การทำเพื่อคนอื่นไม่ใช่เรื่องยาก

การทำเพื่อคนอื่นไม่ใช่เรื่องยาก

ทุกคนสามารถเป็น “พลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม” (Active Citizen) ได้ด้วยการช่วยเหลือสังคมในรูปแบบต่างๆ ตามความถนัด ความสนใจ และเป็นเครือข่ายร่วมกันสร้างพื้นที่ให้คนทำไทยทำเพื่อส่วนรวม ร่วมแก้ปัญหาสังคมที่เป็นรูปธรรม

ปี 2556 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และมูลนิธิเพื่อคนไทย ริเริ่มงาน “คนไทยขอมือหน่อย”เป็นครั้งแรกก่อนขยายสู่ความร่วมมือและก่อเกิดงาน Good Society Expo หรือ GSE เป็นกลไกสร้างพลเมืองที่มีส่วนร่วม งาน“Good Society Expo 2019 :รวมหนึ่งแรง เป็นล้านพลัง” ระหว่างวันที่ 10-13 ต.ค.2562 ณ บริเวณศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ พื้นที่ทำให้ประชาชนร่วมแก้ปัญหาสังคมที่เป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็น ด้านเด็กและเยาวชน คนพิการ คุณภาพชีวิตระยะสุดท้าย สิ่งแวดล้อม และคอร์รัปชัน ซึ่งมี 130 กว่าองค์กรเข้าร่วมเป็นหนึ่งแรงกลายเป็นล้านพลัง


นายสรวิศ ไพบูลย์รัตนากร ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Saturday school กล่าวว่าเด็กไทยเข้าระบบการศึกษาประมาณ 1 ล้านคน แต่เมื่อดูจำนวนจบการศึกษาระดับอุดมศึกษามีเพียง 3 แสนคน แสดงว่ามีเด็กอีกจำนวนหนึ่งหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งการพัฒนาระบบการศึกษาหรือการแก้ปัญหาการศึกษา ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของครู และกระทรวงศึกษาธิการอย่างเดียวไม่ได้ แต่ทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วม

      “Saturday school และภาคีเครือข่ายทางด้านการศึกษา ได้เปิดพื้นที่ให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็กและเยาวชนทั้งด้านทักษะ และคุณภาพชีวิต โดยแต่ละคนไม่ว่าจะมีทักษะด้านไหน สามารถร่วมแรงได้เข้ามาสอนช่วยสอน หรือเป็นกระบอกเสียงให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่แสดงความคิดเห็นส่งไปถึงภาครัฐ ศธ.”นายสรวิศ กล่าว

นายอภิชาติ การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม กล่าวว่าความเหลื่อมล้ำทางโอกาสของกลุ่มผู้พิการเป็นปัญหาใหญ่ เพราะเป็นกลุ่มที่เข้าถึงโอกาสยากที่สุดกลุ่มหนึ่งของสังคม งานของมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมพร้อมด้วยเครือข่าย ได้ทำหน้าที่เชื่อมโยงโอกาสให้แก่ผู้พิการที่ตกหล่น โดยเฉพาะกลุ่มของผู้พิการที่สามารถทำงานในรูปแบบต่างๆ ได้

ตามกฎหมายกำหนดให้สถานประกอบการที่มีคนงาน 100 คนขึ้นไป ต้องจ้างคนพิการ 1 คน แต่ในความเป็นจริงสถานประกอบการไม่สามารถจ้างคนพิการ ที่มีความรู้ความสามารถตรงกับที่สถานประกอบการต้องการได้ ทำให้แต่ละปีมีผู้พิการตกหล่นไม่ทำงานประมาณ 20,000 อัตรา การทำงานของเครือข่ายจึงได้พยายามสร้างความเข้าใจกับสถานประกอบการและให้ภาครัฐประชาสัมพันธ์ให้ภาคเอกชนได้รับทราบการนำเงินไปจ้างงานผู้พิการไปทำงานอื่นๆ ที่อาจจะนอกเหนือในสถานประกอบการ แต่เป็นการช่วยคนพิการให้มีงานทำ อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือคนพิการต้องเกิดจากความร่วมมือ เอาจริงเอาจังทั้งในส่วนรัฐบาล ภาคเอกชน และประชาชนทุกคน เพราะจะรอให้ภาครัฐทำงานอย่างเดียวคงไม่ได้

   

ขณะที่ด้านสิ่งแวดล้อม อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ในสังคมไทยที่ทุกคนได้รับผลกระทบ นางกิติยา โสภณพนิช เลขาธิการมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีมาก เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใกล้ตัวคน เช่น ควัน PM 2.5 ขยะพลาสติก แต่เป็นเรื่องที่แก้ยาก เพราะต้องเปลี่ยนความเคยชิน เช่น แก้วกาแฟในมือแต่ละคน หรือถุงข้าวแกง ทุกคนจะเข้าใจว่าทำไมแต่เป็นเรื่องยากที่จะร่วมแก้ปัญหา เนื่องจากเป็นเรื่องที่ต้องใช้พลังของทุกคนในการแก้ปัญหา

อย่างไรก็ตาม วิธีการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นกิจกรรมที่ทุกคนสามารถเข้าร่วมได้ โดยเริ่มจากการสำรวจตัวเอง เช่น พลาสติกแต่ละวันคนๆ หนึ่งใช้มากน้อยขนาดไหน และตัวเราเองสามารถทำอะไรได้บ้างในการร่วมลด เลิก ละการใช้พลาสติก ซึ่งในงานครั้งนี้ทุกคนจะได้เห็นปัญหา และวิธีการแก้ปัญหามากมาย รวมถึงทุกคนร่วมแก้ปัญหาขยะพลาสติกได้เพียงเริ่มด้วยตนเอง

มาถึงคอร์รัปชัน อีกปัญหาที่หยั่งรากลึกในสังคมไทยมาช้านาน เพราะถึงจะมีโครงการมากมาย ทั้งปลุกพลังต้านโกงต้านคอร์รัปชันปลูกฝังแก่คนทุกรุ่นทุกวัยแต่ปัญหาก็ยังคงอยู่ นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่าทุกคนล้วนได้รับผลกระทบและเดือดร้อน เช่น รถเมล์ ระบบขนส่งมวลชนที่สร้างปัญหามานานมาก ทุกคนต้องทนกับควันดำ หรือการโกงกินค่าอาหารกลางวันเด็ก หรือปัญหาการเข้าถึงระบบสาธารณสุขไม่ได้ ยาแพง

ปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาคอร์รัปชัน ที่อาจจะรู้ทั้งเบื้องหลังว่าใคร และไม่รู้ ทุกคนจึงต้องช่วยกันจับตามอง ทำให้ทุกอย่างโปร่งใส ช่วยกันเปิดโปงพูดเรื่องคอร์รัปชันอย่าปล่อยให้ทุกอย่างเป็นเรื่องผ่านไป ตอนนี้สิ่งที่กำลังขาดในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ คือ การทำให้ข้อมูลที่มีอยู่มากมายเข้าสู่ระบบดิจิทัลที่หลายๆ คนสามารถเข้าไปอ่าน ทำความเข้าใจ และร่วมกันต้านโกงได้ ภายในงานครั้งนี้ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ร่วมกันใส่ข้อมูลให้แก่ภาครัฐ เพื่อรวมกันแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น

คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ผู้ก่อตั้งและประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด กล่าวว่าคุณภาพชีวิตระยะท้าย เป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องเข้าใจ และต้องพยายามไม่ให้เกิดปัญหานี้ ทุกคนเข้าใจว่าการตายเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ทำให้อย่างไรให้ไม่ต้องตายอย่างทรมาน หรือเจ็บปวดน้อยที่สุด และทำอย่างไรให้คนในกลุ่มนี้ได้รับการดูแลที่ดี 

เพราะขณะนี้แม้แต่เตียงในโรงพยาบาลต่างๆ ผู้ป่วยยังหายากมาก มีคนในกรุงเทพที่ตายที่บ้านจำนวนมากโดยที่ไม่ได้เข้าถึงการรักษา สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กๆ ที่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐ และภาคประชาสังคมในการทำให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างคุณภาพชีวิตระยะท้ายของแต่ละคนให้มีคุณภาพชีวิตดี หรือมีคนดูแลคนเหล่านี้