‘ธุรกิจประกัน’เร่งปรับพอร์ตลงทุน ดิ้นหนีบอนด์ยิลด์‘ขาลง’

‘ธุรกิจประกัน’เร่งปรับพอร์ตลงทุน  ดิ้นหนีบอนด์ยิลด์‘ขาลง’

ผลตอบแทนพันธบัตรหรือ “บอนด์ยิลด์” ทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่ปรับตัวลงแรงในปีนี้ บางช่วงปรับลงมาใกล้เคียงระดับต่ำสุดในปี2559 ที่ระดับ 1.57% บวกกับ "อัตราดอกเบี้ยขาลง" กระทบต่อพอร์ตการลงทุนของ“บริษัทประกันชีวิต”ค่อนข้างมาก

 เนื่องจากพอร์ตส่วนใหญ่ เป็นการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ บริษัทประกันชีวิตจึงต้องเร่งหาทางรับมือ หากไม่ปรับลดผลตอบแทนตามกรมธรรม์ที่เสนอให้ผู้เอาประกันลง  อาจจำเป็นต้องลงทุนโดย “ยอมรับความเสี่ยง”เพิ่มขึ้น

ปรับสูตรคำนวณตั้งสำรอง

จากบอนด์ยีลด์และทิศทางดอกเบี้ยขาลง เป็นแรงกดดันสำคัญที่ธุรกิจประกันกำลังเผชิญ ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลไม่ได้นิ่งดูดาย โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. ร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย “ตั้งคณะทำงานร่วมกัน” เพื่อปรับสูตรการคำนวณการตั้งสำรองพิเศษ( LAT Reserve ) ใหม่  ให้ใกล้เคียงความเป็นจริงในภาวะ “ Inverted Yield Curve”  หรือสภาวะที่ยีลด์ของพันธบัตรรัฐบาลอายุสั้น “มากกว่า” ยีลด์ของพันธบัตรรัฐบาลอายุยาว ทั้งนี้ LAT Reserve จะมีการทดสอบภายใต้ปัจจัยดอกเบี้ยต่ำ เพื่อดูความเพียงพอของเงินสำรองประกันชีวิต ซึ่งจะคำนวณตามผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ที่ต้องจ่ายให้กับผู้เอาประกันที่ต้องดูแล  ส่งผลดีต่อสภาพคล่องของธุรกิจประกัน

นอกจากการปรับสูตรดังกล่าวตามภาวะดอกเบี้ยที่เปลี่ยนไปแล้ว "สุทธิพล ทวีชัยการ" เลขาธิการคปภ. ยังมองว่า ธุรกิจประกันชีวิตยังต้องปรับปรุงในส่วนอื่นๆคู่ขนานไปด้วย ทั้งปรับโมเดลการทำธุรกิจ รวมถึงปรับปรุงผลิตภัณฑ์ เน้นความคุ้มครองชีวิตและสุขภาพมากขึ้น ควบคู่กับการนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ

“ในต่างประเทศที่ประสบปัญหาดอกเบี้ยต่ำ ได้ใช้แนวทางดังกล่าวก็ยังอยู่รอดได้ ขณะที่ธุรกิจประกันชีวิตในไทยเอง ถือว่ามีศักยภาพอยู่แล้ว มั่นใจว่าสามารถปรับตัวและอยู่รอดได้เช่นกัน”

มุ่งลดต้นทุน-ปรับผลิตภัณฑ์ 

สำหรับทิศทางการปรับตัวของธุรกิจประกันชีวิตหลังจากนี้ “นุสรา บัญญัติปิยพจน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด(มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทย บอกว่า เราคงต้องมองในภาพรวม แม้ว่าจะได้กำไรจากตารางมรณะใหม่ แต่ก็อาจขาดทุนจากดอกเบี้ยต่ำ หรือหากมีการปรับปรุงกระบวนออกผลิตภัณฑ์แบบอัตโนมัติ ( File&Use )ที่สามารถออกผลิตภัณฑ์ได้ภายใน 30วินาที ก็จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจประกันได้มากขึ้น

ด้าน “สาระ ล่ำซำ” กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ MTL มองว่า จากแนวทางการบริหาร LAT Reserveแล้ว ธุรกิจประกันชีวิตควรจะต้องพยายามตัดต้นทุนให้หมดก่อน แต่ปัจจุบันธุรกิจประกันชีวิตเผชิญแรงกดดันต้องทำตามมาตรฐานการกำกับดูแลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเกณฑ์ดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงระยะ 2 บังคับ ( RBC2 ) และ มาตรฐานรายงานทางบัญชีและการเงิน IFRS 9, IFRS 17 ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องลงทุนเพิ่มทั้งสิ้น

ปรับพอร์ตลงทุน‘ลด’ถือบอนด์

"วรางค์ ไชยวรรณ" กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บอกว่า  บริษัทได้ทบทวนนโยบายการกำหนดอัตราเบี้ยประกันของแบบประกัน และการปรับพอร์ตการลงทุน ดยจะลดสัดส่วนการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลลง และเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีสถานะทางการเงินที่ดี รวมถึงมองหาทางเลือกในการลงทุนใหม่ๆ เช่น การลงทุนในตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศ

“ทราบกันดีว่า ปัจจุบันตลาดการเงินมีความผันผวนค่อนข้างมาก จากปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศ ที่ส่งผลต่อทิศทางของตลาด ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเป็นปัจจัยที่คาดการณ์ได้ยาก แม้บริษัทจะมุ่งดำเนินการตามแนวทางการลงทุนตามแผนระยะยาว แต่ก็จำเป็นต้องปรับตัวเองให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น"

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทมีการศึกษาและขยายขอบเขตการลงทุน ดังนั้น แม้อัตราผลตอบแทนในประเทศจะอยู่ในระดับต่ำ และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทยไม่ดีนัก เรายังสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้ ทั้งหุ้นสามัญและตราสารหนี้ ขณะเดียวกันเพื่อป้องกันความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน บริษัท ได้ทำสัญญาซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า เพื่อป้องกันความเสี่ยงดังกล่าวเกือบทั้งหมด

เพิ่มน้ำหนักหุ้นสหรัฐ-ไทย

อย่างไรก็ตาม “วรางค์” เชื่อว่า การลงทุนในตลาดโลก ภายใต้ภาวะตลาดที่ผันผวน ยังมีตัวเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจ ดังนั้น ในปีนี้บริษัทเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ และลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มประเทศเกิดใหม่ รวมถึงหุ้นในประเทศไทย และยังคงสัดส่วนการลงทุนในกองทรัสต์และกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน แม้ราคาของสินทรัพย์ในกลุ่มนี้จะปรับตัวสูงขึ้นมาก ทางด้านผลตอบแทนการลงทุน คาดว่าภาวะตลาดหุ้นในปีนี้น่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เพราะปีที่ผ่านมาตลาดปรับตัวลงค่อนข้างแรง จึงเชื่อว่าผลตอบแทนรวมของพอร์ตในปี 2562 น่าจะดีขึ้น

ด้าน“สุทธิ รจิตรังสรรค์” ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยรีประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ THREL กล่าวว่า  ในภาวะที่ตลาดหุ้นเป็นขาลง แต่บริษัทยังไม่ได้ปรับสัดส่วนการลงทุนใหม่ เนื่องจากสินทรัพย์ลงทุนส่วนใหญ่ที่บริษัทถือ เป็นการถือเพื่อการลงทุนระยะยาว