"ตลาดเบียร์เวียดนาม"ธุรกิจแห่งอนาคตบ.ต่างชาติ

"ตลาดเบียร์เวียดนาม"ธุรกิจแห่งอนาคตบ.ต่างชาติ

"ตลาดเบียร์เวียดนาม"ธุรกิจแห่งอนาคตบ.ต่างชาติขณะการบริโภคเบียร์ของชาวเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การบริโภคเบียร์และแอกอฮอล์ประเภทต่างๆในเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการเบียร์ในท้องถิ่นเร่งเพิ่มกำลังการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งขยายตัวอย่างรวดเร็วของตลาดเบียร์ในเวียดนาม ดึงดูดความสนใจของบรรดานักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่หวังจะเข้ามาชิงส่วนแบ่งในตลาดที่มีศักยภาพแห่งนี้

สมาคมผู้ประกอบการเบียร์และแอลกอฮอล์เวียดนาม (วีบีเอ)ระบุว่า เมื่อปี 2560 ชาวเวียดนาม บริโภคเบียร์ 4 พันล้านลิตร ซึ่งคาดว่าภายในปี 2578 การบริโภคเบียร์ของชาวเวียดนามจะขยับขึ้นเป็น 5.6 พันล้านลิตร และเมื่อพิจารณาเป็นรายบุคคล ชาวเวียดนามแต่ละคนดื่มแอลกอฮอล์หรือเบียร์เฉลี่ยปีละ 43 ลิตร ถือเป็นผู้บริโภคที่นิยมดื่มของมึนเมามากที่สุดอันดับ3ในภูมิภาคเอเชีย ตามหลังผู้บริโภคชาวจีน และญี่ปุ่น และเมื่อปีที่แล้ว เวียดนาม ติดกลุ่ม ชาติที่บริโภคเบียร์มากที่สุด 15 อันดับของโลก

ในฐานะประเทศที่มีผู้บริโภคมากถึง 100 ล้านคน เวียดนามจึงมีความน่าสนใจอย่างยิ่งในสายตาผู้ผลิตเบียร์หรือแอลกอฮอล์ยักษ์ใหญ่ของโลก ล่าสุด บริษัทไทเบฟของไทยได้เข้าไปซื้อหุ้นของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามที่ถืออยู่ในบริษัทซาเบโก เมื่อปี 2560 และปัจจุบัน ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวในสัดส่วน 53%

นอกจากนี้ มีคาร์ลสเบิร์ก ผู้ผลิตเบียร์สัญชาติเดนมาร์ก ที่ต้องการลงทุนเพิ่มเติมในบริษัทฮานอย เบียร์ แอลกอฮอล์ แอนด์ เบฟเวอเรจ จอยท์ สต็อก คอร์พอเรชัน (ฮาเบโก) หลังจากเป็นนักลงทุนเชิงกลยุทธ์ในเวียดนามมาตั้งแต่ปี 2551

ปัจจุบัน กว่า90% ของส่วนแบ่งตลาดเบียร์ในเวียดนามอยู่ในมือของซาเบโก ฮาเบโก ไฮเนเก้น และคาร์ลสเบิร์ก โดยที่เหลือ 10% เป็นของบริษัทเบียร์ท้องถิ่นและผู้ผลิตน้องใหม่ อาทิ ซัปโปโร และบัดไวเซอร์

บริษัทเบียร์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ล้วนได้อานิสงส์จากการที่รายได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะความต้องการบริโภคเบียร์และแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้น โดยในช่วง 6เดือนแรกของปีนี้ ซาเบโก มีรายได้สุทธิอยู่ที่ 18.4 ล้านล้านด่อง (787 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)เพิ่มขึ้น 8.5% เมื่อเทียบกับปี 2561 และมีกำไรหลังหักภาษีอยู่ที่ 2.8 ล้านล้านด่อง เพิ่มขึ้นปีต่อปี 15.2% ซึ่งผลประกอบการที่สดใสนี้ ทำให้ซาเบโก คาดการณ์ว่าปีนี้ทั้งปีผลประกอบการทั้งในส่วนของรายได้และผลกำไรจะสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้

ส่วนราคาหุ้นของซาเบโกเพิ่มขึ้นกว่า 10% นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยราคาปิดเมื่อวันอังคาร (8ต.ค.)อยู่ที่หุ้นละ 258,500 ด่อง และซาเบโก ยังคงจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งในการเปิดเผยรายได้ไตรมาส2ของกลุ่มบริษัท ระบุว่า ซาเบโก มีกระแสเงินสด 5.3 ล้านล้านด่องและมีสินทรัพย์เทียบเท่าเงินสด1.59 ล้านล้านด่อง

ขณะที่ไซง่อน เบียร์ เวสเทิร์น เจเอสซี ก็รายงานผลประกอบการช่วงครึ่งปีแรกสดใสไม่แพ้กัน โดยช่วงไตรมาส2 บริษัทมีรายได้ 266,000 ล้านด่อง เพิ่มขึ้น10% ปีต่อปี และมีผลกำไรสุทธิช่วงครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้นกว่า 20% ถือว่าเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

การหลั่งไหลเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดเบียร์เวียดนามของผู้ประกอบการต่างชาติ ทำให้ยูโรมอนิเตอร์ ออกรายงานเตือนว่า มีความเสี่ยงสูงที่เบียร์แบรนด์เวียดนามจะหายไปจากตลาด หรืออีกนัยหนึ่งคือ บริษัทเบียร์ของเวียดนามจะกลายเป็นของต่างชาติทั้งหมด ด้วยสาเหตุหลัก ๆ มาจากผู้บริโภคชาวเวียดนาม ที่ไม่นิยมดื่มเบียร์แบรนด์ท้องถิ่น ทำให้เบียร์เวียดนามไม่สามารถแข่งขันได้ บวกกับการผ่อนปรนกฎระเบียบการเป็นเจ้าของของบริษัทต่างชาติที่มากเกินไปของรัฐบาลเวียดนาม จนทำลายธุรกิจเบียร์ท้องถิ่น

กระแสคลั่งไคล้การดื่มเบียร์ ทำให้กระทรวงสาธารณสุขเวียดนาม เสนอร่างกฏหมายควบคุมการโฆษณาเบียร์ ซึ่งกระทรวงฯมองว่า การดื่มเบียร์ของชาวเวียดนาม กำลังจะกลายเป็นปัญหาสุขภาพในอนาคตอันใกล้

กฏหมายควบคุมการโฆษณาเบียร์ที่ว่า กำหนดห้ามโฆษณาในพื้นที่โล่งเเจ้ง เช่น ป้ายโฆษณาบิลบอร์ด ในภาพยนตร์เเละการเเสดงสำหรับเด็ก เเละทางสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านมา เวียดนามได้สั่งห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทที่ได้จากการหมักไปแล้ว ซึ่งมีปริมาณแอลกอฮอล์สูงกว่า

ในแต่ละปี ผู้ผลิตแอลกอฮอล์ใช้เงินหลายล้านล้านดอลล่าร์ ในการโฆษณาเเละการตลาดเพื่อกระตุ้นการบริโภค และถือว่าเหมาะสมเเล้วที่กระทรวงสาธารณสุขเวียดนามเสนอร่างกฏหมายควบคุมแอลกอฮอล์ เพราะชาวเวียดนามกำลังหลงไหลการดื่มเบียร์และแอลกอฮอล์มากขึ้นเรื่อยๆ

ที่จริงแล้ว การควบคุมการดื่มของชาวเวียดนามน่าจะเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร เพราะกิจกรรมสันทนาการที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ในเวียดนามมีมานานเเล้ว ย้อนกลับไปตั้งเเต่สมัยที่ชาวนาต้องหมักไวน์ข้าวไว้ดื่มเอง ไปจนถึงทหารอเมริกันที่ชอบดื่มเบียร์ท้องถิ่นของเวียดนามในช่วงสงครามเวียดนาม