อาเซียนในความทรงจำ ‘ชุติมา เสวิกุล’

อาเซียนในความทรงจำ ‘ชุติมา เสวิกุล’

ทั้งชุติมาและประภัสสร คืออดีตข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ได้สัมผัสประวัติศาสตร์ของประเทศสมาชิกอาเซียนโดยตรงหลายครั้ง

นับตั้งแต่สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 52 ปีก่อน สมาชิกทั้ง 10 ประเทศได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก มีการบันทึกเรื่องราวไว้มากมาย รวมทั้งในรูปของนวนิยายอย่างหนังสือชุด “วรรณกรรมเพื่ออาเซียน” ผลงานของ “ประภัสสร เสวิกุล” ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ รวมทั้งบันทึกไว้ในความทรงจำของ “ชุติมา เสวิกุล” คู่ชีวิตของประภัสสร ทั้งยังเป็นนักเขียนเจ้าของนามปากกา “นิลุบล นวเรศ” เคยเขียนคอลัมน์ “ลิปสติกและผ้ากันเปื้อน” ในนิตยสารขวัญเรือน เนื้อหาเกี่ยวกับผู้หญิงในอาเซียน ปัจจุบันเธอคือประธานชมรมวรรณศิลป์ประภัสสร เสวิกุล

ทั้งชุติมาและประภัสสร คืออดีตข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ได้สัมผัสประวัติศาสตร์ของประเทศสมาชิกอาเซียนโดยตรงหลายครั้ง เริ่มต้นจากคุณแม่ของชุติมาไปรับตำแหน่งที่ปีนัง มาเลเซีย เธอเพิ่งจบจากโรงเรียนชิโนรสวิทยาลัย ไปเรียนต่อด้านคอมเมิร์ซที่นั่น และเริ่มลงมือเขียนหนังสือภายใต้เงื่อนไขที่คุณพ่อกำหนดไว้ว่า “ห้ามเขียนเรื่องรัก”

ระหว่างอยู่ที่ปีนังชุติมาได้เห็นเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างชาวจีนกับชาวมาเลย์บานปลายกลายเป็นจลาจล จึงหยิบข้อมูลที่เห็นกับตาตนเองมาเขียนเป็นสารคดีตรงกับที่คุณพ่อต้องการ

หรือตอนที่คุณแม่รับตำแหน่งที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ชุติมาแวะไปเยี่ยม พบว่า ผู้หญิงที่นั่นนิยม “จามู” เธอต้องใช้เวลาค้นหาจนทราบว่า จามูคือ ศาสตร์การรักษาด้วยแพทย์แผนโบราณมีการใช้สมุนไพรในหลากหลายรูปแบบทั้งจำนวนของชนิดสมุนไพรและวิธีการเตรียม เนื้อหาเหล่านี้ชุติมาหยิบมานำเสนอในคอลัมน์ลิปสติกและผ้ากันเปื้อน

เดือน ก.พ.2518 ชุติมาและประภัสสรย้ายไปเวียงจันทน์ เธอจำได้ว่า พอถึงวันที่ 2 ธ.ค.ปีเดียวกัน ทั้งคู่ขับรถไปตลาดเช้า ได้ยินประกาศ “เจ้ามหาชีวิตสละราชสมบัติ” ก็รีบขับรถกลับสถานทูต ได้เห็นคนเฒ่าคนแก่ร้องไห้กันมาก

“เหล่านี้คือเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ที่เกิดขึ้นจริงและเกิดขึ้นแล้ว ไม่สามารถลบเลือนได้ ต้องยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น และเราก็เป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน”

จากลาวย้ายไปอยู่กรุงบอนน์ เยอรมนีตะวันตก เคยเกิดเหตุคนเวียดนามใต้มารวมตัวกันที่หน้าสถานทูตไทยคล้ายๆ กับไม่ต้องการให้ไทยรับรองรัฐบาลเวียดนาม ชุติมาเลยได้จังหวะเขียนข้อมูลลงคอลัมน์เที่ยวไปในต่างแดน ลงในนิตยสารขวัญเรือน

นอกจากนี้สมัยที่ประภัสสรยังมีชีวิตอยู่ เธอและเขาได้ร่วมกันจัดรายการวิทยุ “มุมความสุข” ช่วง “โลกและชีวิตกับประภัสสร เสวิกุล” ออกอากาศทางสถานีวิทยุศึกษา เอฟเอ็ม 92 ทุกวันเสาร์ เวลา 20.00-20.30 น. นำเสนอเรื่องราวของประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ผู้ฟังได้รู้จัก หาข้อมูลจากสถานทูตและที่อื่นมาเล่าสู่ผู้ฟัง รวมถึงเรื่องราวข่าวสารน่าสนใจของอาเซียน

ส่วนผลงานที่ทำขึ้นเพื่อองค์กรนี้โดยเฉพาะคือ “วรรณกรรมเพื่ออาเซียน” ที่จัดทำขึ้นในวาระครบรอบ 40 ปีอาเซียน

"คุณหญิงลักษณาจันทร เลาหพันธุ์ ในฐานะนายกสมาคมอาเซียน-ประเทศไทย แนะนำให้เขียนเรื่องเกี่ยวกับอาเซียนโดยทำเป็นนิยาย เพราะถ้าทำเป็นวิชาการคนได้หนังสือไปก็ไม่อ่าน คุณประภัสสรก็รับปาก และทางอาเซียนให้เราไปดูทุกประเทศ จริงๆ เราก็เคยผ่าน แต่พอจะเขียนจริงๆ ก็ต้องไปเก็บข้อมูล ได้ข้อมูลมาพี่ประภัสสรก็เอาไปเขียนนิยายและเขียนคอลัมน์ในคมชัดลึก พี่ก็เอามาเขียนสารคดี ตอนหลังขยายเนื้อหาไปนอกอาเซียน โดยเอาภาพเป็นตัวเดินเรื่อง ล่าสุดเขียนเรื่องคาซัคสถาน"

ชุติมาเล่าว่า ตอนนั้นคุณหญิงลักษณาจันทร มองว่า คนไทยเรายังไม่รู้จักประเทศเพื่อนบ้านเท่าใดนัก ยิ่งถ้าเป็นงานวิชาการคนก็ไม่ค่อยให้ความสนใจ ถ้าเอามาทำเป็นนิยายที่ประภัสสรมีแฟนอยู่มากก็น่าจะดีกว่า เลยเป็นที่มาของโครงการวรรณกรรมเพื่ออาเซียน เล่มแรกคือ “จะฝันถึงเธอทุกคืนที่มีแสงดาว” สะท้อนถึงมิตรภาพและความสัมพันธ์ในวัยเยาว์ระหว่างเพื่อนชาวไทยและอินโดนีเซียที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา

"หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสด็จจากประเทศไทยไปประทับที่บันดุงจนสิ้นพระชนม์ พี่ประภัสสรก็อยากจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับอินโดนีเซีย โดยนำจุดนี้มาเริ่มต้นเรื่อง แทรกเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่นบุกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีชาวอินโดนีเซียถูกว่าจ้างมาสร้างทางรถไฟสายมรณะ ซึ่งเรื่องแบบนี้ถ้าไม่เขียนไว้ก็ไม่มีใครรู้"

ส่วนเรื่องสุดท้ายที่ประภัสสรเขียนเนื้อหาเกี่ยวกับลาว เรื่อง“หยาดน้ำฝนแห่งล้านช้าง หยาดน้ำค้างแห่งล้านนา” เขียนถึงบทท้ายๆ เจ้าตัวก็จากไปเสียก่อน ทิ้งให้คู่ชีวิตเตรียมเขียนต่อเพราะทราบโครงเรื่องหมดแล้ว

"เรื่องนี้จับตำนานเรื่องพระไชยเชษฐา ที่ครองทั้งล้านนา ล้านช้าง ลาว เป็นกษัตริย์องค์เดียวที่่บุเรงนองไม่อาจเอาชนะได้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี​ทรงแนะนำว่า เป็นเรื่องยุคโบราณ ควรมีเรื่องสมัยใหม่บ้าง แต่ท่านก็ไม่ได้ทรงตำหนิ แม้แต่เรื่องกริชมะละกา ท่านก็รับสั่งว่า เรื่องนี้มีผี” คู่ชีวิตนักเขียนเล่าถึงเบื้องหลังการทำงาน และปลาบปลื้มใจที่พระบรมวงศานุวงศ์ทรงติดตามผลงาน

จากวันนั้นถึงวันนี้ชุติมากล่าวว่า ได้เห็นความร่วมมือของอาเซียนที่เพิ่มมากขึ้น และความก้าวหน้าที่เห็นชัดเจนของประเทศต่างๆ ที่เห็นชัดมากคืออินโดนีเซีย เพราะเคยไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นประมาณปี 2526 ได้ไปอีกครั้ง หรือเกือบ 30 ปีให้หลังที่จาการ์ตาพัฒนาไปมาก ต่างจังหวัดก็พลอยเจริญไปด้วย

และถ้าให้ประเมินผลหนังสือชุด “วรรณกรรมเพื่ออาเซียน” ของประภัสสร ต่อการรับรู้เรื่องอาเซียนของคนไทย ชุติมามองว่า ดีขึ้น

“ดีขึ้นนะ คนอ่านไปสานต่อ เช่น จะฝันถึงเธอทุกคืนที่มีแสงดาว เกี่ยวกับอินโดนีเซีย เท่าที่ทราบเด็กนักเรียนที่อ่านจะไปค้นต่อ ได้รับความรู้มากขึ้น ในเรื่องมีการพูดถึงคนอินโดนีเซียมารับจ้างทำทางรถไฟสายมรณะด้วย เรื่องนี้แทบไม่มีคนรู้ แต่พอนักเรียนไปค้นคว้าเพิ่มก็ได้รู้ข้อมูล”

ส่วนพัฒนาการของอาเซียน ชุติมายกย่องความคิดของผู้ให้กำเนิด

“การรวมตัวของอาเซียนเพื่อขยายตลาด แข่งขันกับคนอื่นได้ถือว่ามองถูก ดร.ถนัด คอมันตร์ ที่เริ่มต้นไว้มองถูกว่าหลายเสียงดีกว่าเสียงเดียว แล้วความร่วมมือด้านอื่นๆ ก็ตามมา”

นี่คือปากคำของพยานบุคคลที่ได้เห็นอาเซียนมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนล่วงเลยมากว่าครึ่งศตวรรษ และจะเดินหน้าในฐานะองค์การระหว่างประเทศระดับภูมิภาค รอวันให้คนรุ่นหลังบันทึกประวัติศาสตร์อาเซียนหน้าต่อไป