'เอเวอร์โกล' สตาร์ทอัพ ติดปีกนำไทยสู่ เกษตรอัจฉริยะ

'เอเวอร์โกล' สตาร์ทอัพ ติดปีกนำไทยสู่ เกษตรอัจฉริยะ

ยูนิกซ์คอน สตาร์ทอัพผู้ให้บริการโรงเรือนเพื่อการเกษตร แตกไลน์ธุรกิจสู่ระบบบริหารจัดการโรงเรือนผ่านแอพฯในชื่อ “เอเวอร์โกล” (evergrow) ช่วยเกษตรกรยกระดับมาตรฐานผลผลิตให้มีคุณภาพ เปลี่ยนผ่านจาก“เกษตรแบบดั้งเดิม” ไปสู่ “เกษตรอัจฉริยะ” ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

บริษัท ยูนิกซ์คอน จำกัด เป็น 1 ใน 6 สตาร์ทอัพด้านนวัตกรรมการเกษตรที่ผ่านการคัดเลือกจากกว่า 100 รายทั่วโลก เข้ารับการบ่มเพาะในโครงการ AGrowth กับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (เอ็นไอเอ) ร่วมกับบริษัท เนสท์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัดและบริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด ให้เติบโตทั้งในด้านช่องทางการขยายธุรกิจ การตลาด และนำโซลูชั่นมาทดลองและแก้ปัญหาจริงให้กับเกษตรกรที่อยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย

ภุชงค์ วงษ์ทองดี กรรมการผู้บริการบริษัท ยูนิกซ์คอน จำกัด หรือผู้ก่อตั้ง เอเวอร์โกล (evergrow) หนึ่งใน สตาร์ทอัพ สัญชาติไทยที่ได้เข้าร่วมโครงการ AGrowth กล่าวว่า ยูนิกซ์คอนดำเนินกิจการด้านเทคโนโลยีการเกษตรแม่นยำ (Precision Farm Technology) โดยใช้ะบบควบคุมอัตโนมัติและคลาวด์แอพพลิเคชั่น ทั้ง ไอโอที บิ๊กดาต้าและแมชชีนเลินนิ่ง เข้ามาผนวกในผลิตภัณฑ์ ที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถตรวจสอบและควบคุมฟาร์มได้จากทุกที่ผ่านอินเทอร์เน็ต รวมถึงวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ภายในฟาร์มได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

ระบบจะจัดเก็บข้อมูลแบบเรียลไทม์ ทั้งยังมีการวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงควบคุมปัจจัยต่างๆ ภายในโรงเรือน เช่น อุณหภูมิ ความชื้น แสง รวมถึงการผสมปุ๋ย หรือการจ่ายน้ำ ได้อย่างแม่นยำจึงช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตได้

เป้าหมายที่เราโฟกัสนั้นเพื่ออุดช่องโหว่จากความผิดพลาดของมนุษย์ (Human error) ของการทำเกษตรขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เนื่องจากผู้ลงทุนหรือเจ้าของฟาร์มไม่ใช่คนที่ปลูกหรือควบคุมการผลิต แต่เป็นการจ้างคนงาน โดยที่ไม่มีการนำระบบที่สามารถตรวจสอบคุณภาพหรือการจัดเก็บข้อมูลมาใช้ ทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่การเกษตร เช่น ปุ๋ยต่ำผิดปกติ หรือค่าพีเอชสูงเกินไป”

เอเวอร์โกล จะช่วยให้เกษตรกรสามารถรับรู้ปัญหาเหล่านี้และแก้ไขได้อย่างตรงจุด ทำให้ยังคงผลผลิตที่มีคุณภาพ อีกทั้งได้มีการทำ Financial Model ที่เป็นมิตรตามกำลังของแต่ละบุคคลทั้งการชำระแบบรายเดือน และรายปี หรือซื้อขาด ซึ่งต่างจากระบบต่างประเทศที่ต้องซื้อขาดเท่านั้น เหตุที่เริ่มจากภาคเกษตรก่อน เพราะมีมูลค่าในตัวโรงเรือนต่ำกว่าภาคปศุสัตว์ ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่ปลูกผัก 1 ตารางเมตร มีมูลค่า 100-500 บาท แต่ถ้าในปศุสัตว์นั้นโรงเรือนเลี้ยงหมู 1 ตารางเมตร มูลค่ากว่า 5 หมื่นบาท หากเกิดความผิดพลาด มูลค่าความเสียหายย่อมแตกต่างกัน

ปัจจุบันมีโรงเรือนที่ใช้แพลตฟอร์มเอเวอร์โกลร่วม 100 หลัง มูลค่าหลังละกว่า 3 ล้านบาท ติดตั้งในประเทศไทย 90% นอกนั้นเป็นต่างประเทศ 10% อาทิ สิงคโปร์ เวียดนาม จีน แถบยุโรป ไม่ว่าจะเป็น เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ส่วนใหญ่โรงเรือนที่นำระบบไปติดนั้นจะปลูกพืชที่มีมูลค่าสูงและคุ้มต่อการลงทุน เช่น ดอกไม้ ผักสลัด ผลไม้บางชนิด รวมถึง กัญชา กระท่อมและอื่นๆ

ปีนี้สามารถทำยอดขายได้กว่า 400-500% จากการสั่งซื้อแค่ครั้งเดียวของโรงเรือนในประเทศไทย และคิดว่าในปีนี้จะโตกว่าเดิมอีกหลายเท่า ซจากเดิมมีรายได้เฉลี่ย 1-2 แสนบาทต่อเดือน แต่ขณะนี้มีรายได้เข้ามาเดือนละหลักล้านบาทต่อเดือน


ภุชงค์ กล่าวอีกว่า การเข้าร่วมโครงการ AGrowth เพราะบริษัทผู้สนับสนุนอย่าง “คูโบต้า” ต้องการจะเป็นเกษตรแบบครบวงจร ซึ่งทางเราสามารถเติมเต็มความต้องการนั้นได้ เช่น โรงเรือนเพื่อโออีเอ็ม ซึ่งฐานลูกค้าของคูโบต้านั้นมีประมาณ 5 แสนราย เป็นเกษตรกรระดับล่างถึงกลาง ทำให้มีข้อมูลทางการตลาด มีฐานลูกค้าทั่วประเทศ อีกทั้งการที่ได้ร่วมมือกับเอ็นไอเอ ซึ่งเป็นองค์กรเน็ตเวิร์กที่จะดึงหลายๆ ฝ่ายมาช่วย ทั้งคอร์ปอเรชั่นที่มีทั้งเงินทุนและข้อมูลตลาด ตลอดจนบรรดาสตาร์อัพจากนานาประเทศที่มีเทคโนโลยี ทำให้สามารถแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อนำไปต่อยอดในการซับพอร์ตลูกค้าได้ จึงจะช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรไทยก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

ภายใน 3 เดือนของโครงการ ภุชงค์วางแผนไว้ 3 ระยะคือ ระยะแรกเป็นการออกแบบ คุยปรึกษา ระยะถัดมาคือ การดำเนินการ และระบบออโตเมชั่นที่จะใช้ในโรงเรือนน่าจะเสร็จในเฟสนี้ และทดสอบการใช้งานได้ในเดือนที่ 3 จนสำเร็จและพืชน่าจะโตพอสร้างมูลค่าได้พอดี จึงนับเป็นความท้าท้ายของนักรบธุรกิจด้านนวัตกรรมอย่างเอเวอร์โกล ที่จะมุ่งเน้นในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับใช้กับภาคเกษตรได้อย่างสมบูรณ์แบบ