สภาพอากาศเปลี่ยนหนุนเอเชียแข่งสร้างความมั่นคงด้านอาหาร

สภาพอากาศเปลี่ยนหนุนเอเชียแข่งสร้างความมั่นคงด้านอาหาร

สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงหนุนเอเชียแข่งสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และใช้เทคโนโลยี รวมทั้งนวัตกรรมรับมือความรุนแรงของสภาพอากาศ

การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ ทำให้ประเทศต่างๆในเอเชียแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ไล่ตั้งแต่ญี่ปุ่นไปจนถึงกลุ่มชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)ที่พยายามใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยด้วยความหวังว่าจะบรรเทาปัญหาความหิวโหยในภูมิภาคนี้ลงได้บ้าง

สำหรับ ทาเกชิ อิชิซากะ เกษตรกรปลูกข้าววัย 69 ปีจากอำเภอโตยามะ ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงโตเกียว ปราบปลื้มกับผลผลิตข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ในช่วงกลางเดือนกันยายน เพราะไม่ได้ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียวแต่ยังให้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีกว่าการปลูกข้าวช่วงที่ผ่านมาด้วย

“ข้าวที่ผมปลูกเป็นข้าวที่มีคุณภาพดีกว่าการปลูกครั้งก่อนๆและเป็นข้าวอันดับ1 ทั้งหมด ทั้งในเรื่องของสี เมล็ดข้าวและขนาดของเมล็ดข้าว”อิชิซากะ กล่าว

ข้าวที่ให้ผลผลิตดีของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวรายนี้ เป็นผลมาจากความพยายามตลอด 15 ปีของอำเภอโตยามะที่พยายามพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ๆ สามารถทนทานสภาพอากาศร้อนและสภาพอากาศอื่นๆที่รุนแรงได้ ซึ่งไล่ตั้งแต่ญี่ปุ่นไปจนถึงสิงคโปร์ ไทย ฟิลิปปินส์ และประเทศอื่นๆ รัฐบาลของประเทศเหล่านี้ กำลังขวัญผวากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตด้านอาหารและท้ายที่สุดจะเป็นภัยคุกคามความมั่นคงด้านอาหารของภูมิภาค ซึ่งเ้รื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ จนทำให้การหาแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพกลายเป็นการแข่งขันที่ดุเดือด และการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ หรือใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยอาจเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่ช่วยให้ภูมิภาคเอเชียสามารถเลี้ยงตัวเองได้

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2545 อำเภอโตยามะ เจอภัยคุกคามพืชผลการเกษตรอย่างหนักนั่นคือ สภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้ผลผลิตเพียงครึ่งเดียวของการปลูกครั้งนั้นที่ถูกจัดให้เป็นผลผลิตข้าวอันดับ1

“เราจำเป็นต้องออกมาตรการต่างๆ ด้วยเหตุนี้ในปีต่อมา เราจึงเริ่มพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ๆที่สามารถทนทานสภาพอากาศรุนแรงได้ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศร้อนระอุ หรือสภาพอากาศชื้นแฉะเพราะฝนตก”โยอิชิโร โคจิมา จากสถาบันวิจัยการเกษตรของอำเภอโตยามะ กล่าว

นี่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดกับเกษตรกรญี่ปุ่นเท่านั้น โดยเมื่อไม่นานมานี้ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) ออกรายงานเตือนว่า ราคาธัญพืชและพืชอาหารสำหรับมนุษย์อาจจะมีราคาเพิ่มขึ้น 23% ภายในปี 2593 เพราะผลพวงของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหากเป็นจริงย่อมส่งผลกระทบต่อผู้มีฐานะยากจนและเพิ่มความเสี่ยงแก่พื้นที่ต่างๆในภูมิภาคเอเชียที่มีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

เมื่อเดือนกันยายน องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ระบุว่า อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 1.1 องศาเซลเซียว เมื่อเทียบกับก่อนยุคอุตสาหกรรม และเพิิ่มขึ้นประมาณ 0.2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงปี 2554 และ2558 แต่กลุ่มนักคิดด้านสภาพอากาศในออสเตรเลีย ออกรายงานเตือนว่าอุณหภูมิโลกจะร้อนขึ้น 1.6 องศาเซลเซียส ภายในปี 2573

สำหรับประเทศไทย ปีนี้เจอภัยแล้งเป็นเวลานานติดต่อกันในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ถือเป็นแหล่งปลูกข้าวของไทย ก่อนจะตามมาด้วยฝนตกหนักจนทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ โดยเกษตรกรคนหนึ่งในจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เขาไม่สามารถปลูกข้าวได้เลย ซึ่งคาดว่าน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ สร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศเป็นมูลค่า 25,000 ล้านบาท และทำให้ผลผลิตข้าวลดลง 1 แสนตัน เท่ากับ8% ของปริมาณข้าวที่ไทยส่งออกไปขายทั่วโลก

ขณะที่มาตรการตั้งรับปัญหาที่เกิดขึ้นของรัฐบาลไทย เป็นมูลค่าที่สูงมาก โดยคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติเสนอแผนใช้งบ 13,000 ล้านบาทในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อรับมือกับภัยแล้งและปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เกษตร

ส่วนในอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก รองจากไทย ก็ประสบปัญหาจากภัยแล้งในปีนี้ด้วยเช่นกัน ส่วนออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกธัญพืชอันดับ1ของโลก กลับต้องนำเข้าข้าวสาลีเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปีเนื่องจากมีปัญหาขาดแคลนน้ำ แต่ถึงแม้ว่าข้อตกลงปารีสจะได้รับการตอบรับและปฏิบัติจากเหล่าชาติสมาชิกที่ลงนามรับรอง หรือให้สัตยาบัน แต่โลกก็มีแนวโน้มที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทายเรื่องความมั่นคงด้านอาหารอยู่ดี

นอกจากนี้ หลายประเทศพยายามใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีเพื่อรับมือกับปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยน เช่นบริษัทเทคโนโลยีด้านการเกษตรของญี่ปุ่นที่ชื่อเมบิออล ผลิตฟิล์มไฮโรเจล ที่ช่วยให้ข้าวเจริญเติบโตได้ดี โดยแผ่นฟิล์มจะช่วยให้รากพืชยึดเกาะแทนดิน สามารถให้น้ำและปุ๋ยได้เหมือนกับการใช้ระบบปลูกไร้ดินทั่วไป แต่แยกส่วนกันระหว่างน้ำ สารอาหารของพืช และอากาศสำหรับให้รากพืชหายใจ

ขณะที่รากพืชยังคงแห้ง แต่ไม่ถึงกับขาดน้ำและสารอาหารที่จะทำให้รากพืชตายได้ การให้น้ำและสารอาหาร จะสามารถทำให้รากพืชได้ดูดซับได้เป็นอย่างดี โดยการให้จากทางด้านล่างของแผ่นฟิล์ม แต่น้ำและสารอาหารเหล่านั้นจะถูกส่งผ่านเยื่อหุ้มบางๆ ของแผ่นฟิล์มที่ใช้ และสามารถทำปฏิกิริยากับออกซิเจนจากอากาศ ทำให้รากพืชสามารถนำสารอาหารไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่

การปลูกพืชเกษตรแบบนี้ ใช้น้ำน้อยกว่า และปริมาณปุ๋ยที่ให้แก่พืชก็มีน้อยกว่า แต่สามารถทำให้พืชเจริญงอกงามได้เท่ากับการปลูกลงดิน