“โอพีพีวาย” คลับดิจิทัล แหล่งแฮงค์เอ้าท์ "รุ่นใหญ่"

“โอพีพีวาย” คลับดิจิทัล แหล่งแฮงค์เอ้าท์ "รุ่นใหญ่"

เมื่อมีโอกาสมาสอนผู้สูงวัยทำให้สัมผัสได้ถึงความสามารถและความกระตือรือร้นและรู้จักใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์

สมัยก่อน เราอาจจะคุ้นเคยกับประโยคที่ว่า “อย่าปิดกั้นจินตนาการเด็ก” แต่ยุคนี้ต้องเปลี่ยนคำพูดใหม่ว่า “อย่าปิดกั้นจินตนาการของผู้สูงวัย” และขอเพิ่มอีกประโยคว่า “วัยไม่ใช่อุปสรรคในการเรียนรู้และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ”

ชมรมอินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์เพื่อผู้สูงวัย หรือ “โอพีพีวาย คลับ บาย ล็อกซเล่ย์” (OPPY Club by Loxley) ได้พิสูจน์แล้วว่าความสามารถของผู้สูงวัยมีมากกว่าที่หลายคนคิด และ “ผู้สูงอายุ” สามารถทำอะไรได้หลายๆ อย่างแบบไม่มีขีดจำกัด ขอเพียงลูกหลานเปิดใจและให้โอกาสท่านได้แสดงศักยภาพออกมา

“สุธีรา จำลองศุภลักษณ์” ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรและชุมชนสัมพันธ์ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะครูใหญ่ของชมรมโอพีพีวาย คลับ บาย ล็อกซเล่ย์ กล่าวว่า ชมรมโอพีพีวายก่อตั้งขึ้นมาจะครบ 20 ปีในวันที่ 25 มกราคมปีหน้า ปัจจุบันมีสมาชิก 4,000 คน เป็นคลับที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป เรียนรู้การใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตในบรรยากาศการเรียนที่สนุกสนานและเป็นกันเอง เพิ่มทางเลือกที่จะบันดาลความสุขให้กับผู้สูงวัย ลดช่องว่างระหว่างวัยกับลูกหลาน

ส่องรุ่นใหญ่ใช้ดิจิทัล “ทำหนังสั้น”

แต่เมื่อสังคมและเทคโนโลยีเปลี่ยนไป กิจกรรมชมรมโอพีพีวายก็ปรับตัวตาม ใช้แนวคิด “สมดุลย์แห่งชีวิต” สร้างสมดุลย์ระหว่างกิจกรรมด้านไอทีและสันทนาการต่างๆ ให้เหมาะกับยุคสมัย บริหารสมองและฝึกสมรรถภาพทางร่างกายไปพร้อมกัน

ที่ผ่านมาเปิดคอร์สต่างๆ มากมาย เช่น สอนใช้คอมพิวเตอร์ การใช้เฟซบุ๊ค การเล่นไลน์ การถ่ายรูปด้วยกล้องดิจิทัล และสมาร์ทโฟน สอนขายของออนไลน์ ตัดต่อคลิปวีดีโอ ฯลฯ แต่ละกิจกรรม ผู้สูงวัยสามารถทำได้ดี มีผลงานที่น่าประทับใจ

สมาชิกโอพีพีวาย เคยผ่านคอร์สเรียนตัดต่อทำคลิปวีดีโอจากมือถือมาแล้วมากกว่า 100 คน ใช้มือถือสมาร์ทโฟนถ่าย แล้วตัดต่อโดยโปรแกรม iMovie หรือ Quik ครั้งนี้ชมรมโอพีพีวาย เปิดหลักสูตร “หนังสั้น คุณทำได้” ดึง "วิชชาพัชร์ โกจิ๋ว" หรือ ครูเดียว ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยที่โด่งดัง “แฟนฉัน” มาเป็นวิทยากรถ่ายทอดวิทยายุทธ์ให้ผู้สูงวัยทำเวิร์คช้อปสร้างหนังสั้น ด้วยการเรียนทฤษฎี 4 ครั้ง และถ่ายทำจริง 1 วัน

“ชมรม OPPY ต้องการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ผู้สูงวัย ทำในสิ่งที่ไม่คิดว่าตัวเองจะทำได้ เพราะเมื่อเขาได้ก้าวข้ามจุดนั้นไป จะรู้สึกว่าไม่มีอะไรยากเกินกว่าจะทำได้อีก เกิดแรงบันดาลใจให้ทำสิ่งอื่นๆต่อไป ครั้งนี้แต่ละคนร่วมทำงานเป็นทีม และค้นพบสิ่งที่ตนเองถนัดในวัย 70 กว่า ถือว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์และน่ายินดีมาก” ครูเจี๊ยบ กล่าว

พลังทีมเวิร์คสู่ “โฮมสวีทโฮม”

“วิชชาพัชร์ โกจิ๋ว” หรือ ครูเดียว เปิดเผยว่า เวิร์คช้อปนี้จะสอนให้ผู้สูงวัยได้นำมุมมองในชีวิต เรื่องราวความประทับใบ ความทรงจำในอดีต มาเป็นแรงบันดาลใจเขียนบท และทำเป็นหนังสั้น รวมทั้งจะสอนการเล่าเรื่องด้วยภาพ การทำสตอรี่บอร์ด เรียนรู้เรื่องมุมกล้องที่บ่งบอกถึงอารมณ์ความรู้สึก ตลอดจนขั้นตอนการถ่ายทำ และการแสดง

“สิ่งหนึ่งที่ผู้สูงวัยมีศักยภาพในการทำหนังมากกว่าเด็กๆคือ ผู้สูงวัยผ่านประสบการณ์มามากทำให้มีวัตถุดิบในการมาสร้างเนื้อหาได้ดีและน่าประทับใจ เมื่อมีโอกาสมาสอนผู้สูงวัยทำให้สัมผัสได้ถึงความสามารถและความกระตือรือร้น และรู้จักใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ เช่น การค้นหาภาพอ้างอิงจากอินเทอร์เน็ต เป็นต้น” ครูเดียว กล่าว

“สุจริต แขวงโสภา” สมาชิกโอพีพีวายวัย 70 ปี นักเรียนหลักสูตรทำหนังสั้นรุ่นแรก เปิดเผยว่า การเริ่มต้นใช้เทคโนโลยีใหม่ๆในวัยนี้ เป็นเรื่องลำบาก จะถามลูกหลานก็ไม่สะดวก จึงเข้าเรียนกับชมรมโอพีพีวาย ได้เรียนรู้พื้นฐานการใช้คอมพิวเตอร์ ก่อนหน้านี้ตัวเองเรียนทำคลิปวีดีโอด้วยโปรแกรม iMovie ก็รู้สึกสนุกที่ทำคลิปวีดีโอได้เอง การเรียนทำหนังสั้นตอนแรกก็ไม่คิดว่าจะทำได้จริง แต่สุดท้ายเกินความคาดหมายมากที่สามารถสร้างผลงานหนังสั้นออกมาได้ 1 เรื่อง

“คนวัยนี้ถ้าตั้งใจเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็สามารถทำได้และอาจทำได้ดีกว่าเด็กๆด้วยซ้ำ เพราะมีประสบการณ์มากก็เปิดรับเทคโนโลยีใหม่ได้มากอายุเป็นเพียงตัวเลข”

“เปรมจิตต์ สมิตะมาน” หรือ ป้าเปรม สมาชิกโอพีพีวาย วัย 74 ปี เจ้าของพล๊อตเรื่อง โฮมสวีทโฮม กล่าวว่า เมื่อได้ลองเรียนแล้วน่าสนใจและสนุก จึงพยายามทำจนสำเร็จจะได้คุยกับลูกหลานได้ว่า “ยายเคยทำหนังสั้นมาแล้ว”

“นวลรัตน์ รื่นเริง” หรือ ป้าจี๊ด วัย 74 ปี กล่าวว่า มาร่วมกิจกรรมกับชมรมเพราะมีความสุข สนุก ทำให้ไม่เหงาแถมได้ความรู้

ขณะที่ “บุษกร ณ บางช้าง” วัย 74 ปี กล่าวปิดท้ายไว้อย่างทันสมัยว่า “เป็นเรื่องเหนือความคาดหมายมากที่ได้มาเรียนทำหนังสั้นกับผู้กำกับระดับร้อยล้าน ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างหนังสั้นเรื่อง โฮมสวีทโฮม อนาคตอยากเรียนรู้ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อก้าวให้ทันกับไทยแลนด์ 4.0”