“สุริยะ”เร่งกู้วิกฤตรับเบอร์ซิตี้ หลังยอดจองพื้นที่แค่64ไร่ จากทั้งหมด629ไร่

“สุริยะ”เร่งกู้วิกฤตรับเบอร์ซิตี้ หลังยอดจองพื้นที่แค่64ไร่ จากทั้งหมด629ไร่

  “สุริยะ” ระบุ นิคมฯรับเบอร์ซิตี้ มีนักลงทุนจองเพียง 64 ไร่ จากทั้งหมด 629 ไร่ เพราะขาดท่อก๊าซธรรมชาติ และท่าเรือน้ำลึก เตรียมหารือรัฐมนตรีพลังงาน-คมนาคม หาแนวทางแก้ไข

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่เยี่ยมชมความก้าวหน้าในการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (รับเบอร์ซิตี้) ว่า ในโครงการรับเบอร์ซิตี้ มีพื้นที่รวม 1,248 ไร่ ต.ฉลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยเป็นพื้นที่รองรับการลงทุนอุตสาหกรรม จำนวน 629 ไร่ ที่เหลือเป็นพื้นที่ระบบสาธารณูปโภค มีศักยภาพที่พร้อมรองรับผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยางพาราและคลัสเตอร์

อย่างไรก็ตาม  โครงการนี้ยังมีผู้สนใจเข้ามาลงทุนน้อย นับตั้งแต่ประกาศขายพื้นที่ในเดือนธ.ค. 2558 มีนักลงทุนแสดงความสนใจในการเข้ามาใช้พื้นที่รับเบอร์ซิตี้เพียง 64 ไร่ มาจากประเทศจีน มาเลเซีย และไต้หวัน เป็นโรงงานผลิตในกลุ่มถุงมือยาง เครื่องนอนยางพารา และ เป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ เช่น Logistic Packaging เฟอร์นิเจอร์ไม้ เป็นต้น

ทั้งนี้ เนื่องจากยังขาดโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ท่อก๊าซธรรมชาติ และจะต้องขยายท่าเรือน้ำลึก จ.สงขลา ทำให้มีแรงดึงดูดนักลงทุนน้อย โดยหลังจากนี้ในช่วงวันอังคารที่ 15 ต.ค. จะนำเรื่องนี้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อหารือในเรื่องนี้

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า นิคมฯ รับเบอร์ชิตี้ แห่งนี้ ประกอบด้วย พื้นที่อุตสาหกรรม 629 ไร่ คิดเป็น 51%

พื้นที่สาธารณูปโภค 619 ไร่ คิดเป็น 49% และพื้นที่โครงการโรงงานมาตรฐานให้เช่า 25 ไร่ จำนวน 6 ยูนิต สำหรับรองรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการเข้ามาประกอบกิจการเต็มพื้นที่แล้ว ประกอบกิจการประเภท ยางรองส้นเท้า และผลิตภัณฑ์ยางพาราแปรรูป ส่งผลให้เกิดการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมยางพาราทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ที่ส่งผลให้เกิดการยกระดับผลผลิตราคายางให้สูงขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“เป้าหมายของการพัฒนานิคมฯรับเบอร์ชิตี้ จะส่งผลให้เกิดความต้องการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้นจากเดิม 30,000 ตันต่อปี เป็น 200,000 ตันต่อปี ซึ่งในปัจจุบันใช้ยางพาราประมาณ 1.2 แสนตัน จะต้องเพิ่มปริมาณการใช้อีก 8 หมื่นตัน คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 5-6 ปี”

ส่วนความคืบหน้าการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมสงขลาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อ.สะเดา จ.สงขลา ตั้งอยู่ที่ ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา ระยะที่ 1 บนพื้นที่ 629 ไร่ ปัจจุบันได้พัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ตามเป้าหมายในปี 2563 ซึ่งขณะนี้พื้นที่ดังกล่าว นักลงทุนเริ่มเข้ามาติดต่อและแสดงความสนใจ ทั้งจากนักลงทุนไทย จีน และ มาเลเซีย จำนวนหลายราย เพื่อที่จะตัดสินใจเข้ามาใช้พื้นที่เป็นฐานการผลิต

เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีเส้นทางการเชื่อมโยงระบบขนส่งผ่านด่านที่สำคัญของภาคใต้ไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นด่านสะเดา และด่านปาดังเบซาร์ ซึ่งเป็นด่านทางบกที่มีมูลค่าการค้าสูงสุดที่อยู่ใกล้ท่าเรือปีนัง และท่าเรือกลางของมาเลเซีย

นอกจากนั้นในอนาคตจะมีการพัฒนาเส้นทางมอเตอร์เวย์ ที่สามารถเชื่อมโยงนิคมฯรับเบอร์ซิตี้ ที่จะช่วยสร้างระบบคลัสเตอร์ยางพาราที่มีความสมบูรณ์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ตามนโยบายของรัฐบาล ที่ กนอ.เป็นผู้พัฒนาพื้นที่เพื่อเตรียมรองรับการลงทุน ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนภายใต้โครงการ Thailand Plus ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ที่ผ่านมาได้มีการเดินสายไปยังประเทศต่าง เช่น เกาหลี จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น เป็นต้น

สำหรับในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จ.สงขลา กนอ.ได้จัดแบ่งโซนพื้นที่เป็นพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมทั่วไป เขตพาณิชยกรรม และโรงงานสำเร็จรูป ประมาณ 347 ไร่ เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนแห่งที่ 2 ที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งหากมีการใช้พื้นที่เต็มจำนวนแล้วจะทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3,400 อัตรา และก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนในจ.สงขลา ประมาณ 13,800 ล้านบาทในอนาคต