ภารกิจ 'แอสเสท เวิรด์' ...ปั้นกำไรให้ทันราคาหุ้น

ภารกิจ 'แอสเสท เวิรด์' ...ปั้นกำไรให้ทันราคาหุ้น

เข้าซื้อขายเป็นที่เรียบร้อยสำหรับ ‘แอสเสท เวิรด์ คอร์ป’ หรือ AWC หุ้นที่มีมูลค่าตลาด (Market Capitalization) สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ณ ราคาไอพีโอ ที่ 1.92 แสนล้านบาท

แต่ในขณะเดียวกันก็ดูเหมือนจะเป็นหนึ่งในหุ้นที่มีอัตรากำไรต่อหุ้น (P/E) สูงเป็นอันดับต้นๆ (277.6 เท่า)  จนหลายฝ่ายตั้งคำถามว่าหุ้น AWC แพงเกินไปไหม?

ในมุมของ บล.เอเชียเวลท์ มองว่า การได้้รับสิทธิในการเข้า SET50 ในวันที่ 11 ต.ค. นี้ ส่งผลให้อาจมีการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนจากกองทุนและสถาบันทั้งในและต่างประเทศต่อหุ้น AWC แต่ด้วยมูลค่าหุ้นที่ค่อนข้างแพงเทียบกับหุ้นในอุตสาหกรรมเดียวกัน อย่าง ซีพีเอ็น (CPN) P/BV 4.3 เท่า และ P/E 26.5 เท่า เซ็นเทล (CENTEL) P/BV 3.3 เท่า และ P/E 21.8 เท่า จึงแนะนำ "เพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน"

สอดคล้องกับ บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส ที่ระบุว่า หากหุ้น AWC สามารถยืนเหนือราคาจอง ควรหาจังหวะทำกำไรระยะสั้น

ทั้งนี้ การซื้อขายในวันแรกของ AWC ราคาหุ้นเปิดเท่ากับราคาไอพีโอที่ 6 บาท ไม่ได้ผิดไปจากที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ก่อนหน้าเท่าใดนัก เพราะนอกจากมูลค่าที่ดูเหมือนจะค่อนข้างแพงแล้ว ปริมาณหุ้นไอพีโอยังสูงถึง 8,000 ล้านหุ้น

โดย นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ AWC เชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วราคาหุ้นจะตอบสนองกับผลประกอบการที่ดีขึ้นได้เอง สอดคล้องกับกลยุทธ์ที่ต้องการจะเป็นหนึ่งในหุ้นเติบโต (Growth Stock) ของไทย

157071298355

สำหรับมุมมองอีกฟากหนึ่งของนักวิเคราะห์์ เชื่อว่าจะได้เห็นการเติบโตของ AWC ต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้ จากจุดแข็งของการได้สิทธิในการได้รับข้อเสนอก่อน (ROFO) และสิทธิในการปฏิเสธก่อน(ROFR) เพื่อเข้าถึงสินทรัพย์ของทีซีซี กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่ในประเทศไทย

บล.กสิกร เปิดเผยว่า ขณะนี้ AWC กำลังศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการที่จะเข้าซื้อ จำนวน 20 โครงการ ซึ่งเป็นประเภท Freehold ทั้งหมด ด้วยประมาณการพื้นที่อาคารรวม 11.5 ล้านตารางเมตร และยังมีอีก 7 โครงการที่ไม่ได้อยู่ภายใต้สิทธิ ROFR ซึ่งได้แก่ วัน แบงค็อก, สามย่านมิตรทาวน์, เดอะ ปาร์ค, ซีดับเบิ้ลยูทาวเวอร์, ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์, เดอะ สตรีท และดับเบิ้ลยู โฮเทล

โดยรวมแล้วคาดว่ากำไรสุทธิจะเติบโตเฉลี่ย 87% ต่อปี ระหว่างปี 2562 – 2564 โดยค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่น้อยลงจากการขายหุ้นไอพีโอ จะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยหนุนการเติบโต โดยธุรกิจโรงแรมและการบริการจะเป็นแหล่งรายได้หลักในสัดส่วนราว 61% ส่วนมูลค่ายุติธรรมในปี 2563 อยู่ที่ 1.92 – 2.29 แสนล้านบาท (เทียบกับราคาหุ้นละ 6.20 – 7.40 บาท)

บล.เคที ซีมิโก้ ประเมินว่า มูลค่าหุ้นของ AWC ในปี 2563 น่าจะอยู่ในช่วง 1.95 – 2.09 แสนล้านบาท ทั้งนี้ คาดการณ์กำไรสุทธิเติบโตเฉลี่ย 37% ระหว่างปี 2562 – 2565 ปัจจัยหลักมาจากรายได้กลุ่มโรงแรมที่จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 13.3% ต่อปี จากการซื้อสินทรัพย์และปรับปรุงพัฒนาเพิ่มเติม ส่วนรายได้ค่าเช่าจากอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 13.6% ใน 3 ปีข้างหน้า

สำหรับอัตราหนี้สินต่อทุนสุทธิที่ 2.4 เท่า คาดว่าจะลดลงเป็น 0.92 เท่า ในสิ้นปีนี้ เพราะส่วนของผู้ถือหุ้นที่เพิ่มขึ้นจากไอพีโอ และการนำเงินไปชำระหนี้บางส่วน

เรียกได้ว่าเป็นกระแสที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับ AWC "หุ้นมหาชน" น้องใหม่ของไทย กับการเป็นหุ้นเรือธงอีกตัวในทีซีซี กรุ๊ป ของ ‘เสี่ยเจริญ’ ซึ่งมีความท้าทายรออยู่ว่าจะ "ปั้นกำไร" ให้เติบโตได้เท่ากับความคาดหวังของนักลงทุนหรือไม่