กสทช.ดีเดย์เปิดเสรีธุรกิจดาวเทียม 

กสทช.ดีเดย์เปิดเสรีธุรกิจดาวเทียม 

21 ต.ค.เปิดฟังความเห็นร่วมกำหนดทิศทาง

กสทช. เผย 21 ต.ค.นี้ รับฟังความคิดเห็นสาธารณะเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทาง “ดาวเทียมไทยจะไปทางไหน?” ก่อนเปลี่ยนจากระบบสัมปทานสู่ระบบการอนุญาต เปิดโอกาสผู้ประกอบการรายเดิมและรายใหม่แข่งขันภายใต้กติกาเดียวกัน

พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า ดาวเทียมไทยจะมีทิศทางเปลี่ยนจากระบบสัมปทานมาสู่ระบบใบอนุญาต เพื่อเปิดโอกาสให้ทั้งผู้ประกอบการรายเดิม และรายใหม่มีขั้นตอนอนุญาตที่ชัดเจน และเกิดการแข่งขันภายใต้กติกาเดียวกัน ทั้งเปิดให้ใช้ประโยชน์จากดาวเทียมต่างชาติในประเทศไทยด้วย ช่วยให้ประชาชนที่ใช้งานดาวเทียมมีทางเลือกมากยิ่งขึ้นจากการแข่งขันที่ไร้การผูกขาด

ทั้งนี้ ในอนาคตหากเปิดเสรีดาวเทียม ถ้าไม่มีการรักษาสมดุลระหว่างดาวเทียมไทยกับดาวเทียมต่างชาติ อาจส่งผลให้ดาวเทียมไทยในอนาคตไม่มีที่ไป ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 60 บัญญัติให้ “รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ” และได้แก้ไขกฎหมายให้ กสทช. ดำเนินการตามมาตรา 60 ในนามรัฐ ทำให้ กสทช. ต้องทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด และได้อนุมัติในหลักการต่อ (ร่าง) แผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม รวมทั้งประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียม และหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการใช้ซ่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ

โดยวันที่ 21 ต.ค. 2562 จะจัดประชาพิจารณ์ (ร่าง) แผนฯ และประกาศหลักเกณฑ์ทั้ง 2 ฉบับ ที่โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ

แผนบริหารสิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม จะเป็นทิศทางกำหนดแนวทางการบริหารกิจการดาวเทียมของไทย มีรายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม หรือที่เรียกว่าเอกสารข่ายงานดาวเทียม (Satellite Network Filing) ทั้งหมดของไทย อันเป็นสมบัติของชาติที่กำหนดคุณสมบัติเทคนิคของดาวเทียม คลื่นความถี่ที่ใช้งานวงโคจร (Slot) และพื้นที่บนโลกที่ใช้งานได้ (Footprint) เป็นไปตามข้อบังคับที่ไอทียูกำหนด รวมถึงยังได้กำหนดแนวทางได้มาและรักษา รวมทั้งการสละสิทธิโดยมีสาระสำคัญ

"สำหรับการอนุญาตให้ใช้สิทธินั้น หากเป็นสิทธิขั้นต้นกรณีข่ายงานดาวเทียมใหม่ จะพิจารณาโดยใช้หลักใครมาขอก่อนได้ก่อน สำหรับสิทธิขั้นสมบูรณ์เดิม กสทช. จะออกประกาศหลักเกณฑ์และวิธีอนุญาตการใช้สิทธิเพื่อให้เกิดการแข่งขัน และมีบทเฉพาะการรองรับการอนุญาตใช้สิทธิสำหรับบริษัทไทยคมฯ จนกว่าอายุสัญญาสัมปทานซึ่งเป็นหลักการที่ใช้กับสัมปทานคลื่นความถี่เช่นเดียวกัน” พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ กล่าว

กสทช. พบว่า ไทยมีดาวเทียมที่มีสิทธิขั้นสมบูรณ์ จำนวน 14 สิทธิ์หรือไฟล์ลิ่ง แต่ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) มีสัญญาสัมปทานใช้งานอยู่กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) 11 ไฟล์ลิ่ง รวมไทยคม 4,5,6 และ 7,8 ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการรออนุญาโตตุลาการตัดสิน ดังนั้นจึงเหลือเพียง 3 ไฟล์ลิ่ง คือ วงโคจร 50.5 จำนวน 2 ไฟล์ลิ่ง ซึ่งกำลังจะหมดอายุการใช้งานที่จองไฟล์ลิ่งไว้กับไอทียู และ วงโครจร 120 องศาตะวันออก จำนวน 1 ไฟล์ลิ่ง

อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ หรือ Landing Right นั้น เปิดให้ผู้ประสงค์จะใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติเพื่อประกอบการให้บุคคลอื่นทั่วไป รวมถึงผู้ประกอบการดาวเทียมต่างชาติที่ประสงค์จะประกอบการดาวเทียมสื่อสารในประเทศไทย นอกจากการได้รับอนุญาตใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติแล้ว ต้องได้รับการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมหรือการอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ตามกฎหมายไทยแล้วแต่กรณีด้วย ต้องสอดคล้องตามนโยบายที่คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติกำหนด ส่งผลให้ทิศทางดาวเทียมของไทยเกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมตามหลักสากล โดยมีหลักเกณฑ์ วิธีการในการอนุญาต ที่โปร่งใส ชัดเจน ตามประกาศที่จะเกิดขึ้น