชื่อจำนำทะเบียนและเบี้ยประกันภัยขยายตัวที่ค่อนข้างสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 4.5 หมื่นล้านบาท เติบโต15% และสินเชื่อใหม่ยังเติบโตดี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ทั้งนี้ การเติบโตดังกล่าว เป็นผลมาจากกลยุทธ์สร้างมาตรฐานสูงกว่าคู่แข่งในตลาด ด้วยผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างจากตลาด คิดดอกเบี้ยลดต้นลดดอก  และเน้นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยปลดหนี้ได้เร็วให้แก่กลุ่มลูกค้ารายย่อย โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เช่น กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้อย่างเป็นธรรมและโปร่งใส

รวมถึง ยังเดินหน้าขยายสาขาทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริการลูกค้าอย่างทั่วถึง โดยปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าใหม่จำนวน 5 แสนราย จากฐานลูกค้ารวมทั้งสิ้น 1.2ล้านราย ส่วนจำนวนสาขาปัจจุบันมีจำนวน 966 สาขาทั่วประเทศ สิ้นปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 1,000 สาขา

นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถปรับตัวได้ทุกสถานการณ์ ทำให้ไม่กังวลว่าเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปีนี้จะกระทบแผนธุรกิจ ส่วนยอดขายรถยนต์ใหม่ที่อาจจะลดลง อาจกระทบการปล่อยกู้ใหม่ของบริษัทบ้าง ดังนั้นในปีนี้ บริษัทมั่นใจว่ายังสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยมีสินเชื่อคงค้างที่ 4.65 หมื่นล้านบาท เติบโต17% จากปีก่อนหน้า และมีสินเชื่อปล่อยใหม่ 3.5 หมื่นล้านบาท เติบโต6% จากปีก่อนหน้า  โดยยอดสินเชื่อของบริษัททั้งหมดคิดเป็น 2% ของสินเชื่อรวมของธนาคารกรุงศรีอยุธยา และบริษัทน่าจะส่งรายได้ในปีนี้ใกล้เคียงปีก่อนที่ 1,000 กว่าล้านบาท

ทางด้านหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในช่วง 9 เดือนปีนี้อยู่ที่ 1.2-1.3% ของสินเชื่อรวม  ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมสินเชื่อทะเบียนรถที่ 2.5-3% เชื่อว่าะสามารถดูแล NPLให้อยู่ในระดับ 1.3% ตามเป้าหมาย เนื่องจากบริษัทมีหลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อภายใต้มาตรการคุมภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR)สูงสุด  แต่จะพิจารณาเป็นรายบุคคล ขณะที่เกณฑ์ DSR มองว่าอาจจะมีช่องโหว่ ไม่สามารถคุมคนปล่อยกู้ได้ทั้งหมด จะคุมได้เฉพาะคนที่มีใบอนุญาตและคุมได้เฉพาะมนุษย์เงินเดือน ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าอาชีพอิสระ

เขากล่าวว่า ล่าสุด บริษัทเปิดตัวแคมเปญ”หนี้หรือความสุข” ประกอบด้วยหนังสือ”วิธีคิดทำให้ชีวิตชิบหาย(25วิธีคิดให้ชีวิตสบาย)" วางขายทั่วไป  และวีดีโอชุด "หนี้นรก” เผยแพร่บนสื่อออนไลน์ ตั้งแต่วันที่21ต.ค.เป็นต้นไป มุ่งกระตุ้นเตือนประชาชน กลุ่มมนุษย์เงินเดือนให้คิดให้ดีก่อนเป็นหนี้ โดยเฉพาะหนี้ที่ไม่จำเป็นจากการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคซึ่งมักถูกชี้นำโดยสื่อโซเชียลและแรงกดดันจากสังคม

“บริษัทเล็งเห็นว่า การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคที่ก่อให้เกิดภาระหนี้ ด้วยการนำเงินในอนาคตมาใช้ ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการออมนำ มาซึ่งปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว จึงขอเป็นหนึ่งเสียงแสดงความห่วงในประเด็นดังกล่าวผ่านแคมเปญชุดหนี้หรือความสุข สื่อให้ผู้คนใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็น จากการใช้จ่ายเกินตัว”