ร่างสัญญาบีบรัฐ จ่ายชดเชยไฮสปีด'ซีพี'

ร่างสัญญาบีบรัฐ จ่ายชดเชยไฮสปีด'ซีพี'

ร่างเอกสารแนบท้ายสัญญาไฮสปีด เปิดช่องส่งมอบพื้นที่ไม่ครบ 86% ใน 1 ปี 3 เดือน บีบรัฐจ่ายชดเชยให้กลุ่มซีพี ชง ครม.ตั้งบอร์ด รฟ.ท.ใหม่วันนี้

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้สรุปเอกสารแนบท้ายร่างสัญญาโครงการ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ที่จะมีการลงนามระหว่าง ร.ฟ.ท.และกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) โดยมีการกำหนดข้อความสำคัญที่เพิ่มในร่างสัญญา คือ คำว่า “จะแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเอกชน” หาก ร.ฟ.ท.ส่งมอบพื้นที่ได้ไม่ครบ 86% ภายใน 1 ปี 3 เดือน

ทั้งนี้ การกำหนดเวลาส่งมอบพื้นที่ส่วนสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา อยู่ในแผนการส่งมอบภายใน 1 ปี 3 เดือน หลังลงนามสัญญา แต่ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาในพื้นที่เวนคืนจะดำเนินการได้เร็วสุด 2 ปีหลังออก พ.ร.ฎ.เวนคืน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ออก พ.ร.ฎ.เวนคืน เลย ดังนั้นการกำหนดเวลาส่งมอบพื้นที่ส่วนนี้ต้องใช้เวลา 3-4 ปี หลังลงนามสัญญา

รวมทั้งมีการกำหนดในเอกสารแนบท้ายร่างสัญญาถึงการชดเชยผลกระทบให้แก่เอกชนในกรณีส่งมอบพื้นที่ไม่ได้ ซึ่งกรณีส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาไม่ได้ตามแผน ไม่ควรให้เริ่มแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเอกชนทันทีที่ส่งมอบไม่ได้ 1-2 ปี หลังลงนามสัญญา แต่ควรเป็นหลัง 3-4 ปีไปแล้ว ซึ่งเป็นกำหนดเวลาสมเหตุสมผลสำหรับส่งมอบพื้นที่ส่วนนี้

สำหรับพื้นที่ก่อสร้างโครงการที่ ร.ฟ.ท.ต้องส่งมอบมีทั้งหมด 4,421 ไร่ เป็นพื้นที่ต้องเวนคืน 850 ไร่ และพื้นที่ที่พร้อมส่งมอบ 3,571 ไร่ โดยจำนวนดังกล่าวเป็นพื้นที่พร้อมส่งมอบหลังลงนามสัญญา 3,151 ไร่ พื้นที่ถูกบุกรุก 210 ไร่ และพื้นที่ติดสัญญาเช่า 210 ไร่ จำนวน 83 สัญญา มีกำหนดส่งมอบแล้วเสร็จภายใน 2 ปี ในขณะ ร.ฟ.ท.เสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ว่าจะส่งมอบพื้นที่ 72% ภายใน 1 ปี หลังลงนาม

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) กล่าวว่า สร.รฟท.เตรียมขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อชี้แจงผลกระทบที่ ร.ฟ.ท.อาจเสียเปรียบกรณีการส่งมอบพื้นที่ไม่ครบ 86% ภายใน 1 ปี 3 เดือน รวมถึงการที่ภาครัฐต้องชดเชยผลกระทบให้เอกชนในกรณีที่ส่งมอบพื้นที่ไม่ทันกำหนด เพื่อให้มีการเปิดเผยรายละเอียดร่างสัญญาก่อนที่จะลงนามในวันที่ 25 ต.ค.นี้ เพราะการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวมีความเสี่ยงที่ภาครัฐอาจต้องจ่ายค่าโง่ให้กับเอกชน

นายสาวิทย์ กล่าวว่า ประเด็นการส่งมอบพื้นที่ให้ได้ 86% ภายใน 1 ปี 3 เดือน อาจทำได้ครบลำบากจากเหตุผล 3 ข้อ คือ 1.พื้นที่มักกะสันที่ต้องส่งมอบ 150 ไร่ จะมีพื้นที่ติดปัญหาต้องรื้อรางพวงประมาณ 50 ไร่ 2.พื้นที่การเวนคืนที่ดิน 850 ไร่ จะใช้เวลาประมาณ 2 ปี หลังจากออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน แต่ขณะนี้ยังไม่ออกกฎหมายเวนคืนที่ดิน 3.การรื้อย้ายสาธารณูปโภคอาจไม่ทันตามกำหนด เช่น ท่อน้ำมัน เพราะการรื้อต้องวางแผนให้ชัดเจนว่าจะย้ายไปที่ไหนด้วย