ปปง.ลุยชี้แจงโอนเงินข้ามชาติเกิน 5 หมื่น ไม่ใช่การตรวจสอบ

ปปง.ลุยชี้แจงโอนเงินข้ามชาติเกิน 5 หมื่น ไม่ใช่การตรวจสอบ

ปปง.โร่แจงสั่งสถาบันการเงินเก็บข้อมูลโอนข้ามประเทศเกิน 5 หมื่นบาท เป็นมาตรฐานการทำธุรกรรมการเงินสากล ยันไม่ใช่การตรวจสอบประชาชน

เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2562 พล.ต.ต.ปรีชา เจริญสหายานนท์ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ชี้แจงถกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ ร่างกฎกระทรวง การตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า พ.ศ. …. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า


“กรณีการโอนข้ามประเทศเกิน 50,000 บาทขึ้นไป จะต้องถูกปปง. ตรวจสอบ จนทำให้ประชาชนหรือผู้ทำธุรกรรมโดยทั่วไป เกิดความกังวลและมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน โดยเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายเป็นเน้นย้ำให้สถาบันการเงินผู้มีหน้าที่ให้บริการโอนเงินและรับโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ข้ามประเทศที่มีมูลค่าตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป ต้องมีข้อมูลของผู้โอนเงินและผู้รับโอนเงิน ซึ่งเป็นหน้าที่ของสถาบันการเงินที่มีความจำเป็นต้องมีข้อมูลที่จำเป็น เช่น ชื่อ นามสกุล หมายเลขบัญชีทั้งขอ ผู้โอนและผู้รับโอนเงิน เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ของสถาบันการเงินเองที่จะต้องโอนเงินให้ผู้รับปลายทางได้ถูกบุคคลตามคำสั่งของผู้โอนต้นทาง”


พล.ต.ต.ปรีชา กล่าวอีกว่า สำหรับประชาชนทั่วไปไม่ต้องกังวัลในการโอนเงินข้ามประเทศเกิน 50,000 บาท ไม่ได้ถูกสำนักงาน ปปง. ตรวจสอบแต่อย่างใด แต่เป็นการขอข้อมูลของผู้โอนและผู้รับโอนในการดำเนินการตามกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลที่ทุกประเทศต้องปฏิบัติอยู่แล้ว ซึ่งหากเราไม่ปฏิบัติตามเราก็ไม่สามารถทำธุรกรรมโอนเงินระหว่างประเทศได้ ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์กับประชาชนมากกว่า เพราะประชาชนจะสามารถมั่นใจได้ว่าธุรกรรมการโอนเงินของประชาชนแต่ละคนจะถึงมือผู้รับได้ถูกต้องและถูกคน ทำให้ผู้ประสงค์ร้ายที่ต้องการจะแอบอ้างมารับเงินแทนไม่สามารถทำได้อย่างแน่นอน