Green Pulse l มงคลได้ ไร้เครื่องราง

Green Pulse l มงคลได้ ไร้เครื่องราง

หลังจากที่พบจากงานวิจัยว่า คนไทยในเขตเมืองราว 500,000 คน มีหรือใช้ผลิตภัณฑ์จากงาช้าง คณะผู้วิจัยของโครงการ USAID Wildlife Asia ยังพบอีกว่า คนไทยอีกกว่า 250,000 คน ครอบครองหรือใช้ชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่ง

เหตุผลหลักๆ ที่พบในการใช้ชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่ง คือ จะช่วย“ป้องกันอันตราย” หรือ “เพราะมีพลังปกป้องคุ้มครอง” หรือ “มีความศักดิ์สิทธิ์”

 

ทางคณะผู้วิจัยพบอีกว่า คนไทยยังมีความต้องการแสวงหาครอบครองชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่ง ซึ่งถือว่าเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของประเทศ โดยผู้คนราว 1.8 ล้านคนยังเห็นว่า การซื้อขายชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่งยังเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ และในจำนวน 750,000 คนที่แสดงความตั้งใจที่จะซื้อผลิตภัณฑ์จากงาช้างมาใช้ มีจำนวนไม่น้อยที่ต้องการซื้อหรือครอบครองชิ้นส่วนของเสือโคร่งในอนาคตด้วย

 

การค้นพบข้อมูลดังกล่าว นำมาซึ่งความพยายามรณรงค์ลดการบริโภคชิ้นส่วนจากเสือโคร่งด้วยแรงจูงใจที่ผูกพันอยู่กับความเชื่อความศรัทธา อันเป็นลักษณะเฉพาะของคนไทยที่นักรณรงค์ต่อต้านการค้าสัตว์ป่ามองว่าเป็นความท้าทายอย่างมาก

 

โครงการ USAID Wildlife Asia ภายใต้ USAID จึงได้ร่วมกับ WildAid ประยุกต์ใช้นวตกรรมการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าที่มุ่งจัดการความต้องการการบริโภคที่เรียกว่า การสื่อสารเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเชิงสังคม (Social Behavioral Change Communication)อีกครั้ง เพื่อพยายามจูงใจผู้บริโภคสัตว์ป่าลดละเลิกการบริโภคของตนเพื่อช่วยเซฟชีวิตสัตว์ป่าด้วยอีกทาง (อ่านกลยุทธ์ SBCC ที่ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์: Green Pulse l ‘สวยที่ใจ ไม่ใช่ที่งา’ กลยุทธ์ใหม่สู้การบริโภคสินค้าสัตว์ป่า/ 11ตุลาคม 2562)

 

“(นอกจากเหตุผลทางด้านความสวยงามที่เป็นเหตุผลหลักของการบริโภคผลิตภัณฑ์งาช้าง) เราพบว่า ยังมีเหตุผลทางด้านความเชื่อความศรัทธาที่เป็นอีกหนึ่งเหตุผลใหญ่ที่me.shคนไทยยังนิยมการบริโภคสินค้าเหล่านี้ โดยเฉพาะจากเสือโคร่ง ที่น่าสนใจคือพวกเขาคิดว่าการครอบครองวัตถุชิ้นเล็กๆเหล่านี้ไม่ได้มีผลอะไรกีบชีวิตสัตว์ป่า ดังนั้น เราจึงต้องการเชื่อมโยงและทำให้เห็นว่ามันส่งผลขนาดไหน” เอเลนอร์ เด กุซแมน หัวหน้าทีมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและสื่อสารสังคมของโครงการกล่าว

 

แคมเปญรณรงค์“ชีวิตดีต้องไร้ฆ่า”จึงถูกจัดทำขึ้นจากผลการวิเคราะห์วิจัยดังกล่าว โดยมีการดำเนินเรื่องด้วยผู้มีชื่อเสียงในสังคม 3 ท่าน คือ นักแสดงและนักสังคมสงเคราะห์ชื่อดัง บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์, ท็อป ดารณีนุช ปสุตนาวิน พิธีกรและนักแสดง และพระนักคิด-นักเขียนชื่อดัง ท่าน ว.วชิรเมธี ผู้อำนวยการศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน จ.เชียงราย

 

เอเลนอร์กล่าวว่า แคมเปญ “ชีวีตดีต้องไร้ฆ่า” มีการออกแบบเนื้อหาที่ต่างไปจากเดิม กล่าวคือ ในขณะที่ "สวยที่ใจ ไม่ใช่ที่งา" ใช้ทัศนะเชิงบวกเพื่อจัดการกับความต้องการด้านความสวยงาม 

 

“ชีวีตดีต้องไร้ฆ่า” เลือกใช้ทัศนะที่เข้มขรึมจริงจังในการตั้งคำถามกับความเชื่อความศรัทธาของผู้คนที่ฝังรากลึกและถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นในสังคม ด้วยความหวังว่า มันจะช่วยสั่นคลอนความเชื่อของผู้บริโภคได้บ้าง

 

“สิ่งที่เกิดจากการเข่นฆ่า มั่นใจหรือว่าจะเป็นมงคล พระพุทธเจ้าบอกว่า จงเชื่อมั่นในการกระทำของตัวเอง ทำดีตอนไหน ตอนนั้นเป็นสิริมงคล เราทำดีวันไหน วันนั้นก็เป็นวันที่ดี ตามหลักชาวพุทธ มงคลในชีวิตขึ้นอยู่กับมันสมองและสองมือของเราเอง

 

“พุทธคุณไม่มีทางที่จะไปอยู่ในเครื่องรางของขลังที่มาจากสิงห์สาราสัตว์ได้เลย เพราะพระพุทธคุณหมายถึงปัญญา ความบริสุทธิ์ และความเมตตาอาทร” ท่าน ว.วชิรเมธีกล่าว ในการแถลงข่าวเปิดตัวแคมเปญเมื่อต้นอาทิตย์ที่ผ่านมา

 

“ความเชื่อที่มีมานานในสังคมไทย อาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ของสัตว์ป่าในปัจจุบัน เราเชื่อว่า ด้วยความร่วมมือจากผู้มีอิทธิพลทางความคิดในสังคม “ชีวิตดีต้องไร้ฆ่า” จะเป็นวิถีใหม่ ที่การใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า อย่างซากเสือโคร่ง และงาช้าง จะไม่เป็นที่ยอมรับดังเช่นที่ผ่านมา ความสูญเสียที่เกิดจากการลักลอบล่าและค้าสัตว์ป่าเป็นสิ่งที่เราทุกคนช่วยหยุดยั้งได้" นายจอห์น เบเกอร์ ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์ องค์กรไวล์ดเอด กล่าว

 

สำหรับเอเลนอร์และคณะผู้จัดทำ เธอได้แต่หวังว่าข้อความที่เธอต้องการสื่อสาร จะช่วยสร้างบรรทัดฐานทางสังคมที่ปฏิเสธการใช้เครื่องรางของขลังจากเสือหรือช้าง และช่วยลดความต้องการและลดการยอมรับการนำผลิตภัณฑ์เหล่านี้อีกครั้ง

 

"ไม่มีความต้องการ ก็ไม่มีของมาขาย เมื่อร่วมกับกลยุทธ์อื่นๆ เราก็หวังว่าการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายก็จะลดลง” เอเลนอร์กล่าว

https://www.youtube.com/watch?v=pczeOuYyvqs