สธ. ใช้ หลัก 5 ร. สร้างวัดส่งเสริมสุขภาพ-พระสงฆ์รอบรู้สุขภาพ

สธ. ใช้ หลัก 5 ร. สร้างวัดส่งเสริมสุขภาพ-พระสงฆ์รอบรู้สุขภาพ

สธ. ใช้ หลัก 5 ร. สร้างวัดส่งเสริมสุขภาพ-พระสงฆ์รอบรู้สุขภาพ

นายธนิตพล ไชยนันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า พระสงฆ์เป็นผู้มีความสำคัญในการเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับชุมชนในเรื่องการดูแลสุขภาพตนเอง สิ่งแวดล้อมภายในวัดและขยายผลสู่การพัฒนาสุขภาวะของชุมชน โดยรัฐบาลเห็นความสำคัญของสุขภาพพระสงฆ์ ซึ่งสอดคล้องกับมติมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2560 มติที่ 191/2560 และมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ให้มีการขับเคลื่อนงาน “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ”โดยดำเนินการวัดส่งเสริมสุขภาพและขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พุทธศักราช 2560 เพื่อเป็นกรอบและแนวทางการส่งเสริมสุขภาวะพระสงฆ์และชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบัน มีวัดจำนวน 41,205 วัด และมีพระสงฆ์ จำนวน 290,015 รูป สามเณร จำนวน 58,418 รูป รวมเป็น 348,433 รูป ซึ่งมากกว่าร้อยละ 50 ของพระสงฆ์เป็นผู้สูงอายุและมีแนวโน้มเป็นผู้สูงอายุมากขึ้น พระสงฆ์จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ต้องได้รับการดูแลเสริมสร้างทักษะการดำรงชีวิต

“ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำโครงการพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ บูรณาการ การส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ร่วมกับศิลปวัฒนธรรมในความเป็นวัด โดยใช้หลัก 5 ร. คือ ร. สะอาดร่มรื่น ได้แก่ อาคารสถานที่ บริเวณและสภาพแวดล้อมภายในวัด และการป้องกันควบคุมโรค ร. สงบร่มเย็น ได้แก่ การเทศนา ปฏิบัติธรรม ทำบุญ จัดกิจกรรมและสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพ ร. สุขภาพร่วมสร้าง ได้แก่ กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพบุคลากรในวัด การบริโภคอาหาร การดูแลช่องปาก การออกกำลังกายและมีระบบการดูแลและส่งต่อเมื่อเจ็บป่วย ร. ศิลปะร่วมจิต (วิญญาณ) ได้แก่ ดำรงรักษาสืบสานศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีและภูมิปัญญาและกิจกรรมที่เอื้อต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และ ร. ชาวประชาร่วมพัฒนา ได้แก่ ประชาชนมีส่วนร่วมเข้าเป็นคณะกรรมการดำเนินงานในการพัฒนาสู่วัดส่งเสริมสุขภาพ ให้สามารถบริหารจัดการสุขภาพได้ด้วยตนเอง เพิ่มความรอบรู้ด้านสุขภาพ สร้างชุมชน ท้องถิ่นและองค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพ สู่วัดรอบรู้สุขภาพ (Health Literate Temple) เพื่อให้พระสงฆ์มีความรอบรู้ด้านสุขภาพและขับเคลื่อนการดำเนินงานธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พุทธศักราช 2560 ซึ่งขณะนี้มีวัดที่ผ่านเกณฑ์ประเมินวัดส่งเสริมสุขภาพจำนวน 4,191 วัด และพระคิลานุปัฏฐาก ที่ผ่านการอบรม (พระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด-อสว.) จำนวน 3,945 รูป” นายธนิตพล กล่าว

ทางด้าน นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้ดำเนินการในระดับพื้นที่ ดังนี้ 1) การจัดทำแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” ตามธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พุทธศักราช 2560 2) ขับเคลื่อนการดำเนินงานวัดส่งเสริมสุขภาพสู่วัดรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literate Temple) 3) จัดทำหลักสูตรและฝึกอบรมพระคิลานุปัฏฐาก (พระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด-อสว.) หลักสูตร 70 ชั่วโมงและหลักสูตร 35 ชั่วโมง และ 4) การดูแลตรวจคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์ตามโครงการ 1 วัด 1 โรงพยาบาล/รพ.สต. เพื่อให้พระสงฆ์ดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย พระสงฆ์ที่ป่วยได้รับการดูแลต่อเนื่องและส่งต่อไปรักษายังโรงพยาบาล ส่วนกลุ่มเสี่ยงได้รับความรู้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ดูแลด้านโภชนาการ การออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก ควบคุมความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือด เข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปาก อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ร่วมกับการดูแลอนามัยช่องปากอย่างเหมาะสม พร้อมให้ความรู้ประชาชนเรื่องการถวายอาหารพระสงฆ์ ลดหวาน มัน เค็ม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงตามมา