เผยรายชื่อ "บอร์ด5จี" สัปดาห์หน้า

เผยรายชื่อ "บอร์ด5จี" สัปดาห์หน้า

“ฐากร” เผยผลการหารือร่วมกับ “พุทธิพงษ์” เตรียมผุดรายชื่อคณะกรรมการ 5จี ภายในสัปดาห์หน้า หลังแยกย้ายยกร่างตั้งคณะกรรมการ มั่นใจ ต.ค. 2563 ภาคการผลิต-อุตสาหกรรม ใช้งาน 5จี ก่อนจะขยายไปยังภาคประชาชนในปี 2565

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2562 นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เข้ามาหารือถึงเรื่องการตั้งคณะกรรมการ 5จี แห่งชาติ ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้กระทรวงดีอีเอสเป็นเจ้าภาพในการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกับกสทช.ซึ่งจากการหารือร่วมกันมีข้อสรุปว่าจะตั้งคณะกรรมการจำนวน 10-15 คน อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงคมนาคม, กระทรวงมหาดไทย โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และ กสทช.ทำหน้าที่เลขาของคณะกรรมการ

ทั้งนี้ กระทรวงดีอีเอสและกสทช.จะแยกกันไปยกร่างการจัดตั้งคณะกรรมการดังกล่าวเพื่อมาหารือร่วมกันอีกครั้งภายในสัปดาห์หน้าเพื่อหาข้อสรุปของโครงสร้างคณะกรรมการร่วมกัน คาดว่าจะสามารถเปิดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) ที่สนใจลงทุน 5จี เปิดให้บริการ 5จี ในภาคการผลิต เช่น พื้นที่อีอีซี ภายใน ต.ค. 2563 โดยอาจมีเงื่อนไขให้ลงทุนไปก่อน ไม่ต้องจ่ายค่าประมูลตั้งแต่ปีแรก ส่วนการเปิดให้บริการกับประชาชนทั้งประเทศจะเกิดในปี 2565

“ขำย้ำว่า คณะกรรมการ 5จี ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อประมูล แต่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้มีการต่อยอดการใช้งาน 5จี ความจำเป็นเร่งด่วนในการขับเคลื่อน 5จี นั้น เพื่อให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันได้ทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงมีสร้างบรรยากาศในการลงทุนที่ดีให้กับประเทศไทย ซึ่งจากการรายงานที่ สำนักงาน กสทช. ทำการสำรวจ พบว่า ราคาของใบอนุญาต 5จี หากมีการเปิดประมูลนั้น ในราคา 100 MHz จะมีราคาเท่ากับ 40% ของราคาใบอนุญาตในระบบ 4จี ที่ประมูลจำนวน 20 MHz ซึ่งก็ทำให้ทราบว่า ราคาของใบอนุญาต 5G ที่มีการประมูลในต่างประเทศไม่ได้มีราคาแพงอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้”

นายฐากร กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีการหารือร่วมกันถึงดาวเทียมไทยคม 4 และ 5 ที่ปัจจุบันอยู่ในการถือครองของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) โดยภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในเดือนกันยายน 2564 จะให้ย้ายมาใช้งานช่วงคลื่นความถี่ย่าน 3700-4200 MHz แทน จากเดิมที่ใช้งานช่วงคลื่นความถี่ย่าน 3400-3700 MHz เพื่อนำคลื่นมาประมูลต่อไป ส่วนกระบวนการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) จะเสร็จทันเวลาสิ้นสุดสัญญาสัมปทานด้วยหรือไม่ ขอให้แจ้งกสทช.ด้วยเพื่อเตรียมออกมาตรการเยียวยาได้ทัน

อีกเรื่องที่สำคัญคือ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับกรณีที่ กสทช.ยกเลิกสัญญาบริการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์มือถือและบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หรือโครงการเน็ตชายขอบ ที่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ชนะการประมูล 3 สัญญา วงเงินรวม 6,486.39 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เนื่องจากคำนึงถึงการเปิดให้บริการ ซึ่งหากในพื้นที่ที่ ทีโอที รับผิดชอบไม่สามารถเปิดบริการได้ในเดือน พ.ย.นี้ จะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ

ขณะเดียวกันตนยังได้เสนอให้กระทรวงดีอีเอส ตั้งสำนักงานขึ้นมา เพื่อรอรับโอนทรัพย์สินในโครงการยูโซ่ เน็ตของกสทข.ทำทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เน็ตชนบทจำนวน 15,732 หมู่บ้าน และเน็ตชายขอบ 3,920 หมู่บ้าน หลังจากสิ้นสุดโครงการ 5 ปี โดยกระทรวงดีอีเอส จะมอบหมายให้ ทีโอที หรือ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ดำเนินการต่อไปก็ขึ้นอยู่กับกระทรวงดีอีเอส