ธปท.เคลียร์'4 ปัจจัย'กดดันบาทแข็ง' ...กาง 3 แผนแก้ปัญหา

ธปท.เคลียร์'4 ปัจจัย'กดดันบาทแข็ง' ...กาง 3 แผนแก้ปัญหา

ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จัดงานพบ “นักวิเคราะห์” เพื่อชี้แจงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและประเมินภาพอนาคต โดย “กรุงเทพธุรกิจ” ได้นำเสนอไปบ้างแล้ว

แต่มีหนึ่งประเด็นที่กำลังอยู่ในความสนใจของภาคธุรกิจ นั่นคือ สถานการณ์ “เงินบาท” ที่แข็งค่าต่อเนื่องยาวนาน ซึ่ง ธปท.ได้อธิบายถึง “4 สาเหตุ" สำคัญที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า.. "กรุงเทพธุรกิจ" ขอหยิบยกประเด็นนี้มาเล่าสู่กันฟังอีกครั้ง

“วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธปท. ระบุว่า เงินบาทที่แข็งค่าเป็นเรื่องที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ห่วงใย และ ธปท. ก็มีมาตรการออกมาดูแล ซึ่งการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย

1. สถานการณ์ต่างประเทศ 

“วิรไท” บอกว่า กรณีนี้ ธปท. ไม่สามารถควบคุมได้ และเป็นเรื่องที่มีผลอย่างมากต่อค่าเงิน โดยตลาดการเงินโลกมีความผันผวนและมีความเสี่ยงมากตั้งแต่ต้นปี สำหรับไทยที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน และจัดอยู่ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) เหมือนกัน เมื่อจีนได้รับผลกระทบ เราก็ได้รับผลกระทบด้วย เมื่อตลาดการเงินโลกมีภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk on) หรือปิดรับความเสี่ยง (Risk off) ก็จะกระทบประเทศตลาดเกิดใหม่ทั้งภูมิภาค 

หากมองด้านดีคือ ต่างประเทศมองว่าเรามีความเสี่ยงต่ำ ในช่วง Risk off เงินทุนก็จะไหลเข้ามาไทยเพราะเรามีความมั่นคงกว่าประเทศอื่นที่ปัจจัยพื้นฐานอ่อนแอกว่า

2. การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 

กรณีนี้ถือเป็นปัจจัยเฉพาะของไทย โดย “วิรไท” บอกว่า ถ้าดูช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้เราเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ แม้ว่าการส่งออกจะติดลบ แต่การนำเข้าของเราติดลบมากกว่า ทำให้เกินดุลการค้าและเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งก็มาจากการนำเข้าสินค้าทุนที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

3. การส่งออกทองคำของไทย 

วิรไท ระบุว่า ในสภาวะที่มีความไม่แน่นอนทางการเมืองระหว่างประเทศ มีสงครามการค้า มีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ราคาทองคำจะปรับสูงขึ้น ก็จะมีนักลงทุนไทยที่ซื้อทองคำไว้ในช่วงก่อนหน้า เร่งขายทองทำกำไรโดยส่งออกไปต่างประเทศ จึงมีรายได้เงินตราต่างประเทศไหลเข้ามา ในช่วงที่ผ่านมามีเงินทุนจากการขายทองคำไหลเข้ามาถึงประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์ 

4. การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) 

กรณีนี้ ธปท. เริ่มเห็นการไหลเข้าที่มากขึ้นในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีนักลงทุนต่างประเทศเข้ามา Takeover บริษัทไทยเพิ่มขึ้น มีการขายหุ้นระดมทุนของบริษัทใหญ่ และมักจะเป็นข้อตกลงมูลค่าสูงระดับหมื่นล้านบาท เงินทุนไหลเข้าที่เกิดขึ้นก็มีผลในการสร้างแรงกดดันต่อค่าเงิน

157093686163

วิรไท ย้ำว่า สถานการณ์ในปัจจุบันแตกต่างจากช่วงเดือน มิ.ย. - ก.ค. 2562 ซึ่งจะนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในหลักทรัพย์แบบ Portfolio Flow เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติต้องการปรับพอร์ตการลงทุนให้สอดคล้องกับดัชนีอ้างอิงการลงทุน ซึ่งปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนไทย รวมทั้งมีกลุ่มที่พยายามเก็งกำไร เข้ามาพักเงินเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ 

ดังนั้น ธปท. จึงเพิ่มความเข้มงวดในการติดตาม Portfolio Flow รวมทั้งปรับเกณฑ์บัญชีเงินคงค้างสกุลเงินบาทของผู้มีถิ่นอาศัยนอกประเทศ(Non-resident Baht Account) ให้เข้มงวดขึ้น โดยเริ่มทำในช่วงปลายเดือน ก.ค. และตั้งแต่นั้นมา Portfolio flow ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่กดดันค่าเงินบาท โดย Portfolio flow เป็นด้านไหลออกแล้ว ตั้งแต่ ส.ค. - ต.ค. รวมประมาณ 4.5 พันล้านดอลลาร์

157093692759

สำหรับมาตรการที่ ธปท. จะ "นำมาดูแล" เป็นการ "แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง" ลดแรงจูงใจในการเอาเงินเข้ามาพัก ในระยะสั้น ๆ และทำให้เงินทุนไหลเข้าสมดุลกับเงินทุนไหลออกมากขึ้น ได้แก่

1. Foreign Exchange Liberalization 

วิรไท บอกว่า กรณีนี้มีผู้เกี่ยวข้องหลายส่วนและกระบวนการด้านกฎหมายยัง อยู่ใน pipeline คาดว่าจะประกาศได้ภายใน 1-2 เดือน อาทิ

 ให้นักลงทุนไทยสามารถออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้มากขึ้น ทั้งนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบัน

 ผู้ส่งออกสามารถพักเงินในต่างประเทศได้มากขึ้น ไม่ต้องนำกลับเข้ามาในไทย

 มีผู้เล่นใหม่ ๆ เข้ามาเป็นผู้ให้บริการธุรกรรมมากขึ้น สร้างทางเลือกให้ผู้ส่งออกไทย ลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ

2. ดูแลการซื้อขายเงินตราต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับทองคำ 

วิรไท ระบุว่า การซื้อขายทองคำมีลักษณะเป็นการลงทุนเช่นเดียวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ (value added) แต่สร้างผลข้างเคียงด้านค่าเงิน ก็ต้องมาดูกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง 

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการธปท. ย้ำว่า ไม่ได้ห้ามการลงทุนซื้อขายทองคำแต่จะเป็นการทบทวนกฎเกณฑ์เพื่อให้รายได้จากการซื้อขายทองคำไม่มีแรงกระแทกกับค่าเงินมากเกินไป

3. ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด (current account:CA) ที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง 

อย่างไรก็ตามปัญหาการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดถือว่าลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2558 มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 11.5% ของ GDP ตอนนี้อยู่ที่ 6.3% ของ GDP จะเห็นว่าลดลงครึ่งหนึ่งในช่วงที่ผ่านมา และยังสามารถทำเพิ่มเติมได้โดยเร่งการลงทุนและการนำเข้า เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก 

การลงทุนเรื่องนี้จะส่งผลต่อเนื่องด้านบวก จูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น ภาคเอกชนก็ต้องลงทุนเยอะขึ้นด้าน digital infrastructure ของเครือข่าย 5G จังหวะนี้จะเป็นโอกาสที่อัตราแลกเปลี่ยนเอื้อประโยชน์ต่อการนำเข้า สร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาประเทศ ขณะที่หลายประเทศที่อยากจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นแต่ทำไม่ได้เพราะติดปัญหาค่าเงินอ่อนค่า 

อีกประเด็นหนึ่ง คือ การลดกฎเกณฑ์ของภาครัฐที่ไม่เอื้อต่อการลงทุน ซึ่งเป็นต้นทุนแฝง อาทิ การทำ Regulatory Guillotine การทำ Regulatory Impact Assessment การทำแพลทฟอร์มต่าง ๆ ให้เข้าถึงง่ายขึ้น ซึ่งช่วยลดต้นทุนแฝงของการลงทุนได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs เช่น การทำ one stop service การยกเลิกกฎเกณฑ์เดิมที่เคยใช้ในโลกยุคเก่าแต่ไม่สอดคล้องในโลกยุคใหม่ จะช่วยลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจของเอกชนลงได้มาก

ทั้งหมดนี้เป็นแผนงานที่ ธปท. เตรียมไว้เพื่อแก้ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท โดยสถานการณ์เงินบาทล่าสุด ปิดตลาดเมื่อวันศุกร์(11 ต.ค.) ที่ระดับ 30.38 บาท แข็งค่าขึ้นจากช่วงปลายปีที่ผ่านมาราว 7% เป็นระดับการแข็งค่ามากสุดในรอบ 6 ปี และยังถือเป็นการแข็งค่ามากสุดในภูมิภาคด้วย