ธปท.หามาตรการแก้หนี้‘รายย่อย’

ธปท.หามาตรการแก้หนี้‘รายย่อย’

"ธปท." เล็งหามาตรการช่วยแก้หนี้รายย่อย โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย ที่มีปัญหาในการชำระหนี้   หลังพบลูกหนี้แห่ขอเข้าคลินิกแก้หนี้ ทั้งที่ไม่ใช่เอ็นพีแอล  สั่งแบงก์ดูแลคุณภาพลูกหนี้บุคคล-รายย่อยเพิ่ม  

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า  ธปท.อยู่ระหว่างพิจารณาเพิ่มเติม ในการเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอล เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามีลูกหนี้รายย่อยจำนวนมาก ขอเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ ทั้งที่ยังไม่เป็นเอ็นพีแอล เนื่องจากมีปัญหาสภาพคล่องหรือมีปัญหาการชำระหนี้ ซึ่งเบื้องต้น บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท(SAM)  ให้คำปรึกษาลูกหนี้กลุ่มนี้ไปบ้างแล้ว ดังนั้นธปท.จะพิจารณาเพิ่มเติมว่า จะสามารถเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มนี้อย่างไรในอนาคต

“เรากำลังดูว่าจะเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยอย่างไร และคิดว่าลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นเอ็นพีแอลควรได้รับการช่วยเหลือ    ปัญหาที่พบหลังได้คุยกับSAM คือมีลูกหนี้จำนวนมากที่ไม่ยอมคุยกับเจ้าหนี้ เพราะหากคุยเร็ว   แบงก์ก็อาจเข้าไปช่วยเหลือได้เร็ว แต่พอเห็นโครงการคลินิกแก้หนี้ ก็ขอเข้าคลินิกแก้หนี้ด้วย"

สำหรับแนวโน้มเอ็นพีแอลทั้งระบบ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าสถาบันการเงินจะมีการปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้ และตัดขายหนี้เสียบางส่วนออกไปบ้างแล้ว ดังนั้นสถาบันการเงินอาจต้องกลับมาดูแลพอร์ตลูกหนี้มากขึ้น โดยเฉพาะในสินเชื่อบุคคล และธุรกิจ

เขากล่าว่า  ธปท.ได้ออกหนังสือเวียนซักซ้อมความเข้าใจ เกี่ยวกับแนวนโยบายการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยได้ขอความร่วมมือสถาบันการเงิน ให้เข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้น ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน บวกกับภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น เช่นน้ำท่วม ทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ

โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ ตั้งแต่เริ่มมีสัญณาณเกิดปัญหา แม้จะยังไม่ผิดนัดชำระหนี้หรือเป็นหนี้เสีย ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับกลุ่มนี้ จะไม่ถือว่าเป็นหนี้ที่มีปัญหา และไม่ต้องรายงาน บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ(เครดิตบูโร)

สำหรับการจัดชั้นลูกหนี้นั้น ลูกหนี้ที่เข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้ และจัดอยู่ใน สเตจ2 ของมาตรฐานบัญชีใหม่(TFRS9) หากสามารถชำระหนี้ได้ติดต่อกัน 3 เดือน จะขึ้นไปอยู่ในสเตจ 1   ส่วนการปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอล ให้แบงก์สามารถเลื่อนลูกหนี้กลุ่มนี้จากสเตจ 3 มาอยู่ในสเตจ 2 ได้ หากลูกหนี้ชำระหนี้ติดต่อกัน3 เดือน และให้ลูกหนี้ขึ้นไปอยู่ในสเตจ 1 ได้โดยไม่ต้องรอการชำระหนี้ให้ครบถึง 9 เดือนตามที่สภาวิชาชีพบัญชีกำหนด

นอกจากนี้ สถาบันการเงินยังสามารถให้สินเชื่อประเภทเงินทุนหมุนเวียน แก่ลูกหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอลได้เพิ่มเติม เพื่อช่วยให้ลูกหนี้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับสินเชื่อปล่อยใหม่ ที่ให้กับลูกหนี้กลุ่มนี้ จะไม่ถูกจัดชั้นเป็นหนี้เอ็นพีแอล หรืออยู่ใน สเตจที่ 3 แต่ให้นับสินเชื่อปล่อยใหม่ในสเตจ2 ได้

“แนวปฏิบัตินี้ จริงๆไม่ใช่เกณฑ์ใหม่ แต่เป็นการทำให้ชัดเจนขึ้น เพราะบางแบงก์อาจคิดว่าการเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ครั้งนี้ จะเป็นภาระเพิ่มด้านการตั้งสำรอง ดังนั้นแนวปฏิบัตินี้จึงทำให้เกิดความเข้าใจตรงกัน แต่ไม่ได้หย่อนเกณฑ์อะไรทั้งสิ้น เพียงแต่ธปท.อยากให้แบงก์เข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งลูกหนี้ที่มีศักยภาพ และลูกหนี้ที่ด้อยคุณภาพให้เดินต่อไปได้”