นักกฎหมายถกหวั่นกระทบสิทธิมนุษยชน หนุน-ค้านเลิกตรวจร่าง “คำพิพากษา”

นักกฎหมายถกหวั่นกระทบสิทธิมนุษยชน  หนุน-ค้านเลิกตรวจร่าง “คำพิพากษา”

“นักกฎหมาย”​ เห็นต่างหนุน-ค้าน ปมตรวจร่าง “คำพิพากษา” ชี้ต้องเลิกเพราะไม่โปร่งใส หวั่นกระทบสิทธิ “สมลักษณ์” ยันต้องตรวจ เหตุอาศัยความอาวุโสทำงาน ระบุกรณี “คณากร” ​สร้างความสะเทือนใจ ข้องใจไม่หาวิธีประณีประนอม

วานนี้ (11 ต.ค.) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์​ เครือข่ายนักกฎหมาย ทนายความและนักสิทธิมนุษยชน ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​ จัดเสวนา เรื่อง คืนคำพิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน โดยมีนักกฎหมาย ทนายความ และนักสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมเวที

โดยนางสมลักษณ์​ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาในศาลฎีกา และอดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีนายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ยิงตัวเองภายหลังอ่านคำพิพากษาคดีใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ถือเป็นเรื่องสะเทือนใจ ที่ตนสงสัยว่าเกิดเรื่องอะไรกับวงการศาลยุติธรรม ก่อนหน้านั้นมีระบบและระเบียบที่บังคับใช้ รวมถึงให้ความเคารพในหลักการอาวุโส

157080106947

ทั้งนี้การส่งร่างคำพิพากษาไปยังอธิบดีศาล เป็นไปตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11 และมาตรา 13 กำหนดให้หน้าที่ ผู้บังคับบัญชาในศาลแต่ละชั้น สามารถตรวจสำนวนและให้ความเห็นแย้งได้ แม้อธิบดีผู้พิพากษาภาคไม่ถือเป็นองค์คณะในสำนวน หากประสงค์เห็นว่าคดีนี้มีความสำคัญ พยานหลักฐานมาก และเป็นที่สนใจ สามารถเข้ามาร่วมได้ แม้ไม่เป็นองค์คณะ หรือแม้ไม่เห็นด้วย สามารถทำความเห็นแย้งได้ ทั้งนี้งงอยู่เหมือนกันว่าเกิดได้อย่างไร แต่ทราบอยู่ว่ามีความขัดแย้งระหว่างเจ้าของสำนวน และอธิบดีผู้พิพากษาภาค

ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับที่หลายคนบอกว่าไม่ควรให้ตรวจร่างสำนวน เนื่องจากผู้พิพากษาบางคนไม่รอบรู้ทุกเรื่อง ส่วนผู้พิพากษาระดับอธิบดีผู้พิพากษาภาค ถือเป็นผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่มีประสบการณ์มาก ดังนั้นคนที่ทำงานน้อยกว่า ความรอบรู้และรอบคอบ อาจจะมีน้อยกว่าคนที่ทำงานมานาน อย่างไรก็ตามมีความจำเป็นที่ศาลชั้นต้นต้องมีผู้อาวุโส แต่ไม่ทราบว่าอธิบดีผู้พิพากษาภาค9 พูดหรือเขียนแย้งอะไรที่บีบบังคับ แต่เชื่อว่าผู้พิพากษาผู้ใหญ่ทุกคนรู้ดีในหลักการปฏิบัติที่ต้องไม่ก้าวก่ายในการใช้ดุลยพินิจ และความอิสระของผู้พิพากษา ตามรัฐธรรมนูญ​มาตรา 118 กำหนดไว้

157080117589

ขณะที่ นายรณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การโต้แย้งร่างคำพิพากษาของนายคณากร เป็นเอกสารทางการที่เป็นความลับภายใน ซึ่งลงนาม โดย อธิบดีผู้พิพากษาภาค, รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค และหัวหน้าคณะ ดังนั้นไม่ใช่เป็นการแอบส่งจดหมาย ในประเด็นความเป็นอิสระของผู้พิพากษา คือ นิติบัญญัติ และ ฝ่ายบริหาร แต่ปัจจุบันเทรนด์โลกมองประเด็นความอิสระของผู้พิพากษาภายในองค์กรร่วมด้วย

“กรณีที่ผู้พิพากษาผู้ใหญ่แทรกแซง เท่ากับการละเมิดสิทธิ ผมไม่ได้บอกว่าการที่ระบบพระธรรมนูญศาลยุติธรรมไทย ให้มีการรีวิวคำพิพากษา ไม่ได้บอกว่าเป็น การละเมิดสิทธิ์ แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับระบบปัจจุบันที่มีการตรวจคำพิพากษา เพราะแสดงความไม่ไว้ใจผู้พิพากษาที่มีอาวุโสน้อยกว่า โดยนายคณากรทำงานมาถึง 17 ปี หากไม่สามารถไว้ใจได้ แสดงว่าระบบศาลยุติธรรมมีปัญหา ผมสนับสนุนให้ยกเลิกระบบตรวจ เพราะไม่โปร่งใสในหลักการทั่วไป แต่หากยกเลิกไม่ได้ ต้องไม่รีวิวข้อเท็จจริง และบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะโต้แย้งประเด็นใดบ้าง” นายรณกรณ์ กล่าว

157080141432

นายอับดุลกอฮาร์ แอเวบูเต๊ะ ทนายความมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวถึงประเด็นภาพรวมสถานการณ์กฎหมายพิเศษ กับกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า คดีความมั่นคงจะใช้วิธีการซักกถาม กรณีผู้ที่ต้องสงสัยตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ในค่ายทหารและทำรูปแบบผลการซักถาม เหมือนกับการให้การชั้นสอบสวน ขณะที่อำนาจการควบคุมตัวสามารถควบคุมได้ 7 วันตามกฎหมายกฎอัยการศึก แต่หากจะควบคุมตัวต่อต้องร้องขอจากศาล ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

อย่างไรก็ตามในข้อสังเกตเฉพาะตัวเมื่อมีการก่อเหตุจะมีกลุ่มเป้าหมายที่เจ้าหน้าที่จับจ้อง ฐานะผู้ต้องสงสัย และเมื่อซักถามจนพบข้อเท็จจริง จึงขอหมายศาลเพื่อควบคุมตัวต่อต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยใช้เวลาเต็มจำนวน คือ 30 วัน และไม่ให้ญาติผู้ต้องสงสัยเข้าเยี่ยม ฐานะตนเป็นนักกฎหมายไม่ใช่กระบวนการของการอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา ที่ต้องประกอบด้วย 3 ส่วน โดยมีนักปกครองร่วมด้วย แต่กรณีที่ตนพบคือเป็นการดำเนินการโดยฝ่ายทหาร โดยไม่มีหลักเกณฑ์การควบคุมตัวที่ชัดเจน และยังพบข้อร้องเรียนจากชาวบ้านว่ามีการซ้อมทรมาณเมื่อถูกคุมตัวอยู่ภายในด้วย

“ส่วนใหญ่แทบทุกคดีใช้กฎหมายพิเศษ ไม่มีหลักเกณฑ์ชัดเจนว่า คดีใดควรใช้หรือไม่ควรใช้ เช่น เหตุการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีคนนบอกว่า ไม่รู้ว่าใครทำ ใครเป็นผู้ร้าย อาจจะใช่หรือไม่ใช่กระบวนการก็ได้ หรือไม่ใช่คดีความมั่นคง เป็นเพียงคดีอาญาเท่านั้น แต่พบว่าการตรวจสอบใช้กฎหมายพิเศษนำหน้าไปแล้ว ผมมองว่าหากไม่ใช่คดีความมั่นคง และนำบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องคดีความมั่นคงไปดำเนินคดี เท่ากับประชาชนต้องรับกรรม ขณะที่การดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น กรณีที่มีผู้ตายในค่ายทหาร ไม่พบการชนะคดีแม้แต่คดีเดียว”

ขณะเดียวกัน นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ ฟอร์ด เส้นทางสีแดง นำกลุ่มประชาชนรณรงค์แก้ไขรัฐธรมนูญ สวมเสื้อยืดสีดำ สกรีนข้อความ “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน” ประมาณ 20 คน เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา พิจารณาให้ความเป็นธรรมกรณีนายคณากร โดยมีนายสุรินทร์ ชลพัฒนา เลขาธิการประธานศาลฎีกา เป็นผู้แทนรับหนังสือดังกล่าวไว้ ซึ่งจะได้นำเรียนประธานศาลฎีกาต่อไป

พร้อมกันนี้ นายอนุรักษ์ ได้อ่านแถลงการณ์เรียกร้องไปยังสภา ให้มีการแก้ไขพระธรรมนูญศาลยุติธรรม เพื่อห้ามไม่ให้มีการตรวจ ร่างคำพิพากษา และเรียกร้องให้ความเป็นธรรม ทางการเงิน ให้กับผู้พิพากษาทั่วประเทศ โดยขอฝากความหวังไว้กับประธานศาลฎีกา ในการเป็นที่พึ่งให้ความเป็นธรรมแก่นายคณากร และเป็นที่พึ่งของประชาชนในการนำความถูกต้องและยุติธรรมกลับคืนสู่สังคมไทย เพื่อให้ประเทศไทยได้กลับคืนสู่ประเทศแห่งความสุขและความหวังอีกครั้ง