‘ปูนใหญ่’ นิวโลว์รอบเกือบ 6 ปี พิษเทรดวอร์-ฉุดปิโตรฯ กระอัก

‘ปูนใหญ่’ นิวโลว์รอบเกือบ 6 ปี  พิษเทรดวอร์-ฉุดปิโตรฯ กระอัก

ช่วงนี้หุ้นบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ดูสัญญาณไม่ค่อยจะสู้ดีเท่าไหร่ หลังราคาหุ้นปรับลงต่อเนื่อง

จนหลุดแนวรับสำคัญที่ 400 บาท ซึ่งเป็นจุดวัดใจของใครหลายคน เพราะก่อนหน้านี้ลงมาหลายครั้งก็ยังรับอยู่ เด้งกลับขึ้นไปได้ แต่รอบนี้ราคากลับไหลไม่หยุด ดูแล้วน่าหวั่นใจไม่น้อย

เดือนนี้หุ้น “ปูนใหญ่” ถูกขายมาแล้ว 6 วันทำการติดต่อกัน ราคาหุ้นดิ่งรวมกว่า 9% ทำจุดต่ำสุดใหม่ในรอบเกือบ 6 ปี โดยปิดการซื้อขายล่าสุดวานนี้ (10 ต.ค.) ที่ 372 บาท ลดลง 13 บาท หรือ 3.38% ด้วยมูลค่าการซื้อขายกว่า 3 พันล้านบาท

สำหรับนักลงทุนที่ถือหุ้นมาตั้งแต่ต้นปีที่ราคา 436 บาท เท่ากับว่าตอนนี้ขาดทุนไปแล้ว 64 บาท ส่วนใครที่เข้ามาช่วงพีคๆ ปลายเดือนมี.ค. ที่ราคา 490 บาท ปัจจุบันคงชีช้ำไม่น้อย เพราะเข้าเนื้อไปแล้วเกิน 100 บาท

ถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับปูนใหญ่ ? .... ต้องยอมรับว่าปีนี้ยังไม่ใช่ปีที่ดีสำหรับบริษัท ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ดูแล้วไม่น่าจะจบลงง่ายๆ หลังเหตุการณ์ยืดเยื้อมามากกว่า 1 ปี ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจปิโตรเคมีซบเซากันไปทั้งอุตสาหกรรม เพราะจีนถือเป็นตลาดใหญ่ เป็นผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเบอร์ต้นๆ ของโลก

เปิดงบการเงินดูจะเห็นว่าปัจจุบันธุรกิจเคมิคอลส์คิดเป็นสัดส่วนถึง 54% ของกำไรรวมทั้งบริษัท ณ สิ้น 6 เดือนแรก ปี 2562 ตามด้วยธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง 21% แพคเกจจิ้ง 15% และอื่นๆ อีก 10% ดังนั้น เมื่อธุรกิจหลักซึ่งมีสัดส่วนเกินครึ่งต้องเผชิญกับสารพัดปัจจัยเสี่ยง กดดันผลประกอบการลดลงฮวบฮาบ จึงสะเทือนไปทั้งบริษัท

ครึ่งปีแรกธุรกิจเคมิคอลส์รายได้จากการขายลดลง 16% มาอยู่ที่ 92,235 ล้านบาท และมีกำไร 10,048 ล้านบาท ลดลง 38% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาสินค้าปรับตัวลดลง จากความกังวลสงครามการค้า กดดันเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีลดลงไปด้วย ประกอบกับค่าเงินบาที่แข็งค่ากระทบรายได้จากการส่งออก

ส่วนธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างดูจะทรงๆ ตัวไม่หวือหวา มีรายได้จากการขาย 94,238 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ยังพอได้ปัจจัยหนุนจากตลาดปูนซีเมนต์ในประเทศที่ขยายตัวเล็กน้อย ด้านธุรกิจแพคเกจจิ้งปริมาณความต้องการลดลง ทั้งในกลุ่มบรรจุภัณฑ์และกระดาษ สวนทางอุปทานที่ยังมีอยู่เยอะ

เมื่อรวมทุกธุรกิจ 6 เดือนแรกที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้จากการขายรวม 221,473 ล้านบาท ลดลง 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิรวม 18,706 ล้านบาท ลดลง 25% เรียกว่ายังไม่ถึงครึ่งทางของกำไรปีก่อนที่ 44,748 ล้านบาท

อีกครึ่งปีที่เหลือดูแล้วยังเหนื่อย แม้ไตรมาส 3 นี้ จะเริ่มบุ๊คส่วนแบ่งรายได้จาก Fajar ยักษ์ใหญ่บรรจุภัณฑ์ของอินโดนีเซียเข้ามา หลังทุ่มเงินไปกว่า 2 หมื่นล้าน เข้าซื้อกิจการเมื่อกลางปี แต่ยังไม่น่าชดเชยผลกระทบจากธุรกิจปิโตรเคมีที่อยู่ในช่วงวัฏจักรขาลงไปได้ และน่าจะซึมยาวต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี

เมื่อภาพธุรกิจยังไม่สวย กดราคาหุ้นไหลไม่หยุด เชื่อว่าหลังประกาศงบฯ ไตรมาส 3 ปี 2562 น่าจะมีการหั่นประมาณการผลประกอบการกันใหม่ ดังนั้น นักลงทุนท่านไหนที่รับความเสี่ยงไม่ค่อยได้ ช่วงนี้อาจรอดูท่าทีไปก่อน ไม่ต้องรีบร้อน รอนิ่งๆ สะเด็ดน้ำมากกว่านี้ก็คงไม่สาย

ด้านบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ระบุว่า ธุรกิจปิโตรเคมียังอยู่ในช่วงขาลง และมีโอกาสเลวร้ายลงอีก โดยปัจจุบันสเปรด เอชดีพีอี (HDPE) - แนฟทา (Naphtha) ลงมาต่ำกว่าจุดคุ้มทุนของอุตสาหกรรมที่ 400-450 ดอลลาร์ต่อตัน กดดันกำไรธุรกิจปิโตรเคมีไตรมาส 4 ปี 2562 ชะลอตัวลงต่อเนื่อง

ฝ่ายวิจัยได้ปรับลดประมาณการกำไรปี 2562 ลง 10% เหลือ 34,443 ล้านบาท ลดลง 23% จากปีก่อน และ ปี 2563 ลง 11% เหลือ 39,064 ล้านบาท ลดลง 13% จากปีก่อน ทำให้ราคาเป้าหมายลดลงเหลือ 425 บาท จากเดิมที่ 478 บาท และปรับคำแนะนำจาก ซื้อ เป็น ถือ เพื่อรอให้ปัจจัยลบผ่อนคลายลงก่อน