ศุลกากรเผย ไทยนำเข้า 'รถหรู' ทะลุ 100%

ศุลกากรเผย ไทยนำเข้า 'รถหรู' ทะลุ 100%

"ศุลกากร" เก็บรายได้ปีนี้เกินเป้า เผย 10 เดือนแรก นำเข้ารถยนต์สูงกว่าปีก่อน 102% เหตุอั้นจากปี 61 ที่สะดุดคดีรถหรูจาก "ดีเอสไอ" ปีหน้ายังมั่นใจเก็บได้ตามเป้า

วันนี้ (10 ต.ค.) นายชัยยุทธ คำคุณ โฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า การจัดเก็บรายได้กรมศุลกากรประจำปีงบประมาณ 2562 สามารถจัดเก็บได้ 108,523 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 8,523 ล้านบาทจากที่ตั้งไว้ 100,000 ล้านบาทหรือ 8.5% และสูงกว่าคาดการณ์ 523 ล้านบาทจากที่ตั้งไว้ 108,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.5% ซึ่งเป็นผลจากการจัดเก็บรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่สามารถจัดเก็บได้ 12,816 ล้านบาท

ในจำนวนนี้เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีอากรนำเข้ารถหรูที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในช่วง 10 เดือนปีนี้ โดยเฉพาะรถยนต์ยี่ห้อ "ปอร์เช่" และ "เบนท์ลีย์" ที่จัดเก็บได้เพิ่มกว่าปีงบประมาณ 2561 ถึง 102.9% และ "บีเอ็มดับเบิลยู" 18% สาเหตุเพราะกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอคุมเข้มการนำเข้ารถหรูในปี 2561 ทำให้เกิดการชะลอตัวในปีที่ผ่านมา

ขณะที่การจัดเก็บรายได้ส่วนประกอบรถยนต์สามารถจัดเก็บได้ 8,164 ล้านบาท ยารักษาโรคจัดเก็บได้ 4,346 ล้านบาท เครื่องสำอางจัดเก็บได้ 2,308 ล้านบาท และรถยนต์โดยสารจัดเก็บได้ 2,150 ล้านบาท ส่วนการจัดเก็บรายได้แทนหน่วยงานอื่น จัดเก็บได้จำนวน 479,935 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7,330 ล้านบาทหรือ 1.6% โดยแบ่งเป็นจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 326,114 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,088 ล้านบาท หรือ 1% และภาษีสรรพสามิต 106,897 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,531 ล้านบาท หรือ 3.4%

157070010818

“การจัดเก็บรายได้ภาษีในปีงบประมาณ 2563 คาดว่า จะยังสามารถจัดเก็บได้ตามประมาณการที่ตั้งไว้ที่ 111,000 ล้านบาท โดยรายได้ภาษีหลักยังคงเป็นภาษีนำเข้ารถยนต์ ส่วนประกอบรถยนต์ ยารักษาโรค และเครื่องสำอาง โดยยืนยันอธิบดีกรมศุลกากรให้ความสำคัญและเร่งรัดการจัดเก็บให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้” นายชัยยุทธระบุ

ส่วนการเร่งรัดปราบปราม การลักลอบและหลีกเลี่ยงนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิผ่านพิธีการศุลกากรนั้น ในปีงบประมาณ 2562 กรมศุลกากรตรวจพบการกระทำผิดตามกฎหมายศุลกากรหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากรได้ทั้งสิ้น 32,255 คดี ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2,784 ล้านบาท เป็นจำนวนคดีจากการลักลอบ 20.7% คิดเป็นมูลค่าจากการกระทำผิดกรณีลักลอบ 65.2% เป็นจำนวนคดีจากการหลีกเลี่ยง 79.3% คิดเป็นมูลค่าจากการกระทำผิดผิดกรณีหลีกเลี่ยง 34.8%

ทั้งนี้มีสินค้าที่มีมูลค่าการลักลอบนำเข้าที่สำคัญได้แก่ ยาเสพติดประเภท เมทแอมเฟตามีน และยาเสพติดประเภท โคคาอีน ส่วนสินค้าที่มีมูลค่าการลักลอบส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ยาเสพติดประเภท เมทแอมเฟตามีน รถยนต์ สำหรับขนส่งบุคคลเป็นหลัก และยาเสพติดประเภท เคตามีน

ขณะที่การให้บริการรับชำระค่าภาษีอากรทางอิเล็กทรอนิกส์  โดยผ่านช่องทางการให้บริการของธนาคารและตัวแทนรับชำระ หรือ ระบบ Bill Payment นั้น ส่งผลให้ในช่วง 10 เดือนที่ดำเนินการมา ทำให้ผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการสามารถลดค่าใช้จ่าย ได้ถึง 334.37 บาท ต่อ 1 ใบขนสินค้า หรือปีละ 286 ล้านบาท และจากสถิติการใช้ระบบดังกล่าวในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการพิมพ์ใบเสร็จรับเงินด้วยตนเอง เป็นจำนวน 1,848,947 ฉบับ คิดเป็น 99.93% ของจำนวนใบเสร็จรับเงินที่รับชำระด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด