กว่าคนหนึ่งจะฆ่าตัวตายได้ต้องเกิดจากอะไร ??

กว่าคนหนึ่งจะฆ่าตัวตายได้ต้องเกิดจากอะไร ??

“รวมพลังป้องกันการฆ่าตัวตาย”หรือ Working Together to Prevent Suicide คือ ธีมหลักที่องค์การอนามัยโลก(WHO)กำหนดให้เป็นทิศทางรณรงค์และขับเคลื่อนงาน เนื่องในวันสุขภาพจิตโลก ประจำปี 2562 ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ตุลาคม ของทุกปี

ที่สำคัญปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและเยาวชน มีตัวเลขที่สูงขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องของการเรียน เศรษฐกิจ ครอบครัว การใช้เทคโนโลยี หรือแม้แต่การเมือง โดยสถานการณ์ในภาพรวมระดับประเทศของไทยพบว่ามีคนพยายามฆ่าตัวตายปีละประมาณ 53,000 ราย หรือ 9.55 ราย ต่อนาที และมีการฆ่าตัวตายสำเร็จปีละราว 4,000 รายหรือ 1 รายในทุกๆ 2 ชั่วโมง ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เพียงแต่มีแนวโน้มพบการทำร้ายตัวเองมากขึ้นในคนที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปีลงมา

ทั้งนี้รายงานองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าในปี 2560 มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั่วโลก 322 ล้านคน หรือกว่าร้อยละ 4.4 ของประชากรโลก ขณะที่ประเทศไทยติดอันดับต้นๆ ฆ่าตัวตายสูง เฉลี่ย 6 คนต่อแสนประชากร โดยผู้หญิงเสี่ยงป่วยซึมเศร้ามากกว่าผู้ชาย 1.7 เท่า ซึ่งทางการแพทย์ยืนยันว่า โรคซึมเศร้า เป็นส่วนหนึ่งจากการทำงานของระบบสมองที่ผิดปกติ ดังนั้นการทำความเข้าใจภาวะซึมเศร้าจึงมีความสำคัญทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน และสังคม เพื่อป้องกันผลกระทบและความสูญเสียให้ได้มากที่สุด เพราะหากไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิต การทำงาน ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าที่รุนแรงมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่เข้าไม่ถึงการบำบัดรักษาด้านสุขภาพจิตได้โดยตรง เนื่องจากสถานพยาบาลมีการตีความมาตรา 21 พ.ร.บ.สุขภาพจิตแห่งชาติ พ.ศ. 2551 แตกต่างกัน ทำให้เยาวชนจำนวนหนึ่งเข้าไม่ถึงบริการ บางรายมีอาการรุนแรงถึงขั้นทำร้ายตัวเอง ซึ่งวานนี้ (10 ต.ค.)  เครือข่ายสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยเยาวชนเลิฟแคร์ ตัวแทนเด็กและเยาวชน เดินทางมายื่นหนังสือต่อนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ 

คือ 1. ขอให้กรมสุขภาพจิตทำหนังสือเวียนถึงหน่วยบริการในสังกัดกรมสุขภาพจิตและหน่วยบริการที่มีบริการด้านจิตเวช เพื่อชี้แจงและซักซ้อมแนวปฏิบัติในกรณีผู้ที่อายุไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์สามารถเข้ารับการบำบัดรักษาได้ โดยไม่ต้องมีผู้ปกครองให้ความยินยอม ยกเว้นกรณีที่ต้องรับไว้รักษาในสถานพยาบาลหรือสถานบำบัดให้ชัดเจน

    2.ขอให้ผู้รับบริการเข้ารับการรักษาได้ในทุกหน่วยบริการที่มีบริการด้านจิตเวช เพื่อลดขั้นตอนในการทำเรื่องขอใบส่งตัวจากสถานพยาบาลตามสิทธิ์ ในกรณีที่ไม่มีบริการด้านจิตตเวช เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการรักษาที่รวดเร็วและไม่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วย และ3.ขอให้มีตัวแทนเด็กและเยาวชนในคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ หรือคณะทำงานด้านนโยบายสุขภาพจิต เพื่อเสนอประเด็นปัญหาที่มีผลต่อเรื่องสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชน รวมถึงในการวางแนวทางปฎิบัติที่เด็กและเยาวชนนั้นมีส่วนได้ส่วนเสีย

     

อย่างไรก็ตาม นายสาธิต กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเน้นการใส่ใจรับฟังคนรอบข้างให้มากขึ้นและในปี 2563 กรมสุขภาพจิตจะมีการเปิดคู่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพิ่มขึ้นจาก 10 คู่สายเป็น 20 คู่สาย อาจจะยังน้อยอยู่ แต่การทำงานเรื่องนี้ต้องการคนที่เชี่ยวชาญจริงๆ และจะมีการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา การปล่อยวาง เข้าใจ ก้าวข้าม เเละรู้จักความผิดหวัง มาให้เยาวชนได้เรียนรู้ เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันในการใช้ชีวิต โดยได้ตั้งงบประมาณไว้แล้ว เเละจะนำมาเริ่มใช้ในปี 2563 

ดร.จารุวรรณ สกุลคู อาจารย์สาขาวิชาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่ากว่าที่คน ๆ หนึ่งจะไปถึงจุดที่ฆ่าตัวตายได้ มันมีปัจจัยหลายอย่างเข้าไปกระตุ้น ไม่ว่าจะเป็นคนวัยทำงานที่ต้องแบกรับความรับผิดชอบ การหาความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและหน้าที่การงาน ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาทางการเงิน ปัญหาการตกงาน รวมถึงการดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม มีความรุนแรง  ความท้าทายของแต่ละช่วงวัย เช่น วัยรุ่น เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ การค้นหาตัวเอง หรือวัยทำงาน-วัยเกษียณ ที่จะมีเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสุขภาพ และการเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่ทางสังคม ฯลฯ

เหล่านี้ นับเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความอ่อนไหว และเร่งเร้าให้เกิดความเครียด ความกดดัน วิตกกังวล อารมณ์เศร้า ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเท่าทันแล้วก็จะนำไปสู่การป่วยเป็นโรคทางจิตเวชได้ ในทางกลับกันหากเราช่วยกันสร้างสังคมที่ดี สังคมที่ปลอดภัย ก็จะทำให้สุขภาพจิตของคนในสังคมดีขึ้น ซึ่งการมาพบนักจิตวิทยานั้นไม่จำเป็นต้องรอจนกระทั่งล้มป่วย เพียงแค่รู้สึกว่ามีเรื่องที่อยากจะมีคนช่วยคิด อยากให้ใครฟัง หรือมีเรื่องที่ไม่สบายใจ ก็สามารถมาพบนักจิตวิทยาได้แล้ว

นอกจากนี้ หากต้องการได้ความเห็นจากคนที่เราไม่รู้จักเลย ก็สามารถพูดคุยกับนักให้คำปรึกษา(Counselors)ได้ ซึ่งการพูดคุยกับนักจิตวิทยานั้นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่เรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาหรือคับข้องใจเท่านั้น หากแต่ผู้ที่ต้องการพัฒนาตัวเอง ยกระดับศักยภาพตัวเอง รวมไปถึงการปฏิบัติตัวเพื่อให้ห่างไกลจากการเจ็บป่วย หรืออยากมีสุขภาพจิตเชิงบวก ก็สามารถพูดคุยกับนักจิตวิทยาได้ทั้งสิ้น

มารู้จักโรคทางจิตเวช

      แพทย์หญิงมุทิตา พนาสถิต รองหัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โรคทางจิตเวชคือความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับการควบคุมอารมณ์ กระบวนการคิด หรือพฤติกรรม โดยจะแสดงออกผ่านทางอารมณ์ ความคิด พฤติกรรมที่ผิดปกติจนกระทบต่อชีวิตประจำวัน หรือความสัมพันธ์กับผู้อื่น 

มีสาเหตุมาจากทั้งการพัฒนาการของสมองที่ผิดปกติ ความผิดปกติของสารสื่อประสาท รวมถึงปัจจัยทางจิตสังคม เช่น ปัญหาในชีวิต การเลี้ยงดู ลักษณะนิสัย และประสบการณ์ในอดีต สำหรับโรคทางจิตเวชนั้นมีหลายโรค อาทิกลุ่มโรคจิต (psychotic disorders)ได้แก่ โรคที่มีอาการประสาทหลอน หูแว่ว ความคิดหลงผิด หรือพฤติกรรมแปลก ๆ ที่ไม่สมเหตุผล โดยผู้ป่วยในกลุ่มโรคนี้จะไม่สามารถแยกแยะความจริงได้ ฉะนั้นส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังป่วย ขณะที่ผู้ป่วยด้วยกลุ่มโรคอื่น ๆ เช่นกลุ่มโรคทางอารมณ์ (mood disorders)ได้แก่ โรคซึมเศร้า (depressive disorders) โรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar disorders) รวมไปถึงกลุ่มโรควิตกกังวล(anxiety disorders)มักจะรู้ตัวว่าตัวเองกำลังผิดปกติไปจากเดิม

“คนทั่วไปอาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อนระหว่างอารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้นเป็นปกติ กับอารมณ์เศร้าที่เป็นอาการจากโรค แต่เมื่อใดก็ตามที่อาการเหล่านั้นส่งผลกระทบหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ก็จำเป็นต้องให้แพทย์ทำการวินิจฉัยเพื่อให้การรักษาต่อไป” พญ.มุทิตา กล่าว

ทั้งนี้ปัจจุบันมีช่องทางทดสอบภาวะซึมเศร้าผ่านช่องทางต่างๆ เช่น แอปฯ “สบายใจ” หรือสายด่วนสุขภาพจิต 1323 โดย 5 อันดับ เรื่องที่เด็กและเยาวชนปรึกษามากที่สุด ได้แก่ ความเครียด หรือ วิตกกังวล ปัญหาทางจิตเวช ปัญหาความรัก ปัญหาซึมเศร้า และปัญหาครอบครัวทั้งนี้โรคซึมเศร้าสามารถรักษาได้ด้วยยาแผนปัจจุบัน การรักษาทางจิตใจ รวมถึงแพทย์ทางเลือกอย่างสมุนไพรเช่น ขมิ้นชัน บัวบก น้ำมันรำข้าวและจมูกข้าวน้ำมันรำข้าว และฟักทอง โดยสามารถใช้สิทธิการรักษาทั้งประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ