'แอร์ไลน์' รุมชิงเค้กอู่ตะเภา รับอานิสงส์ 'อีอีซี'

'แอร์ไลน์' รุมชิงเค้กอู่ตะเภา รับอานิสงส์ 'อีอีซี'

แอร์ไลน์รุมชิงเค้กอู่ตะเภาบูมอีอีซี “ไทยไลอ้อนแอร์” ดันฮับบินระยะใกล้-ไกล รับแผนเปิดเส้นทางใหม่จีน-อินเดีย-อาเซียน ต่อยอดเส้นทางข้ามภูมิภาค เสริมทัพผู้เล่นรายอื่น หลัง“บินไทย”ยันลุยลงทุนศูนย์ซ่อม MRO “ไทยแอร์เอเชีย-บางกอกแอร์ฯโดดประมูลเมืองการบิน

ความเคลื่อนไหวของธุรกิจสายการบิน (แอร์ไลน์) ที่สนใจเข้าไปทำธุรกิจในท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา มีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง หลังจากการบินไทยยืนยันเดินหน้าพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภาร่วมกับพันธมิตรหลักอย่างแอร์บัส ขณะที่ก่อนหน้านี้ “ไทยแอร์เอเชีย” และ   “บางกอกแอร์เวย์ส” ต่างแสดงความมั่นใจว่ากลุ่มพันธมิตรของตัวเองจะเป็นผู้กำชัยชนะประมูลโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา และเมืองการบินตะวันออก วงเงิน 2.9 แสนล้านบาท

ล่าสุด “ไทยไลอ้อนแอร์” ประกาศว่าจะรุกขยายเส้นทางบินใหม่ๆ ไปยังจุดหมายทั้งในและระหว่างประเทศจากท่าอากาศยานอู่ตะเภา ยกระดับเป็นศูนย์กลางการบิน (ฮับการบิน) ใหม่แห่งที่ 4 ต่อคิวจากดอนเมือง ภูเก็ต และเชียงใหม่ โดยจะพัฒนาให้มีเครือข่ายขนาดใหญ่ เป็นรองแค่ฮับการบินที่ดอนเมือง หลังจากท่าอากาศยานอู่ตะเภาเตรียมเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 อย่างเป็นทางการวันที่ 6 พ.ย.นี้   มี        พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด

นายอัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ กล่าวว่า ไทยไลอ้อนแอร์มีแผนใช้ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นฮับการบินทั้งระยะใกล้และระยะไกลในปี 2563 เนื่องจากท่าอากาศยานอู่ตะเภามีปัจจัยที่เอื้อต่อการเป็น “เมืองการบิน” ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการและการบำรุงรักษาอาคารผู้โดยสาร, ศูนย์ธุรกิจการค้า, ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ , ธุรกิจซ่อมเครื่องบิน (Maintenance Repair and Overhaul: MRO), ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรการบิน และกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมอากาศยาน

ในอนาคตทางภาครัฐยังมีแนวคิดริเริ่มโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งเป็น 1 ใน 5 โครงการสำคัญของเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ช่วยยกระดับการขนส่งในพื้นที่ภาคตะวันออก และเป็นตัวเชื่อมกับท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิที่ปัจจุบันมีความหนาแน่นของการใช้บริการสูง

ไทยไลอ้อนฯงล็งเพิ่มรูทบินอู่ตะเภา

นอกจากนี้เพื่อสนับสนุนนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ ไทยไลอ้อนแอร์จึงเตรียมขยายเส้นทางบินจากท่าอากาศยานอู่ตะเภาสู่จุดหมายต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ จีน อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอื่นๆ เพื่อเพิ่มยอดผู้โดยสารระหว่างประเทศมากขึ้น รวมถึงเส้นทางบินข้ามภูมิภาคอื่นๆ ในไทย จากปัจจุบันที่ทำการบินเส้นทางอู่ตะเภา-เชียงใหม่ และมีเที่ยวบินเช่าเหมาลำจากบางเมืองในประเทศจีนมาลงอู่ตะเภา หวังรองรับลูกค้าเป้าหมายได้มากขึ้น แบ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยว 60% ซึ่งเป็นตลาดที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี รวมถึงกลุ่มนักธุรกิจที่ต้องเดินทางเข้ามาในพื้นที่ EEC อีก 40% โดยทั้งสองกลุ่มถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโต

“ไทยไลอ้อนแอร์มีแผนขยายฝูงบิน เพิ่มจำนวนเครื่องบินใหม่อีก 50 ลำในช่วง 5-10 ปีนับจากนี้ ทยอยรับมอบเฉลี่ยปีละ 5-10 ลำ จากปัจจุบันไทยไลอ้อนแอร์มีฝูงบินรวม 33 ลำ แบ่งเป็นโบอิ้ง 737-900ER จำนวน 19 ลำ โบอิ้ง 737-800 จำนวน 11 ลำ และแอร์บัส A330-300 จำนวน 3 ลำ ให้บริการเที่ยวบินมากกว่าวันละ 120 เที่ยวบิน และมีผู้โดยสารราว 1 ล้านคนต่อเดือน”

ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวจีน-รัสเซีย

สำหรับท่าอากาศยานอู่ตะเภาถือเป็นท่าอากาศยานนานาชาติหลักแห่งที่ 3 ของไทย มีพื้นที่โดยรอบประมาณ 6,500 ไร่ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ปีละ 3 ล้านคน และตั้งอยู่ตรงรอยต่อระหว่าง จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ EEC ถือเป็นท่าอากาศยานที่ตอบโจทย์ทุกรูปแบบของนักเดินทางทั่วโลก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนและรัสเซียที่นิยมเดินมาท่องเที่ยวเมืองพัทยาซึ่งเป็นจุดหมายยอดนิยมแห่งหนึ่งของชาวต่างชาติ

นางนันทพร โกมลสิทธิ์เวช ผู้จัดการทั่วไปสายการพาณิชย์ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ กล่าวเสริมว่า จากแผนขยายเส้นทางบินจากท่าอากาศยานอู่ตะเภาทั้งในและระหว่างประเทศ เริ่มแรกไทยไลอ้อนแอร์จะบินข้ามภูมิภาคไปภาคอีสาน และเมืองหลักในประเทศจีน ขณะนี้ศึกษาเส้นทางบินไปเซี่ยงไฮ้ กว่างโจว และเฉิงตู รวมถึงเมืองหลักและเมืองรองในอินเดีย เช่น มุมไบ

ไทยแอร์เอเชียเร่งเพิ่มเครือข่ายบิน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาได้ให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบเมื่อกลางปี 2558 ตามเป้าหมายการเป็นท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3 เพื่อลดความแออัดของสุวรรณภูมิและดอนเมือง สายการบินไทยแอร์เอเชียถือเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) ผู้บุกเบิกทำการบินที่ท่าอากาศยานนี้และพัฒนาเครือข่ายเส้นทางบินจนเป็นฮับการบินแห่งที่ 5 จากทั้งหมด 6 ฮับการบินของไทยแอร์เอเชีย

ก่อนหน้านี้ นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ผู้ถือหุ้นใหญ่ของไทยแอร์เอเชีย ได้แสดงความมั่นใจเกี่ยวกับการเข้าร่วมประมูลโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก ภายใต้ความร่วมมือกับพันธมิตรกลุ่มแกรนด์ คอนซอร์เทียม ประกอบด้วย พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค, คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) และไทยแอร์เอเชีย ว่าทางกลุ่มจะได้รับการพิจารณาคัดเลือก

บีเอโดดประมูลเมืองการบินตอ.

ด้านนายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ผู้ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ได้กล่าวก่อนหน้านี้เช่นกันว่า กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ประกอบด้วย การบินกรุงเทพ เป็นผู้นำในการประมูลครั้งนี้, บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชัน มั่นใจว่าจากคุณสมบัติ ความสามารถ และประสบการณ์บริหารท่าอากาศยาน จะเป็นจุดเด่นทำให้กลุ่มบีบีเอสมีศักยภาพไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคู่แข่ง ในการเข้าร่วมประมูลโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก