"โฟล" รุกตลาดเฟอร์นิเจอร์ ยึดพื้นที่โค-เวิร์กกิ้งสเปซ 

"โฟล" รุกตลาดเฟอร์นิเจอร์ ยึดพื้นที่โค-เวิร์กกิ้งสเปซ 

ธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย “เก้าอี้เหล็ก” อาจเป็นสินค้ายอดฮิตในอดีต เพราะมีความแข็งแรง ทว่าเวลาผันผ่าน ผลิตภัณฑ์เก้าอี้แบบใหม่ๆเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะ “เก้าอี้พลาสติก” ซึ่งราคา “ถูกกว่า” เบาและทนกว่า เข้ามาแทนที่ ธุรกิจจึงต้องปรับตัว

เฟอร์นิสท์ อินดัสทรีส์ เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ และมีเก้าอี้เหล็กเป็นจุดขาย เมื่อถูกเก้าอี้พลาสติกแย่งตลาดไป ทำให้บริษัทต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด พัฒนาเฟอร์นิเจอร์ใหม่ๆ เช่น เพิ่มทั้งงานหุ้มเบาะ ทำเตียง เพิ่มเฟอร์นิเจอร์ เก้าอี้งานไม้ขึ้นมาเจาะตลาด

ปัญหาเก้าอี้เหล็ก ลอกเลียนแบบง่าย ทำให้เกิดสงครามราคา แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวเราอยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้เพราะมีการปรับตัว” นรุตม์ ปิติทรงสวัสดิ์ ทายาทรุ่น 2 โรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์เฟอร์นิสท์ฯ และผู้ก่อตั้งเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ Flo ฉายภาพการพลิกธุรกิจครอบครัวให้อยู่รอด

จากรุ่นพ่อผู้ก่อตั้งโรงงานและผลิตเก้าอี้เหล็ก เฟอร์นิเจอร์ มาถึงรุ่น นรุตม์” ได้ต่อยอดธุรกิจครอบครัวให้กลับมามีลมหายใจและเติบโตอย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง ด้วยการปั้นแบรนด์ “โฟล” เข้าทำตลาด พร้อมชูจุดเด่นของเก้าอี้ไม้ ที่มีความเรียบง่าย ผสมความขี้เล่น ทำให้ระยะเวลาเพียงปีเศษ ก็สามารถแจ้งเกิดในตลาดได้อย่างดี

การทำตลาดของเฟอร์นิเจอร์โฟล ถือว่าเข้ามาเสริมพอร์ตโฟลิโอให้ธุรกิจครอบครัว โดยสินค้าใหม่ที่ออกมาจะไม่กินส่วนแบ่งการตลาดกันเอง(Cannibalization)กับสินค้ารุ่นพ่อเป็นผู้ปลุกปั้น

ตลาดเฟอร์นิเจอร์มีมูลค่าร่วม 3 หมื่นล้านบาท และเต็มไปด้วยแบรนด์เล็กไปถึงใหญ่จำนวนมาก ผ่านไป 5 ปี เฟอร์นิเจอร์โฟล สามารถแทรกตัวแจ้งเกิดและสามารถยึดหัวหาดในตลาดได้ โดยเฉพาะเซ็กเมนต์อาคารสำนักงานที่เป็นพื้นที่แบ่งปันทำงานหรือ Co-working space มีลูกค้าชั้นนำ เช่น Think space Hubba Wongnai ร้านอาหารและคาเฟ่ ตลอดจนที่พักอาศัย(Resdident)ต่างๆ เป็นต้น เนื่องจากเป็นเซ็กเมนต์ที่ยังมีช่องว่างตลาดที่ยังไม่มีคู่แข่งมากนัก

เฟอร์นิเจอร์ต่างๆที่โฟลทำ จะไม่กระทบตลาดเดิมของธุรกิจครอบครัว เพราะแบรนด์เราอยู่คนละตลาด โปรดักท์ที่ดีไซน์ พัฒนาออกมาสู่ตลาดจะช่วยเกื้อหนุนกัน ไม่เข้าไปแทนที่ อดีตเก้าอี้ที่รุ่นพ่อทำตลาดอาจหายไป  แต่วันนี้เราทำให้แบรนด์โฟลมีพื้นที่และกลับมายืนในตลาดเฟอร์นิเจอร์อีกครั้ง

นรุตม์ ยังเผยกลยุทธ์ที่ทำให้แบรนด์โฟลประสบความสำเร็จในตลาด เนื่องจากบริษัทให้ความสำคัญกับ “ความต้องการของผู้บริโภค” กลุ่มเป้าหมายอย่างมาก ตั้งแต่การดีไซน์ ออกแบบสินค้า จะมีการสำรวจตลาด เก็บข้อมูลเพื่อพัฒนาสินค้าให้โดนใจลูกค้า

การดูศักยภาพโรงงานในการผลิตสินค้าก็มีความสำคัญ เพราะเครื่องจักรเดิม รวมถึงคนทำงานมีผลต่อการยกระดับการผลิตสินค้าให้ “แตกต่าง” จากคู่แข่ง ซึ่งจากการที่ “นรุตม์” ลงไปคลุกคลีกับช่างในโรงงาน ทำให้พบว่าสามารถผลิตเก้าอี้ไม้ที่เพิ่มงานดัดเหล็กเข้าไปให้โดดเด่นกว่าเดิม และสิ่งที่มองข้ามไม่ได้คือการรู้เขารู้เรา จึงต้องเกาะติด “คู่แข่ง” ว่าเป็นอย่างไร เพื่อจะวางแผนธุรกิจและรับมือการแข่งขันในตลาดเฟอร์นิเจอร์

การทำธุรกิจแต่ละปีมีโจทย์หินมากมายที่ท้าทายผู้ประกอบการอย่างมาก โดยเฉพาะเอสเอ็มอี และปี 2562 แต่ “นรุตม์” มองว่ายังมีโอกาสสร้างการเติบโตได้เสมอ

ปีนี้เป็นปีที่ท้าทายมากสำหรับเอสเอ็มอี แต่ในภาวะเศรษฐกิจดีอาจมีผู้ประกอบการที่ขาดทุน กลับกันผู้ที่ทำกำไรได้ก็มี ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเรา หากมีความตั้งใจ ทำงานหนัก เชื่อว่าอนาคตที่สดใสยังรออยู่