ยกก.ม.ขอความร่วมมือเก็บข้อมูล "ร้าน-ลูกค้า" ใช้อินเทอร์เน็ต

ยกก.ม.ขอความร่วมมือเก็บข้อมูล  "ร้าน-ลูกค้า" ใช้อินเทอร์เน็ต

นักกฎหมายไอทีชี้ 12 ปีใช้พ.ร.บ.คอมฯ กำหนดให้ผู้ประกอบการที่อนุญาตให้ผู้อื่นใช้อินเทอร์เน็ตต้องจัดเก็บข้อมูล แต่ไร้ผลปฏิบัติ แนะ “ดีอี”ทำคู่มือเก็บข้อมูลผู้ใช้ร้านขนาดเล็ก “ประวิตร”ขอความร่วมมือ ไม่บังคับ รองโฆษก ตร.แจงประชาชนอย่าตื่นตระหนก

จากกรณีที่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม (ดีอี) ขอความร่วมมือร้านค้าที่เปิดให้ผู้ใช้บริการต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตไวไฟ เช่น ร้านกาแฟ และร้านบริการด้านอื่น ให้เก็บข้อมูลการจราจรทางอินเทอร์เน็ต(Logfile)ของผู้ลงทะเบียนใช้ไวไฟ ของร้านเป็นเวลา 90 วัน หลังจากมีการจับกุมผู้โพสต์ข้อความหมิ่นสถาบัน

นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญกฎเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ กำหนดให้เก็บข้อมูลมาตั้งแต่พ.ร.บ.ฉบับปี 2550 แล้ว โดยกำหนดว่าผู้ประกอบการที่อนุญาตให้ผู้อื่นใช้อินเทอร์เน็ตได้ถือเป็นผู้ให้บริการตามมาตรา 3 จะต้องจัดเก็บข้อมูล

โดยประเด็นดังกล่าวได้เคยมีการหารือว่า ผู้ประกอบการรายเล็กอาจจะมีความลำบากในการลงทุนเพื่อเก็บข้อมูล จึงมีการเสนอให้กระทรวงไอซีทีในขณะนั้น จัดทำคู่มือวิธีปฏิบัติในการเก็บข้อมูลของผู้ประกอบการรายเล็ก เพื่อเป็นการให้ความช่วยเหลือร้านกาแฟได้ แต่ไม่ได้มีการทำคู่มือแต่อย่างใด โดยที่ผ่านมามีทั้งผู้เก็บข้อมูลตามกฎหมายและไม่ได้เก็บข้อมูล

“นับตั้งแต่กฎหมายบังคับใช้มา 12 ปี ยังไม่มีการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 26 เลยสะท้อนว่าไม่ได้มีบังคับใช้ที่จริงจัง ผู้ที่เข้าข่ายให้บริการอินเทอร์เน็ต ไม่ได้มีแต่ร้านกาแฟ ยังมีธุรกิจบริการ และหน่วยงานอีกจำนวนมาก ที่อนุญาตให้ใช้ไวไฟได้ แต่ไม่ได้เก็บล็อกไฟล์ หากจะมีการบังคับใช้กฎหมาย จะต้องทำให้เกิดความยุติธรรม และมีผลบังคับใช้อย่างเท่าเทียม”

ทั้งนี้ร้านกาแฟเมื่อเป็นผู้ให้บริการให้ผู้อื่นใช้อินเทอร์เน็ตคงปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ดังนั้นเพื่อช่วยผู้ประกอบการ กระทรวงดีอี อาจทำคู่มือ หรือแนวทางในการเก็บข้อมูลให้ร้านเล็กๆ ทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย หลักการของมาตรา 26 คือ ข้อมูลการใช้งานที่ต้องเก็บ ต้องยืนยันตัวตน คนที่เข้ามาใช้งานได้ จึงเสนอกระทรวงดีอี อาจมีมาตรการเฉพาะช่วยร้านเล็กและช่วยให้ทุกกลุ่มปฏิบัติตามกฎหมายได้

 

  • เครื่องเก็บล็อกไฟล์1หมื่น/เครื่อง

นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยโทรคมนาคม สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า การให้บริการอินเทอร์เน็ตในร้านกาแฟ ปัจจุบันมี 1-2 รูปแบบ คือ ร้านเล็กๆ ไม่อยากลงทุนมาก เอาบัญชีอินเทอร์เน็ตส่วนตัวของบ้านหรือร้านมาแชร์ให้ลูกค้าใช้ กรณีนี้คงไปเก็บล็อกไฟล์ยาก 

เพราะยืนยันตัวตนไม่ได้ อีกแบบคือการตั้งเครื่องแม่ข่ายของตัวเอง แล้วให้รหัสผ่านเข้าไปใช้อินเทอร์เน็ต วิธีนี้มีงบลงทุนครั้งแรกประมาณ 10,000 บาท สามารถเก็บล็อกไฟล์ได้

“วิธีสุดท้ายกำลังนิยมคือ ใช้คลาวด์เซอร์วิสเก็บข้อมูล โดยร้านไปขอใช้บริการ แล้วปล่อยให้ใช้อินเทอร์เน็ต ข้อมูลการใช้งานทั้งหมด จะไปเก็บไว้ในคลาวด์ วิธีนี้มีการลงทุนเช่าคลาวด์ส่วนบริการเก็บข้อมูล อาจจะเลือกใช้วิธีคำนวณจากความหนาแน่น หรือปริมาณข้อมูลที่เก็บ หากร้านกาแฟจะเลือกเก็บล็อกไฟล์ตามที่ดีอีเตือน ควรเลือกวิธีการที่เก็บข้อมูลได้ และข้อมูลนั้น ต้องยืนยันตัวตนผู้ใช้งานได้”

  • ประวิตรยันไม่ละเมิดสิทธิปชช.

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า เป็นการขอความร่วมมือของภาคเอกชน ส่วนที่มองว่าเป็นการละเมิดสิทธิประชาชนนั้น เป็นการขอความร่วมมือ จะละเมิดสิทธิได้อย่างไร เพราะไม่ได้บังคับ 

ส่วนการโพสต์เฟคนิวส์จะมีเครือข่ายเชื่อมโยงกับคนในหรือนอกประเทศหรือไม่นั้น ขอเอาเรื่องคนในประเทศให้เรียบร้อยก่อน ในส่วนของต่างประเทศเราก็ได้มีการเฝ้าระวัง ในส่วนของบางเว็บไซต์ที่ลงทะเบียนในต่างประเทศ ซึ่งก็ทำอะไรไม่ได้อยู่แล้ว ได้แต่โจมตีแต่สิ่งที่เราระมัดระวัง และดูแลรักษาความปลอดภัยผู้นำประเทศที่จะเข้ามา

  • ตร.แจงอย่างตื่นตระหนัก

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำแหน่งตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า จากที่มีการเตือนให้ ร้านกาแฟ ร้านที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ หรือในลักษณะที่เปิดให้ผู้ใช้บริการต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตไวไฟภายในร้าน ให้ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ ของผู้ลงทะเบียนใช้ไวไฟ ซึ่งที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าการดำเนินการของผู้ให้บริการตามกฎหมายดังกล่าว ไม่ได้ทำให้พี่น้องประชาชนต้องยุ่งยาก ลำบาก หรือเกิดความเสียหายแต่อย่างใด

“กฎหมายฉบับดังกล่าว มีการประกาศบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2550 แล้วซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยหลักแล้ว กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ผู้ที่ให้บริการ ดำเนินการเก็บข้อมูล ไม่ใช่ผู้ใช้บริการ สำหรับประชาชนทั่วไปก็สามารถใช้บริการหรือดำเนินการต่างๆได้ตามปกติ โดยไม่ต้องกังวลหรือตื่นตระหนก”

  • ชี้เก็บข้อมูลป้องอาชญากร

โดยภาครัฐให้ผู้บริการทำการเก็บข้อมูล ก็เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ใช้ในการสืบสวนสอบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดกฎหมายบ้านเมืองในคดีต่างๆทุกประเภท อาทิ คดีความมั่นคง คดีฉ้อโกง หลอกลวง หมิ่นประมาท หรือเกี่ยวกับความผิดทางคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในการติดตามจับกุมผู้กระทำความผิด ป้องกันเหตุร้ายต่างๆ ถือได้ว่าเกิดประโยชน์แก่สาธารณะ

ที่ผ่านมาในคดีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ฉ้อโกงประชาชน คดีที่มีมูลค่าความเสียหายมาก และมีผู้เสียหายหลายราย ตำรวจก็ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ สืบสวนสอบสวนจนสามารถนำสู่การจับกุมผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมาย จากการใช้ข้อมูลในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อยื่นต่อศาลออกหมายจับ และติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย

อีกทั้งยังถือเป็นหลักสากล ที่นานาประเทศ ก็ดำเนินการในลักษณะคล้ายกับประเทศเรา ที่กฎหมายบังคับเช่นนี้ก็เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง รักษาความมั่นคงภายในประเทศ ซึ่งปัจจุบันการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือบน Social Media นับวันจะเพิ่มมากขึ้น