ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์"ราคาน้ำมัน" 14 - 18 ต.ค. 62 และสรุปสถานการณ์ฯ 7 - 11 ต.ค. 62

ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์"ราคาน้ำมัน" 14 - 18 ต.ค. 62 และสรุปสถานการณ์ฯ 7 - 11 ต.ค. 62

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จากความคืบหน้าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส ในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 52 - 57 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 58 - 63 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (14 – 18 .. 62)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากสัญญาณที่ดีของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังสองประเทศสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเบื้องต้นได้ในการเจรจาการค้าในสัปดาห์ที่ผ่านมา ประกอบกับสถานการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลางและประเทศผู้ผลิตต่างๆ อาจส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตและปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของประเทศเหล่านี้ได้ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบคาดได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบจากซาอุดิอาระเบียที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ไปแตะระดับเดิมที่กำลังการผลิต 9.9 ล้านบาร์เรลต่อวันก่อนเหตุการณ์โรงแปรรูปน้ำมันดิบถูกโจมตี นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดปรับตัวสูงขึ้นตามกำลังการผลิตที่สูงขึ้น ในขณะที่กำลังการกลั่นอาจปรับตัวลดลงต่อเนื่องในช่วงปิดซ่อมบำรุงประจำปี

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • ตลาดน้ำมันคาดยังคงได้รับแรงหนุนจากความคืบหน้าของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงยืดเยื้อ หลังสหรัฐฯ และจีนสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าบางส่วนในการเจรจา ซึ่งจัดขึ้นวันที่ 10-11 ต.ค. 62 ที่ผ่านมาได้ โดยจีนจะเพิ่มปริมาณการซื้อสินค้าทางการเกษตรของสหรัฐฯ ในขณะที่สหรัฐฯ จะเลื่อนกำหนดการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนจากกำหนดการเดิมที่ 15 ต.ค. 62 ออกไป โดยเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น จะส่งผลให้ความต้องกรใช้น้ำมันโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม
  • ปริมาณน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศผู้ผลิตต่างๆ ล่าสุด เหตุการณ์ประท้วงในเอกวาดอร์ที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้เอกวาดอร์ประกาศยกเลิกการส่งออกน้ำมันดิบแบบสุดวิสัย ส่งผลให้กำลังการผลิตน้ำมันดิบในประเทศปรับลดลงราว 0.24 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือเทียบเท่ากับร้อยละ 40 ของกำลังการผลิตเดิม โดยเหตุการณ์ประท้วงในครั้งนี้มีสาเหตุมาจากการที่รัฐบาลยกเลิกการลดราคาน้ำมันให้กับประชาชนเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนต่อเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ เหตุการณ์ประท้วงในอิรักที่บานปลาย อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิรัก ซึ่งปกติอยู่ที่ 4 ล้านบาร์เรลต่อวันได้
  • ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังคาดว่ากำลังการผลิตน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียจะกลับมาอยู่ที่ระดับ 9.9 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ต.ค. นี้ หลังกำลังการผลิตของประเทศในเดือน ก.ย. 62 อยู่ที่ระดับ 8.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากผลกระทบของการโจมตีโรงงานแปรรูปน้ำมันในซาอุดิอาระเบีย ซึ่งส่งผลให้ซาอุดิอาระเบียจำเป็นต้องลดกำลังการผลิตลงราว7 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดปรับเพิ่ม หลังโรงกลั่นในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดกำลังการกลั่นลงต่อเนื่องในช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่น ประกอบกับกำลังการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ คาดทรงตัวอยู่ในระดับสูง หลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบอีกราว 0.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 12.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคจีน, ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ, จีดีพี Q3/62 จีน, ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐฯ

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (7 – 11 .. 62)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่ม 1.89 ดอลลาร์สหรัฐฯ  มาอยู่ที่ 54.70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่ม 2.14 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 60.51 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 60.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากแรงหนุนของเหตุการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลางที่ปะทุขึ้นอีกครั้ง หลังเรือขนส่งน้ำมันสัญชาติอิหร่านถูกโจมตีบริเวณทะเลแดง ในขณะที่กองทัพตุรกีบุกโจมตีซีเรียเหนือ นอกจากนี้ นักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบได้แรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวความต้องการใช้น้ำมันโลก หลังสถาบันพลังงานสากล (IEA) ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันดิบในปี 2562 ลงเหลือเพียง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นราว 2.9 ล้านบาร์เรล ในขณะที่กำลังการผลิตน้ำมันดิของสหรัฐฯ ปรับเพิ่ม 0.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน แตะระดับ 12.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน