ยูเอ็นเอชซีอาร์เตือนนโยบายชาตินิยมขวางการแก้ปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติ

ยูเอ็นเอชซีอาร์เตือนนโยบายชาตินิยมขวางการแก้ปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติ

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) เตือนนโยบายชาตินิยมของรัฐบาลประเทศต่างๆเป็นอุปสรรคขัดขวางการแก้ปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติ

นายฟิลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ เตือนถึงอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการลิดรอนสิทธิมนุษยชนของผู้คนหลายล้านคนทั่วโลกว่า ความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวกำลังตกอยู่ในอันตราย เนื่องจากนโยบายชาตินิยมที่มุ่งสร้างความแตกแยก

นายกรันดี ได้กล่าวก่อนการประชุมคณะกรรมการบริหารประจำปีของยูเอ็นเอชซีอาร์ ที่จัดขึ้น ที่กรุงเจนีวา ว่า การที่มีจำนวนประเทศที่ให้ความร่วมมือแก้ไขภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติเพิ่มขึ้นนั้น หมายความว่าประชาคมนานาชาติได้เข้าใกล้จุดเปลี่ยนในการยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติให้หมดไปอย่างสิ้นเชิงมากขึ้นทุกที

“ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ความตระหนักรู้ของสังคมต่อประเด็นภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติและผลกระทบที่สืบเนื่องจากปัญหานี้อาจไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร แต่สิ่งนี้กำลังเปลี่ยนแปลง โดยในปัจจุบันความหวังที่จะยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติให้หมดไปอย่างสิ้นเชิงนั้น เข้าใกล้ความเป็นจริงมากยิ่งขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน” นายกรันดี กล่าว

“อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นก็ยังไม่น่าไว้วางใจ ทั้งนี้ เนื่องจากนโยบายชาตินิยมที่มุ่งสร้างความเสียหาย และการบิดเบือนที่มุ่งสร้างความรู้สึกต่อต้านผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ ทั้งสองสิ่งนี้มีพลังอย่างมากในระดับนานาชาติซึ่งอาจหยุดยั้งความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหา ผู้คนนับล้านทั่วโลกที่ไม่มีสัญชาติหรือตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะไร้รัฐไร้สัญชาติต่างต้องการทางออกอย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นชาวโรฮิงญาจากเมียนมา และประชากรชนกลุ่มน้อยที่เสี่ยงต่อภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติในรัฐอัสสัมของอินเดีย หากปราศจากทางออก เราต่างมีความเสี่ยงที่จะถูกกีดกัน ซึ่งปัญหานี้ได้ส่งผลกระทบแล้วต่อชีวิตของผู้คนนับล้าน และนี่คือเหตุผลว่า ทำไมความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาต้องมีเพิ่มขึ้นอีกเป็นทบเท่าทวีคูณ”

ยูเอ็นเอชซีอาร์ ได้ริเริ่มโครงการระดับโลก #IBELONG ใน2557 เพื่อยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติให้ได้ภายใน2567 นับแต่นั้น มี 15 ประเทศ ที่ได้ร่วมเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาหลัก 2 อนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งประกอบด้วย อนุสัญญาว่าด้วยสถานะของบุคคลไร้รัฐ ปี2497 และ อนุสัญญาว่าด้วยการลดภาวะไร้รัฐปี 2504 โดยคาดว่าระหว่างการประชุมในสัปดาห์นี้ จำนวนประเทศที่จะร่วมเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของบุคคลไร้รัฐปี 2497 อาจจะเพิ่มขึ้นถึง 100 ประเทศได้ในไม่ช้า

ในช่วง 5 ปีแรกของโครงการ บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติจำนวนกว่า 220,000 ราย ได้รับสัญชาติแล้ว อันเป็นผลมาจากความร่วมมือและความมุ่งมั่นของประเทศและการสนับสนุนจากโครงการ #IBELONG