แบตเตอรี่รถอีวีกำลังจะถูกลง

แบตเตอรี่รถอีวีกำลังจะถูกลง

กฟผ.เตรียมศึกษาจัดทำโมเดลบริหารจัดการแบตเตอรี่ครบทั้งวรจร หวังกดต้นทุนให้ประชาชนเข้าถึงการใช้รถยนต์ไฟฟ้าง่ายขึ้น คาดกลางปีหน้า เตรียมเปิดอู่ต้นแบบแปลงรถเก่าเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้างบไม่เกิน 5 แสนบาท

            จิราพร ศิริคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรมและพัฒนาธุรกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้า “โครงการวิจัยพัฒนาชุดประกอบรถไฟฟ้าดัดแปลงและคู่มือการดัดแปลง (EV Kit & Blueprint Project)” ว่า กฟผ.อยู่ระหว่างศึกษาโมเดลพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับใช้กักเก็บพลังงานไฟฟ้าในรถยนต์ไฟฟ้า(EV) เพื่อทำให้ต้นทุนแบตเตอรี่ในอนาคตถูกลงและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงการใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น แม้ว่าต้นทุนแบตเตอรี่ในปัจจุบันจะเริ่มปรับลดลง แต่ยังมีราคาแพงแตกต่างกันไปตามยี่ห้อ หรือเฉลี่ยราคาต่ำสุดปัจจุบัน อยู่ที่ประมาณ 3 แสนบาท

             โดยเบื้องต้น มีวิธีดำเนินได้หลายรูปแบบเช่น การขายทั้งชุดอุปกรณ์ดัดแปลง(Kit), การเช่าซื้อ,การพัฒนาแบตเตอรี่เอง หรือ จัดทำระบบ cycle life battery ที่เป็นการเข้าไปบริหารจัดการครบทั้งวงจรแบตเตอรี่

            “การพัฒนาแบตเตอรี่ตอนนี้มีหลายเทคโนโลยี หลายรูปแบบ หลายคอนเซ็ปต์ และแบตเตอรี่รถEV ต้องการความเชื่อถือได้(Reliability) ของระบบไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงถึง 80% เพื่อสร้างความมั่นใจ ฉะนั้นถ้ากฟผ.เข้าไปบริหารจัดการทำเป็นระบบ cycle life battery อาจส่งผลให้โมเดลรถEVมีราคาถูกลง ประชาชนเข้าถึงได้” นางสาวจิราพร กล่าว

157079919919

ทั้งนี้ โครงการ EV Kit & Blueprint Project ที่เป็นความร่วมมือของ กฟผ. กับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ขณะนี้ อยู่ระหว่างดำเนินงานโครงการวิจัยฯ ในระยะที่ 2 (ระหว่างปี 2560-2563) โดยได้ดัดแปลงรถยนต์ Nissan Almera หรือ i-EV จำนวน 2 คันเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างดัดแปลง รถยนต์ Toyota Altis อีกจำนวน 2 คัน คาดว่า จะดำเนินการเสร็จในช่วงไตรมาส 1 หรือ กลางปีหน้า

หลังจากนั้นจะหามาตรฐานเพื่อรองรับการจัดทำคู่มือ (พิมพ์เขียว) ธุรกิจดัดแปลงรถยนต์เครื่องสันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อขยายผลการพัฒนาโดยจะคัดเลือกอู่รถยนต์ที่มีความพร้อมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการติดตั้งชุด EV Kit เพื่อจัดทำตลาดเชิงพาณิชต่อไป ซึ่งในส่วนของการจัดทำมาตรฐานสากล และการฝึกสอนวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องให้กับอู่รถยนต์นั้น ขณะนี้ได้พูดคุยบริษัทนานาชาติ เช่น เยอรมัน ที่เป็นผู้ให้มาตรฐานความปลอดภัยของรถขับเคลื่อน(Mobility) และมีประสบการณ์รับรองมาตรฐานรถEV รวมถึงมีมาตรฐานกรมขนส่งทางบก อยู่แล้ว จึงน่าจะเป็นมืออาชีพที่จะมารับรองมาตรฐานความปลอดภัยในการดัดแปลงติดตั้งชุด EV Kit ให้กับ กฟผ.ได้

อย่างไรก็ตาม โครงการฯดังกล่าว มีเป้าหมายต้องการให้คนไทยสามารถดัดแปลงรถยนต์คันเก่าให้กลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้าได้ ในต้นทุนไม่เกินคันละ 200,000 บาท (ไม่รวมแบตเตอรี่) ซึ่งจะมีราคาถูกกว่าการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าคันใหม่อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ โครงการวิจัยยานยนต์ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 (ระหว่างปี 2553 - 2559) ดำเนินการเสร็จแล้วนั้น กฟผ. และ สวทช. ได้ดำเนินการดัดแปลงรถยนต์ 2 รุ่น คือ Honda Jazz และ Toyota Vios ปัจจุบัน สวทช. ได้ส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้า EV จากรถยนต์รุ่น Honda Jazz ให้กับ กฟผ. เพื่อนำไปใช้งานจริงแล้ว สำหรับการต่อยอดโครงการระยะที่ 2 (ระหว่างปี 2560-2563) ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการวิจัยนาน 30 เดือน ใช้งบประมาณในการวิจัยทั้งสิ้น ประมาณ 60 ล้านบาท โดย กฟผ. สนับสนุนงบประมาณในการวิจัย ประมาณ 25 ล้านบาท และ สวทช. สนับสนุนงบประมาณ 35 ล้านบาท

จากนั้น จะดำเนินโครงการวิจัยยานยนต์ ระยะที่ 3 (ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป) เมื่อสามารถพัฒนารถไฟฟ้าดัดแปลงที่มีต้นทุนต่ำได้เรียบร้อยแล้ว จะมีการขยายผลการพัฒนา เพื่อให้เกิดศูนย์บริการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้า โดยจะมีการอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดัดแปลงรถยนต์ใช้แล้วไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า EV