CLMVT พึ่งศก.หมุนเวียน-เพิ่มขีดแข่งขัน

CLMVT พึ่งศก.หมุนเวียน-เพิ่มขีดแข่งขัน

ชาติสมาชิกกลุ่มCLMVT พึ่งพาเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันและดันจีดีพีให้ขยายตัวต่อเนื่อง

เศรษฐกิจหมุนเวียน ช่วยกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)ให้สูงได้ นี่เป็นแนวคิดหลักที่ถูกชูขึ้นในเวทีเสวนาเรื่อง “สถานการณ์ในอนุภูมิภาค CLMVT (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) ต่อการขับเคลื่อนไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน” ที่จัดโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (จีไอแซด)

เยอรมนี เป็นสมาชิกในสหภาพยุโรป (อียู) ที่ประสบความสำเร็จในการผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียน และหวังถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับอนุภูมิภาค CLMVT หลังจากที่ในปี 2561 เยอรมนี มีจีดีพีเติบโตสูงถึง 2.2% เป็นไปตามที่คณะกรรมาธิการอียูคาดการณ์ไว้ว่า ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจะช่วยเพิ่มผลผลิตได้ 30% ภายในปี 2573

ดังนั้นจะเห็นว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่เพียงส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัว เพิ่มจำนวนการจ้างงาน เสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขัน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่พึ่งพาเทคโนโลยี ซึ่งกระบวนการผลิตภายใต้แนวคิดดังกล่าว จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มรายได้จากเทคโนโลยีที่ใช้วัตถุดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งยังทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ด้านการจัดการขยะด้วย

เถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวว่า ปัจจุบัน คนไทยมีความตื่นตัว ในการปฏิรูปการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน (เอสซีพี) ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวปฏิบัติเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และปรับใช้กับนโยบายระดับชาติ เป็นแผนขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนในปัจจุบันไปจนถึงปี 2579

เถลิงศักดิ์ ชี้ว่า ไทยได้เรียนรู้แผนการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจสีเขียวของเยอรมนี และรณรงค์ให้ภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการขึ้นทะเบียนสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และจะได้รับฉลากเขียวที่มีสัญลักษณ์รูปหน้าเด็กยิ้ม ต้นไม้และนกที่อยู่ร่วมกันในโลกสีเขียว สำหรับติดบนสินค้าเพื่อสื่อสารให้ผู้บริโภครู้ว่า สินค้านี้ ได้รับการรับรองว่ามีองค์ประกอบ กระบวนการผลิต การใช้ ตลอดจนถึงการทิ้งทำลายที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม น้อยกว่าสินค้าประเภทเดียวกันที่ไม่ได้รับการรับรอง

“ฉลากเขียวไม่ได้เป็นเงื่อนไขในการกีดกันทางการค้าหรือการตลาด แต่จัดตั้งขึ้นเพื่อป้องกันและปรับปรุง สภาพแวดล้อมภายในประเทศ ดังนั้น ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศก็มีสิทธิ์สมัครขอใช้ฉลากเขียวเช่นเดียวกับผู้ผลิตภายในประเทศภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน ซึ่งจะเป็นการสร้างกระแสเทรนด์ใหม่ให้กับสินค้าในตลาด” เถลิงศักดิ์ กล่าวย้ำ

เต็ง เมียน เจย อธิบดีกรมเศรษฐกิจสีเขียว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติของกัมพูชา เล่าว่า "ในประเทศกัมพูชายังไม่มีการดำเนินนโยบายขยะเหลือศูนย์ (zero waste) แต่เป้าหมายแรกของเราเป็นการลดจำนวนขยะพลาสติกในประเทศให้น้อยลงที่สุด โดยเฉพาะมุ่งการรีไซเคิลขยะพลาสติกเหลือทิ้งให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ "

เต็ง เมียน เจย กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน กัมพูชาเป็นแหล่งอุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอ และเสื้อผ้าส่งออกที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งในแต่ละปีมีเส้นใยและเศษผ้าเหลือทิ้งหลายร้อยตัน ทำให้กัมพูชา ต้องพยายามเรียนรู้ประสบการณ์จากประเทศที่พัฒนาแล้วในยุโรปที่เจอสถานการณ์ในลักษณะเดียวกัน หวังให้เกิดปฏิรูปการผลิตและใช้ประโยชน์จากขยะเหลือทิ้ง โดยในอนาคตจะขยายให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว บริการ และโรงแรม ก็เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะเริ่มต้นกับธุรกิจที่เป็นรายได้หลักของประเทศ

ด้านนาคริน วาราสอน เจ้าหน้าที่อาวุโส กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของลาว บอกว่า รัฐบาลลาวได้รณรงค์ลดการใช้พลาสติกอย่างจริงจัง แต่ดูเหมือนจะสวนทางกับความเป็นไปในสังคม เพราะตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต และคนในสังคมยังใช้ถุงและบรรจุภัณฑ์พลาสติก นอกจากนี้เรายังเห็นขยะพลาสติกทิ้งไว้กลาดเกลื่อนอยู่ทั่วประเทศ

นาคริน กล่าวด้วยว่า "กระทรวงทรัพย์ฯของลาว พยายามผลักดันประเด็นนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติ สร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน แต่เรายังไม่มีโรดแมปชัดเจน พอที่จะนำไปใช้เป็นหลักปฏิบัติให้เกิดการปฏิรูปการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนในสังคม แต่รัฐบาลลาวหวังว่า แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจะถูกจุดประกายขึ้นในสังคมประกอบกับเทรนด์ในอาเซียน จะยิ่งช่วยผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจสีเขียวในลาวให้เกิดขึ้นเร็ว"

ติน มิน ตู รองอธิบดีกรมทรัพยากร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติของเมียนมา กล่าวว่า ขณะนี้ รัฐบาลเมียนมาได้ร่างยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บทด้านสิ่งแวดล้อมแบบเชิงรุกให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เน้นในเรื่องการปฏิรูปการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนมากขึ้น จากเดิมมีการออกกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม และลดก๊าซเรือนกระจกเมื่อปี2555 เป็นการดำเนินนโยบายที่เน้นการพิทักษ์สภาพแวดล้อม เพื่อก้าวไปพร้อมๆกับประเทศสมาชิกอาเซียนให้บรรลุเป้าหมายเอสดีจีด้วยกัน
ฮาวัน ตอง รองผู้อำนวยการกรมสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุขของเวียดนาม ชี้ว่า การดำเนินชีวิตของคนเวียดนามในแต่ละวันยังใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกให้เห็นอยู่ทั่วไป ยังไม่มีการรณรงค์ลดการใช้พลาสติกและสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนมากเพียงพอ รวมไปถึงในช่วงที่ผ่านมาการบังคับใช้กฎหมายกับภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการปฏิบัตินำไปสู่การปฏิรูปการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนก็ยังไม่เข้มงวด พอที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง

“นี่เป็นเหตุผลที่รัฐบาลเวียดนาม ประกาศนโยบายเชิงรุกด้านรักษาสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่า ”Green growth strategic 2025“ มุ่งส่งเสริมธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยดึงเอกชน ประชาชน ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อสร้างเศรษฐกิจสีเขียว และช่วยเพิ่มจีดีพีให้กับประเทศ” ฮาวัน ตอง กล่าวทิ้งท้าย