จับตาประชุมสุดยอด‘อินเดีย-จีน’

จับตาประชุมสุดยอด‘อินเดีย-จีน’

จับตาประชุมสุดยอด‘อินเดีย-จีน’ โดยนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีของอินเดีย และประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน พบกันที่เมืองเจนไนของอินเดีย เริ่มตั้งแต่วันนี้ (11 ต.ค.) เพื่อผ่อนคลายความสัมพันธ์ตึงเครียดระหว่างกัน

ทางการอินเดียประกาศว่า ผู้นำ 2 ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก จะหารือกันในหลายประเด็น สำนักข่าวเอเอฟพีรวบรวมประเด็นร้อน ที่อินเดียและจีนขัดแย้งกันมานาน รวมทั้งรู้ดีว่าคงแก้ไขได้ยาก

โอกาสทางการค้า

หลายปีหลังอินเดียเรียกร้องเสมอมาขอเข้าถึงตลาดจีนให้ได้มากขึ้น และยิ่งกดดันหนักเมื่อต้องขาดดุลการค้าจีนเพิ่มขึ้นที่ราว 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และเภสัชภัณฑ์แดนภารตต้องล้อบบี้อย่างหนักให้จีนเปิดตลาดมากกว่าเดิม

จริงๆ แล้วอินเดียอยากเจรจาการค้ากับจีนโดยตรง แต่ถ้าคุยกันจะส่งผลต่อความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ที่อาเซียนกำลังเจรจาอยู่กับคู่ค้าหลัก มีจีนและอินเดียรวมอยู่ด้วย

หลายคนในอินเดียเชื่อว่า สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ และการที่ประชาคมโลกจับจ้องวิธีการทำการค้าของจีน ว่าเป็นโอกาสให้รัฐบาลนิวเดลียกข้อกังวลเรื่องการค้ามาหารือ

การดิ้นรนของหัวเว่ย

อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศใหญ่ที่หัวเว่ย บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่แดนมังกรอยากเข้าไปทำระบบ 5 จี

คาดกันว่าประธานาธิบดีสีจะกดดันนายกฯโมดีให้เปิดไฟเขียว ท่ามกลางการคัดค้านจากสหรัฐที่กังวลว่าอุปกรณ์ของจีนเป็นภัยต่อความมั่นคง

หัวเว่ยเป็นผู้เล่นหลักในตลาดสมาร์ทโฟนอินเดียอยู่แล้ว แต่รัฐบาลนิวเดลียังไม่ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนต่อ 5จีของหัวเว่ย

นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงอินเดียหลายคนกังวลหากปล่อยให้บริษัทจีน เข้ามาในอาณาบริเวณอ่อนไหวเชิงยุทธศาสตร์ แต่สัปดาห์ก่อน สุพรหมณนิยม ไชยศังกระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ปฏิเสธว่า หัวเว่ยไม่ใช่ปัญหาการเมือง อย่างไรก็ตามต้องจัดการด้วยคุณธรรม

ตึงเครียดแคชเมียร์

ความตึงเครียดระหว่างอินเดียกับจีนเพิ่มขึ้นอีกครั้ง หลังจากรัฐบาลนิวเดลียกเลิกสถานะปกครองตนเองของรัฐจัมมูและแคชเมียร์ เมื่อวันที่ 5 ส.ค. จัมมูและแคชเมียร์เป็นดินแดนในแถบหิมาลัยที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ปากีสถานก็อ้างกรรมสิทธิ์ในแคชเมียร์ด้วย ขณะที่จีนก็ควบคุมพื้นที่ส่วนหนึ่งที่อินเดียอ้างกรรมสิทธิ์เช่นกัน

แน่นอนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญของอินเดียต้องถูกจีนวิจารณ์ สร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลโมดี สองประเทศนี้ขัดแย้งกันมานานเรื่องพรมแดนในลาดัค เขตของชาวพุทธที่จะต้องถูกแยกออกจากแคชเมียร์ภายใต้การแก้ไขรัฐธรรมนูญของอินเดีย

ลาดัคนั้นตอนเหนือติดกับซินเจียงของจีน ทางตะวันออกติดกับทิเบต ซึ่งทั้งกองทัพจีนและอินเดียข้ามพรมแดนไปยังพื้นที่ของอีกฝ่ายในลาดัคอยู่บ่อยครั้ง

ขณะเดียวกันอินเดียก็วิจารณ์โครงการสายแถบและเส้นทางของจีน ที่มุ่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโลก และมีโครงการสำคัญอันหนึ่งผ่านเข้าไปในแคชเมียร์ของปากีสถานด้วย

พรมแดนเดือด

นอกจากลาดัคแล้ว อินเดียและจีนยังมีข้อขัดแย้งเก่านานหลายสิบปีเรื่องรัฐอรุณาจัลประเทศ ที่มีพรมแดนติดกับทิเบต สองประเทศเคยทำสงครามกันเมื่อปี 2505 ถึงวันนี้จีนยังคงอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนราว 90,000 ตารางกิโลเมตรที่อยู่ภายใต้การควบคุมของนิวเดลี

พื้นที่นี้ที่มีชาวพุทธและฮินดูเป็นส่วนใหญ่ มีป่าไม้และน้ำตกหนาแน่น และเป็นที่อยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองหลายกลุ่ม

ปี 2560 เพื่อนบ้านทั้งสองเผชิญหน้ากันบนที่ราบสูงดอกลัมของภูฏาน หลังจากกองทัพอินเดียส่งทหารขึ้นไปหยุดยั้งไม่ให้จีนตัดถนนที่นั่น

ดอกลัมเป็นส่วนหนึี่งของพรมแดนที่จีนและภูฏานยังตกลงกันไม่ได้ ส่วนอินเดียก็ถือว่าประเทศเล็กๆ อย่างภูฏานเป็นพันธมิตรใกล้ชิดที่สุดของตนรายหนึ่ง

โมดีกับสีเคยประชุมสุดยอดกันครั้งล่าสุดที่เมืองอู่ฮั่นเมื่อ 2 ปีก่อน ช่วยยุติการเผชิญหน้าลงได้ แต่ดอกลัมยังคงตึงเครียด ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่่ผ่านมาอินเดียซ้อมรบใหญ่ใกล้พรมแดนข้อพิพาทกับจีน 2 ครั้ง

ลีลาการทูต

เท่านั้นยังไม่พอสองชาติยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียยังแข่งกันสร้างอิทธิพลไปทั่วเอเชียใต้ด้วย หลังจากไปอินเดียแล้วคาดว่าสีจะไปเนปาลในวันอาทิตย์ (13 ต.ค.) แต่คู่แข่งเชิงยุทธศาสตร์อย่างอินเดียก็ทำโครงการ และผลักดันสัมพันธ์การทูตในศรีลังกา เนปาล อัฟกานิสถาน เมียนมา และแม้แต่มัลดีฟส์เช่นกัน

แม้การพบกันรอบก่อนสองผู้นำจะหารือกันเรื่องความร่วมมือระดับภูมิภาคที่กว้างขึ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงมีเพียงเล็กน้อย

การที่อินเดียกังวลเรื่องโครงการสายแถบและเส้นทางของจีน จึงไปหนุนการเจรจาความมั่นคง 4 ฝ่ายกับญี่ปุ่น สหรัฐ และออสเตรเลีย ที่พยายามสร้างสายสัมพันธ์ทางการทูตรับมือกับท่าทีรุกหนักของรัฐบาลปักกิ่งเดือนที่แล้วอินเดียได้ร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งแรกในนครนิวยอร์ก

ข่าวเรื่องที่สีกับโมดีจะพบกันมีมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ก่อนที่ทั้งคู่จะพบกัน นายกรัฐมนตรีอิมราน ข่าน ของปากีสถานก็ชิงไปพบสีที่กรุงปักกิ่งเสียก่อน เมื่อวันที่ 8-9 ต.ค.ที่ผ่านมา

สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานเมื่อวันพุธ (9 ต.ค.) ระบุ สีกล่าวว่าเขาจับตาดูสถานการณ์ในแคชเมียร์ ทราบดีว่าอะไรถูกอะไรผิด

“จีนสนับสนุนปากีสถานในการปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของตนเอง และหวังว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถแก้ไขข้อพิพาทได้ด้วยการเจรจาอย่างสันติ” ผู้นำจีนกล่าว

ด้านรวิศ กุมาร โฆษกรัฐบาลอินเดียแถลงว่า รัฐบาลเห็นรายงานข่าวเรื่องการพบกันระหว่างสีกับข่านแล้ว

“จุดยืนของอินเดียชัดเจนไม่เปลี่ยนแปลงว่า จัมมูและแคชเมียร์เป็นของอินเดียทั้งหมด จีนรู้จุดยืนนี้ดี ไม่ใช่เรื่องที่ประเทศอื่นจะมาแสดงความคิดเห็นต่อกิจการภายในของอินเดีย” โฆษกยืนยัน

นอกจากนี้สองผู้นำยังหารือกันเรื่องการเร่งรัดโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (ซีพีอีซี) มูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ ที่เจ้าหน้าที่และผู้สังเกตการณ์บางคนกล่าวว่า โครงการเริ่มแผ่ว ส่วนหนึี่งเป็นเพราะข้อกังวลเรื่องที่ปากีสถานมีหนี้สินก้อนโตและเศรษฐกิจย่ำแย่ จนต้องหันไปพึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้มา 6 พันล้านดอลลาร์เมื่อเดือน ก.ค.

แถลงการณ์ร่วมระบุ ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบเร่งดำเนินโครงการซีพีอีซี เปิดศักยภาพการเติบโตอย่างเต็มที่ เป็นโครงการสาธิตคุณภาพสูงสำหรับโครงการสายแถบและเส้นทาง

ข่านกล่าวว่า รัฐบาลของเขาตั้งองค์การซีพีอีซีขึ้น เพื่อดำเนินโครงการและเตรียมการช่วยให้ท่าเรือน้ำลึกกวาดาร์ ในจ.บาลูจิสถานทางภาคใต้ของประเทศ กลายเป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาค

ข่านไม่ได้เผยรายละเอียดแผนการ แต่ก่อนหน้านั้นในวันเดียวกันสื่อปากีสถานรายงานว่า รัฐมนตรีกระทรวงทะเลประกาศให้บริษัทไชน่าโอเวอร์สซีส์ พอร์ทส โฮลดิง ซึ่งบริหารท่าเรือ ได้รับการยกเว้นภาษี 23 ปี สำหรับการติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์อื่นๆ ในท่าเรือ