ร้านอาหารชิงกำลังซื้อไฮซีซัน บูมแพลตฟอร์ม‘แอพ-ดีลิเวอรี่’

ร้านอาหารชิงกำลังซื้อไฮซีซัน บูมแพลตฟอร์ม‘แอพ-ดีลิเวอรี่’

บรรยากาศจับจ่ายในช่วง 3 เดือนหลังของทุกปี เป็น “ไฮซีซัน”ของสินค้าและบริการต่างๆ ซึ่งเวลานี้คึกคักไม่น้อยจากการกระตุ้นตลาดของบรรดาผู้ประกอบการ รวมทั้งอานิสงส์จากมาตรการรัฐ “ชิม ช้อป ใช้”  ช่วงโกยยอดนาทีสุดท้าย!! 

สารพัดกลยุทธ์ถูกงัดมาใช้ช่วงชิงเค้กก้อนโตในตลาด โดยเฉพาะนวัตกรรม แอพพลิเคชั่น ออนไลน์ ดีลิเวอรี่ เป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่นำมาขับเคลื่อนธุรกิจเต็มสูบเลยทีเดียว 

ธันยเชษฐ์ เอกเวชวิท กรรมการผู้จัดการ บริษัท แมคไทย จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารบริการด่วน (QSR : Quick Service Restaurant) แบรนด์ “แมคโดนัลด์” กล่าวว่า ได้นำเทคโนโลยีการวิเคราะห์บิ๊กดาต้าและพัฒนา อัลกอรึธึมเพื่อส่งมอบสินค้าและบริการให้เหมาะสมสอดคล้องกับสิ่งที่ลูกค้าต้องการในแบบรายบุคคล (Personalization) ร่วมกับการวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดที่ปรับเปลี่ยนจากรูปแบบเดิมที่เป็นการทำตลาดที่เข้าถึงกลุ่มคนทั่วไปแบบกว้าง หรือ Mass Marketing  

"เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะถูกนำมาใช้ขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างให้กับลูกค้า!! มากขึ้น ผ่าน ดิจิทัลแพลตฟอร์ม"  

ล่าสุดเปิดตัว “แมคโดนัลด์ แอพพลิเคชัน  ภายใต้แนวคิด “สุขล้นในแอพเดียว ซึ่งได้ดีไซน์ฟังก์ชันให้ใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน สามารถจดจำพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้า และคัดสรรข้อเสนอพิเศษ ดีลเด็ด หรือ เมนูที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละบุคคล ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปในแต่ละวัน

"แมคโดนัลด์ แอพพลิเคชั่น เป็นการสร้างจุดเด่นที่แตกต่างเหนือคู่แข่งในธุรกิจร้านอาหารบริการด่วนที่มีการแข่งขันสูง เพื่อยกระดับประสบการณ์ความประทับใจให้ลูกค้าแต่ละบุคคลในทุกช่วงเวลา พร้อมความสะดวกในการใช้งานได้อย่างราบรื่น

นอกจากนี้ จะเป็นช่องทางอัพเดตข้อมูลข่าวสาร โปรโมชั่น ตรวจสอบร้านแมคโดนัลด์สาขาใกล้เคียง บริการสั่งอาหาร (McDelivery) รวมถึงพัฒนาแพลตฟอร์มในอนาคตรองรับการจองเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ อาทิ จองห้องประชุม ห้องจัดงานวันเกิดแบบส่วนตัว สำรองที่นั่งเวิร์คช็อปสำหรับเด็ก เป็นช่องทางสื่อสารระหว่างแบรนด์กับลูกค้าผ่าน “Talk2Mc”

หากพิจารณาข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ขยายตัวของธุรกิจ “ฟู้ด ดีลิเวอรี่” และ “ฟู้ด ดีลิเวอรี่ แอพพลิเคชั่น” สามารถเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ให้ผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจร้านอาหารได้เป็นอย่างดี  โดยมูลค่ารวมฟู้ดดีลิเวอรี่่ 33,000-35,000 ล้านบาทในปีนี้ เติบโต 14% จากปีก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วน 8% ของมูลค่าธุรกิจร้านอาหารของประเทศไทย

ทางด้าน กรีฑากร ศิริอัฐ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอส แอล อาร์ ที จำกัด ผู้บริหารร้านอาหารประเภทสเต็กและสลัด “ซิซซ์เล่อร์” กล่าวถึงแผนธุรกิจไตรมาสสุดท้ายนี้ว่า ร้านซิซซ์เล่อร์มุ่งสร้างความหลากหลายของเมนูอาหารภายใต้กลยุทธ์การออกสินค้าใหม่ หรือ NPD (New Product Development) รวมทั้งจัดทำแคมเปญการตลาด ด้วยเมนูสินค้าราคาพิเศษ เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค รองรับการแข่งขันธุรกิจร้านอาหารซึ่งแบรนด์ต่างๆ จะทำการตลาดและออกโปรโมชั่นมากมาย เพราะเป็นช่วงฤดูกาลของการเลี้ยงฉลองและขายสินค้า

"ซิซซ์เล่อร์วางแผนจัดโปรโมชั่นและการตลาดครบวงจร ด้วยกลยุทธ์เมนูใหม่จะออกทุกๆ 2 เดือน ครั้งละ 3 เมนู เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ซิซซ์เล่อร์ ร่วมกับ กรีน มันเดย์ (Green Monday) จัดแคมเปญ “Sizzler Taste the Future” นำวัตถุดิบซึ่งเป็นเนื้อจากพืช 100% หรือที่เรียกว่า “Plant-Based Meat” มาใช้เป็นวัตถุดิบประกอบอาหาร 4 เมนูใหม่ ได้แก่ บียอร์น สเต๊ก ซอสพริกไทย, ออมนิ สเต๊ก ซอสเห็ด,บียอร์น คาราเมลไลซ์ ออนเนี่ยน เบอร์เกอร์ และ บียอร์น ชิลลี่ ด็อก ราคา 479 บาท เริ่มจำหน่ายแล้ว 30 สาขา ในอนาคตจะจำหน่ายครบทุกสาขา

ภาพรวมธุรกิจร้านอาหาร 9 เดือนแรกแข่งขันรุนแรง พฤติกรรมผู้บริโภคหันไปสั่งสินค้าผ่านระบบดีลิเวอรี่มากข้น ส่งผลการใช้บริการภายในร้านมีภาวะคงที่ ขณะที่ธุรกิจร้านอาหารที่ให้บริการด้วยระบบดีลิเวอรี่เติบโตสูงกว่าปีที่ผ่านมา

สำหรับซิซซ์เล่อร์มุ่งสร้างการเติบโตทั้งสองช่องทาง โดยการรับประทานอาหารภายในร้านเติบโตด้วยตัวเลขหลักเดียว ระบบดีลิเวอรี่เติบโตสองหลัก ปัจจุบัน ซิซซ์เล่อร์ ปิดบริการ 56 สาขา ช่วงปลายปีเตรียมเปิดเพิ่มอีก 1 สาขา จากปกติขยายสาขาเฉลี่ย 3-5 แห่งต่อปี

นงชนก สถานานนท์ ผู้ช่วยรองประธานบริหาร กลุ่มการตลาด ซิซซ์เล่อร์ กล่าวเสริมว่า ร้านซิซซ์เล่อร์มีจุดแข็งในเมนูอาหารประเภทสเต็กและสลัด เป็นร้านอาหารสุขภาพจากเมนูสลัดบาร์ที่มีผักและธัญพืช โดยพบว่ากลุ่มลูกค้าที่เข้ามาทานสลัดอย่างเดียวมีสัดส่วน ​30% หรือ 2 แสนคนต่อเดือน จากลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการเดือนละ 7-8 แสนคน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่มีสัดส่วนเพียง 10%

ซิซซ์เล่อร์เป็นแบรนด์ร้านอาหารสุขภาพ จึงมุ่งสร้างประสบการณ์ที่ดีในเรื่องอาหารให้ผู้บริโภค ทำให้เกิดความร่วมมือกับกรีนมันเดย์ ที่จะต่อยอดเรื่องอาหารเพื่ออนาคต ร่วมเป็นส่วนหนึ่งให้โลกเติบโตอย่างยั่งยืน

กลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็นลูกค้า Plant-Based Meat คือ กลุ่มลูกค้าที่เข้ามาทานสลัดเพียงอย่างเดียว เพื่อเป็นทางเลือกในการได้รับโปรตีน รวมถึงกลุ่มลูกค้าปกติทั่วไป ซึ่งมีโอกาสเป็นลูกค้าเมนู Plant-Based Meat จากเทรนด์ดูแลสุขภาพสำหรับ 4 เมนูแรกจะจำหน่ายถึงสิ้นปี พร้อมวางแผนพัฒนาเมนูใหม่ต่อเนื่อง

สำหรับแบรนด์ โออิชิ”  ขยายช่องทางการเข้าถึงลูกค้าภายใต้ความร่วมมือกับไลน์แมน” ผู้ให้บริการสั่งอาหารผ่านแอพพลิเคชั่น รองรับกลุ่มลูกค้าที่่ต้องการความสะดวก โดยพร้อมเสิร์ฟเมนูอาหารญี่ปุ่นจากครัว โออิชิ ราเมน รวมกว่า 80 รายการ รวมทั้งเมนูข้าว ดงบุริ ข้าวหน้าล้น จากครัว คาคาชิ