'เงินบาทแข็งค่า' ทำร้ายเศรษฐกิจได้มากกว่าที่คิด

'เงินบาทแข็งค่า' ทำร้ายเศรษฐกิจได้มากกว่าที่คิด

เงินบาทแข็งค่าทำสถิตินิวไฮ 6 ปี มาอยู่ที่ 30.33 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรต่างๆ มีแนวโน้มไม่สดใส จากราคาที่แพงขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่ราคาที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่ได้ทำให้เงินในกระเป๋าเกษตรกรเพิ่มขึ้น แต่เป็นผลในทางตรงกันข้าม

อำไพ จารุวัฒน์กุล อุปนายกสมาคมแป้งมันสำปะหลังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทส่งผลกระทบต่อธุรกิจส่งออกแป้งมันมาก ปัจจุบันประเมินว่าเงินบาทแข็งค่าไปแล้วประมาณ 10%

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสินค้ามันสำปะหลังพบว่าเกษตรกรมีความกังวลประเด็นโรคใบด่างระบาดมากกว่าเรื่องราคาพืชผล ซึ่งในส่วนนี้สมาคมได้ให้ความช่วยเหลือในด้านองค์ความรู้ ทั้งประเด็นการป้องกัน ดูแลไม่ให้สถานการณ์เลวร้าย แต่เรื่องการแก้ปัญหาโดยรวมคงต้องให้เป็นหน้าที่ของภาครัฐ เพราะปัญหานี้ถือว่ายิ่งใหญ่มากและค่อนข้างแก้ไขได้ยาก

“ผู้ส่งออกประเมินต่อไปอีกว่าสถานการณ์เงินบาทแข็งค่านี้ น่าจะแย่ไปจนถึงไตรมาส 2 ของปี 2563 ซึ่งจะทำให้การส่งออกแป้งมันสำปะหลังมีแนวโน้มลดลงและจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงราคาสินค้าเกษตรในประเทศด้วย”

ส่วนการรับมือของผู้ส่งออกต่อสถานการณ์ทั้งเงินบาทแข็งค่าและเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากปัจจัยหลักคือสงครามการค้า คือการซื้อประกันความเสี่ยง ซึ่งจะมีค่าบริหารจัดการเพิ่มขึ้นแต่ต้องยอมเพราะอาจได้รับผลกระทบจากความผันผวนค่าเงินสูงจนเกินรับไหว ขณะที่ด้านการตลาดขณะนี้ผู้ซื้อหลักคือจีน ซึ่งเป็นตลาดที่มี 2 อุปสรรคสำคัญคือเงินหยวนอ่อนและเงินบาทแข็งค่า ทำให้ผู้ซื้อปลายทางพยายามหาวัตถุดิบอื่นมาทดแทนการนำเข้าแป้งมันสำปะหลัง ทำให้ปริมาณความต้องการมีแนวโน้มลดลง

ทั้งนี้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หรือ สศก.ระบุว่า สำหรับในจังหวัดที่มีการระบาดของโรคใบด่าง ภาครัฐได้มีมาตรการเฝ้าระวังการระบาด โดยกำหนดและส่งเสริมพื้นที่ผลิตท่อนพันธุ์ปลอดโรคเพื่อให้เกษตรกรมีท่อนพันธุ์เพียงพอ

ผลผลิตมันสำปะหลัง ปี 2562 (เริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือน ต.ค.2561-ก.ย.2562) คาดว่ามีพื้นที่เก็บเกี่ยว 8.72 ล้านไร่ ผลผลิต 30.9 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 3.56 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2561 ที่มีพื้นที่เก็บเกี่ยว 8.33 ล้านไร่ สูงขึ้น 4.68% ผลผลิต 29.37 ล้านตัน  5.54% และผลผลิตต่อไร่ 3.53 ตัน 0.85%

ราคาหัวมันสำปะหลังสด เฉลี่ยกิโลกรัมละ 1.63 บาท ราคาสูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 1.56 บาทในสัปดาห์ก่อน หรือสูงขึ้น 4.49% ราคาขายส่งแป้งมันสำปะหลังชั้นพิเศษ (ส่งมอบ ณ คลังสินค้าเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล) สัปดาห์นี้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 13.25 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี แป้งมันสำปะหลัง สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 455 ดอลลาร์ (13,809 บาทต่อตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

157079523424

ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า มีแนวโน้มว่าการส่งออกข้าวปีนี้จะอยู่ 8.5 ล้านตัน ซึ่งลดต่ำจากเดิมที่สมาคมตั้งเป้าไว้ว่าจะส่งออกอยู่ที่ 9-9.5 ล้านตัน

ปัจจัยสำคัญมาจากปัญหาเงินบาทแข็ง ทำให้ราคาข้าวไทยปรับตัวสูงกว่าคู่แข่ง ประกอบกับความต้องการตลาดโลกชะลอตัวจากปัจจัยจีนปล่อยสต็อกที่มีอยู่ออกสู่ตลาด ขณะที่หลายประเทศมีปัญหาสต็อกล้นอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว

“ปัญหาดังกล่าวไม่ส่งผลเพียงภาคการส่งออกข้าวเท่านั้น แต่การส่งออกที่ลดลงจะเป็นแรงกดดันให้ราคาข้าวในประเทศปรับตัวลดลงเนื่องจากปริมาณสินค้าอยู่ในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ซับพลายล้น”

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาดังกล่าวดำเนินการได้ค่อนข้างยากเพราะข้าวเป็นสินค้าที่มีสัดส่วนกำไรต่ำ ไม่สามารถบริการต้นทุนเพื่อรับมือกับปัจจัยเงินบาทแข็งค่าได้มากเท่าที่ควร ทำให้สถานการณ์ส่งออกข้าวปีนี้ไม่สดใส

สำหรับราคาข้าวขาว 5% ของไทย ตันละ 425 ดอลลาร์ ขณะที่ข้าวชนิดเดียวกันเวียดนาม ตันละ 323-327 ดอลลาร์ อินเดีย ตันละ 363-367 ดอลลาร์ และปากีสถาน ตันละ 363-370 ดอลลาร์ จะเห็นว่าไทยสูญเสียขีดความสามารถด้านการแข่งขันจากราคาที่สูงกว่าคู่แข่ง

วรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า แนวโน้มราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2562/2563 ที่ความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. คาดว่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ตันละ 690 บาท เนื่องจากถูกปัจจัยกดดันถึง 2 ด้าน คือ ระดับราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่เพียง 12.50 เซนต์ต่อปอนด์ จากฤดูผลิตปีก่อนราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 13.50 เซนต์ต่อปอนด์

ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทของไทยแข็งค่ามากขึ้น คาดว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 30-30.50 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ฤดูที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ 32 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยมีผลกระทบให้มูลค่าอ้อยหายไปราวหมื่นล้านบาท

“เฉพาะค่าเงินบาทที่แข็งค่าจากเดิม 2 บาทมีผลกระทบราว 6,000 ล้านบาท ส่วนราคาตลาดโลกมีผลกระทบราว 4,000 ล้านบาท หากมองตามนี้ราคาอ้อยขั้นต้นเฉลี่ยทั้งประเทศก็จะอยู่ราว 700 กว่าบาทต่อตัน"

อย่างไรก็ตาม หากรัฐช่วยปัจจัยการผลิตเพิ่มอีก 50 บาทต่อตัน รายละไม่เกิน 5,000 ตัน เช่นฤดูผลิตที่ผ่านมาก็จะทำให้ได้รับค่าอ้อยไม่เกิน 800 บาทต่อตัน ส่วนจะหามาตรการเพิ่มเติมมาดูแล หรือไม่คงต้องรอระดับนโยบายอีกครั้ง

จะเห็นว่าเงินบาทแข็งค่าอาจดูเป็นเรื่องไกลตัวในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติจริงจะพบว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้นทุกๆ บาท หรือทุกเปอร์เซ็นต์จะส่งสะเทือนไปถึงท้องไร่ท้องนาด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-กรุงศรีชี้เศรษฐกิจไทยอ่อนแรง โอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยต่ำ หั่นจีดีพีเหลือ2.9%ส่งออกติดลบ2.8%
-เศรษฐกิจไทยหลังวิกฤติปี 2540
-จับตาประกาศจีดีพี เศรษฐกิจไทยไตรมาส2 ชะลอโตแค่2.7%
-อาเซียนจะอยู่อย่างไรในเศรษฐกิจโลกแบบนี้