KUMWELปั้นแบรนด์ ท้าชนคู่แข่งยักษ์โลก

KUMWELปั้นแบรนด์ ท้าชนคู่แข่งยักษ์โลก

ขยายตลาดผลิตภัณฑ์ทั้งในและนอกบ้าน 'บุญศักดิ์ เกียรติจรูญเลิศ' นายใหญ่ 'คัมเวล คอร์ปอเรชั่น' โชว์พันธกิจใหม่ 5 ปีข้างหน้า สัดส่วนรายได้ 50:50 พร้อมดันสินค้าระบบ 'ป้องกันฟ้าผ่าแบบอัจฉริยะ' หวังขึ้นแท่นพระเอกใหม่ยกฐานะ

ฟ้าจะผ่าห้ามไม่ได้ หรือ หลีกเลี่ยงไม่ได้ !! นี่คือ สิ่งที่ทุกคนตระหนักมาตลอด ซึ่งแต่ละครั้งสร้างความเสียหายจำนวนมาก โดยเฉพาะในส่วนของ 'ภาคการผลิต' และ 'ระบบสื่อสาร' ทว่าปัจจุบัน บมจ.คัมเวล คอร์ปอเรชั่น หรือ KUMWEL ผู้ประกอบการโรงงานผลิตและวิจัยผลิตภัณฑ์ป้องกันและเตือนภัยฟ้าผ่าภายใต้แบรนด์ 'Kumwell' กำลังเข้ามา 'แก้ปัญหา' (Pain Point) ดังกล่าว

สถานการณ์ดังกล่าวกำลังผลักดัน 'โอกาสทอง' ของ KUMWEL ในการสร้างการเติบโตของธุรกิจใหม่อีกครั้ง !! สู่เป้าหมายการเป็นผู้นำในระบบต่อลงดิน และระบบป้องกันฟ้าผ่าอย่างครบวงจร รวมทั้งเป็นแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่งระดับโลก และเป็นองค์กรที่เติบโตอย่างยั่งยืน

สะท้อนผ่าน การที่บริษัทได้เตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ระบบ 'Smart Lightning Management System' ซึ่งเป็นนวัตกรรมระบบ 'ป้องกันฟ้าผ่าแบบอัจฉริยะ' เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ซึ่งมีการทำวิจัยและพัฒนาสินค้าร่วมกับลูกค้าทุกภาคส่วน อาทิ การไฟฟ้า การคมนาคม การสื่อสารโทรคมนาคม อสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรม (โรงงาน) และ ความมั่นคงของประเทศ เป็นต้น

ปัจจุบัน KUMWEL แบ่งเป็น 4 ธุรกิจ คือ ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับ 1.ระบบต่อลงดิน (Grounding System) 2.ระบบป้องกันฟ้าผ่า (Lightning Protection System) 3.ระบบป้องกันเสิร์จ:ไฟกระโชก (Surge Protection System) และ 4.ระบบตรวจจับและเตือนภัยฟ้าผ่า (Lightning Detection & Warning System) อย่างครบวงจรตามมาตรฐานสากล

โดยบริษัทมีจำนวนสินค้าที่จัดจำหน่ายกว่า 2,500 รายการ เพื่อตอบสนองความต้องการและลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกันของลูกค้ากลุ่มต่างๆ และถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจดังกล่าว

'บุญศักดิ์ เกียรติจรูญเลิศ' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.คัมเวล คอร์ปอเรชั่น หรือ KUMWEL เล่าสตอรี่ใหม่ให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า บริษัทกำลังนำสินค้าตัวใหม่คือ 'ระบบป้องกันฟ้าผ่าแบบอัจฉริยะ' ออกไปจำหน่ายใน 'ตลาดต่างประเทศ' โดยจะเริ่มต้นในกลุ่มประเทศอาเซียนก่อน อย่าง อินโดนีเซีย และค่อยขยับไปในประเทศ จีน ตะวันออกกลาง อินเดีย เป็นต้น

'เราคาดว่าตลาดต่างประเทศจะมีความชัดเจนในปีหน้า เบื้องต้นเราจะยกโมเดลในเมืองไทยไปในต่างประเทศ และคงเข้าไปในกลุ่มลูกค้าภาคอุตสาหกรรมก่อน ตั้งเป้าหมาย 5 ปีข้างหน้า (2563-2567) จะเห็นสัดส่วนรายได้ในและนอกบ้าน 50:50 จากปัจจุบัน 80:20' 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลิตภัณฑ์ใหม่จะช่วยสนับสนุน 'ยอดขาย' ของบริษัทเติบโตเป็นตัวเลข 'สองหลัก' จากที่ผ่านมาบริษัทมีผลดำเนินงานเติบโตเป็นตัวเลข 'หลักเดียว' สะท้อนผ่านผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี (2559-2561) มีกำไรสุทธิ 75.14 ล้านบาท 66.40 ล้านบาท และ 31.99 ล้านบาท ขณะที่รายได้ 409.83 ล้านบาท 433.30 ล้านบาท และ 469.72 ล้านบาท ตามลำดับ

'นายใหญ่' บอกต่อว่า หลังจากบริษัทได้เงินระดมทุนขายหุ้นไอพีโอแล้ว จะนำเงินดังกล่าวมาขยายกำลังการผลิตตามแผนธุรกิจ คือ การขยายโรงงานแห่งใหม่ผลิตสินค้ากลุ่ม 'หลักดิน' (Ground Rod) ซึ่งเป็นแท่งเหล็กชุบด้วยทองแดง เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของระบบต่อลงดิน (Grounding Syste) คาดจะใช้เงินลงทุนประมาณ 68 ล้านบาท โดยทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 'เท่าตัว' หรือ 240,000 แท่งต่อปี จากปัจจุบันกำลังการผลิต 120,000 แท่งต่อปี โดยคาดว่าโรงงานใหม่ก่อสร้างในปี 2563 และดำเนินการเชิงพาณิชย์ไตรมาส 2 ปี 2564

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่จะต้องสร้างโรงงานใหม่ เนื่องจากกำลังการผลิตสินค้ากลุ่มหลักดินปัจจุบันอยู่ที่ไม่เกิน 120,000 เส้นต่อปี และบริษัทใช้กำลังการผลิตไปแล้ว 80% ทำให้โรงงานเก่ารองรับการผลิตได้ถึงปี 2564 เท่านั้น ประกอบกับยอดขายหลักดินเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสายการผลิตหลักดิน ซึ่งตั้งอยู่ที่โรงงานตำบลบางเลน อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี เป็นกระบวนการผลิตแบบเก่า และมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด

'โรงงานใหม่นี้ จะย้ายไปก่อสร้างที่ตำบลไทรใหญ่ อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี โดยคาดว่าโรงงานใหม่จะช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มกำลังการผลิตหลักดินเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวของกำลังการผลิตในปัจจุบัน'

สำหรับทิศทางธุรกิจในช่วงครึ่งหลังปี 2562 เขาบอกว่า มีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากการทยอยลงทุนของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทุกโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานมีความจำเป็นต้องติดตั้งอุปกรณ์และระบบสัญญาณเตือนภัยฟ้าผ่า ปัจจัยดังกล่าวถือเป็นโอกาสที่ดีของบริษัทในอนาคต

ล่าสุด บริษัทจัดทำโครงการต้นแบบวางระบบป้องกันและเตือนภัยฟ้าผ่าภายในโครงการรถไฟความเร็วสูง (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) ระยะทางรวม 249 กิโลเมตร ล่าสุดได้เข้าไปฝึกอบรมและให้ความรู้กับผู้รับเหมาโครงการแล้ว และได้ส่งมอบสินค้าในการอนุมัติใช้ในเฟสแรก จากทั้งหมด 14 เฟส คาดว่าทยอยรับรู้รายได้เฟสแรกตั้งแต่ปลายปี 2562 เป็นต้นไป

สำหรับ 'กลุ่มลูกค้า' ของบริษัทมีทั้งในและต่างประเทศ ประกอบด้วย ในประเทศไทยมีฐานผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ (End User) เป็นผู้ประกอบการหรือเจ้าของโครงการจาก 6 ภาคส่วน (ไม่เน้นผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในระดับครัวเรือน) ได้แก่ กลุ่มภาคการไฟฟ้า กลุ่มภาคคมนาคม กลุ่มภาคการสื่อสารโทรคมนาคม กลุ่มภาคอุตสาหกรรม กลุ่มภาคสิ่งปลูกสร้าง และกลุ่มภาคความมั่นคงทางทหาร
โดยบริษัทมีกลุ่มลูกค้าหลากหลาย และเป็นบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหุ้น อาทิ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค,การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย,บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ,บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ,บริษัท พัฒนาพลังงานธรรมชาติ จำกัด , บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ,Vietnam Railways ,การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ,การรถไฟแห่งประเทศไทย

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) , องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย , บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ,บริษัท ทีโอที จำกัด บมจ.ไทยออยล์ (TOP) ,บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ,บมจ.ปตท. (PTT)

บมจ.ศุภาลัย (SPALI) ,บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จํากัด (เทสโก้ โลตัส),บริษัท บุญถาวรเซรามิค,บริษัท ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด,บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน),บมจ.ไรมอน แลนด์(RML),บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT)
ขณะที่ ประเทศในแถบภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สิงคโปร์ ส่วนประเทศในภูมิภาคอื่นๆ เช่น จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลี บังกลาเทศ ศรีลังกา ปากีสถาน อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาต้าร์ โอมาน เยเมนซาอุดิอาระเบีย ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี สวีเดน เดนมาร์ก อเมริกาใต้ เป็นต้น

เขา บอกต่อว่า คาดว่ารายได้ปีนี้จะใกล้เคียงปีก่อนที่ทำได้ 469 ล้านบาท เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีการลงทุนใหม่จึงทำให้ในปัจจุบันยังไม่มีกำลังการผลิตเข้ามาเพิ่มเติมหรือคงอยู่ที่ 1.2 แสนแท่งต่อปี แต่อย่างไรก็ตามภายหลังการระดมทุนบริษัทจะขยายกิจการตามแผนธุรกิจ อย่างการขยายโรงงานแห่งใหม่ โดยกำลังการผลิตจะเพิ่มเป็น 2.4 แสนแท่งต่อปี โดยจะเริ่มก่อสร้างในช่วงกลางปี 2563 และกำหนดสร้างเสร็จในช่วงไตรมาส 2 ปี 2564   

สำหรับแผนธุรกิจในปีนี้บริษัทยังคงขยายตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทมีเครือข่ายทั้งในประเทศจีน รวมถึงอาเซียน ตะวันออกกลาง และยุโรป ซึ่งเชื่อว่าหลังจากเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำให้ขีดความสามารถมากขึ้น โดยล่าสุดบริษัทได้เพิ่มพันธมิตรสำหรับงานด้าน Clinic System Solutions ในหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ อาทิ ระยอง ชลบุรี ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และภูมิภาคอาเซียน คาดว่าจะสามารถเริ่มได้ในช่วงครึ่งปีหลัง

ท้ายสุด 'บุญศักดิ์' ทิ้งท้ายไว้ว่า แผนงานและกลยุทธ์ในการปรับปรุงการบริหารจัดการทั้งด้านการขายและต้นทุนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ โดยเพิ่มความสำคัญในการรับงานมากขึ้น จะส่งผลให้ผลประกอบการทั้งปีเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้แน่นอน !

โบรกฯ ธุรกิจโตตามลูกค้า

บริษัทหลักทรัพย์โกลเบล็ก ระบุว่า บมจ.คัมเวลคอร์ปอเรชัน หรือ KUMWEL มีลูกค้าอยู่ในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคการไฟฟ้า ภาคการคมนาคม ภาคอุตสาหกรรม และภาคสิ่งปลูกสร้างเป็นต้น ซึ่งบริษัทมีจุดเด่นที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานเทียบเท่าในระดับสากลได้ ส่งผลให้บริษัทสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ไปในหลายภูมิภาคทั่วโลกได้

รวมทั้งการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้ก่อสร้างโรงงานและปรับปรุงอาคารเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต วิจัยและพัฒนาระบบและสินค้ารุ่นใหม่ ปรับปรุงและพัฒนาห้องทดสอบผลิตภัณฑ์ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจฝ่ายวิจัยประเมินราคาเหมาะสมอยู่ที่ราว 1.4 บาท ปัจจุบันราคาหุ้นอยู่ที่ 0.98 บาท (10 ต.ค.)

ขณะที่ประเด็นสำคัญในการลงทุน นั้นคือ ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์มีศักยภาพเติบโตตามกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าและก่อสร้างเป็นหลัก ซึ่ง KUMWEL เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับต่อลงดินเพื่อป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าซึ่งปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ส่งผลให้ธุรกิจมีจำนวนคู่แข่งน้อยราย บริษัทใช้วิธีการประชาสัมพันธ์สินค้าในรูปแบบต่างๆ ในการจัดทำคู่มือ การเข้าร่วมงานแสดงนวัตกรรม รวมถึงการจัดงานให้ความรู้แก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นต้น

รวมทั้งสินค้าของบริษัทได้อ้างอิงมาตรฐานที่รับรองจากสถาบันหลากหลายประเทศในสหรัฐฯ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ได้รับการยอมรับเป็นวงกว้าง โดยบริษัทสามารถสร้างยอดขายได้ในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม

หากพิจารณาในอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าที่มีสัดส่วนรายได้ในปี 2561 ราว 27% ของรายได้รวม คาดจะสามารถเติบโตได้ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2561-2580 ที่มีแผนเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นราว 2.8% ต่อปี รวมถึงอุตสาหกรรมการก่อสร้างที่มีสัดส่วนรายได้ในปี 2561 ราว 29%

โดยคาดจะเติบโตตามการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่คาดจะเติบโตราว 8-12% และการลงทุนก่อสร้างของภาคเอกชนที่คาดว่าจะเติบโตราว 3-5% นอกจากนี้บริษัทยังสามารถส่งสินค้าไปขายยังต่างประเทศได้มีสัดส่วน 22% ช่วยหนุนการเติบโตของยอดขายในอนาคต