การรีบาวด์ของ 'หุ้นใหญ่' ตอกย้ำ 'พื้นฐาน' ธุรกิจไทย

การรีบาวด์ของ 'หุ้นใหญ่' ตอกย้ำ 'พื้นฐาน' ธุรกิจไทย

อาจจะไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีนักสำหรับตลาดหุ้นไทยในปี 2562 ล่าสุด ดัชนี SET ณ วันที่ 9 ต.ค. อยู่ที่ 1,616.18 แม้จะยังเป็นบวกจากปีก่อนราว 3.3%

แต่เมื่อพิจารณาจากความเคลื่อนไหวตลอด 3 ไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งดัชนีเคยวิ่งขึ้นไปถึง 1,748.15 จุด สะท้อนให้เห็นว่าภาวะของตลาดหุ้นในเวลานี้อ่อนแอลงมาพอสมควร

อย่างไรก็ดี ยังคงมีหุ้นขนาดใหญ่ (มีมูลค่าตลาดสูงกว่า 5 หมื่นล้านบาท) บางตัวที่แม้ว่าจะเป็นหุ้นขนาดใหญ่ซึ่งมักจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับตลาด สามารถที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีได้ในช่วงที่ผ่านมา และที่สำคัญคือ หุ้นเหล่านี้ก็เพิ่งจะผ่านช่วงเวลาเลวร้าย (ของราคาหุ้น) มาได้ไม่นานนัก

ตัวอย่างที่ค่อนข้างชัดเจน คือ หุ้นในกลุ่มสื่อสารอย่าง แอดวานซ์ อินโฟว์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ โทเทิ่ล แอ็ดเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ซึ่งเป็นหุ้นที่เคยรุ่งเรืองในช่วงก่อนหน้านี้ ราคาหุ้นพลิกกลับมาจมดิ่ง และซึมยาวมาจนถึงปี 2561 โดยหลักก็เป็นผลจากการเร่งลงทุนเพิ่มอย่างมาก กดดันให้ผลประกอบการโดยรวมอ่อนแอลง

ในช่วงหลังจากปี 2558 หุ้นแอดวานซ์ (ADVANC) มีกำไรสุทธิลดลงจากระดับ 3.9 หมื่นล้านบาท มาอยู่ประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2561 กดดันราคาหุ้นที่เคยวิ่งขึ้นไปถึง 300 บาท ให้กลับลงมาอยู่ที่เพียง 150 – 160 บาท ขณะที่ดีแทค (DTAC) กำไรสุทธิลดลงจากระดับ 1 หมื่นล้านบาท ถึงขั้นพลิกเป็นขาดทุนสุทธิ 4.3 พันล้านบาท จากหุ้นหลัก 100 บาท ดิ่งลงมาเหลือเพียง 30 – 40 บาท

เช่นเดียวกับหุ้นใหญ่อีกตัวอย่าง คาราบาวกรุ๊ป (CBG) ซึ่งเคยรุ่งเรืองอย่างมากหลังจากเข้าตลาดในปี 2557 กำไรสุทธิเติบโตจาก 913 ล้านบาท เป็น 1.68 พันล้านบาท ในปี 2559 ขณะที่ราคาหุ้นพุ่งจากประมาณ 35 บาท ไปแตะ 100 บาท มาแล้ว

แต่ด้วยความพยายามในการขยายธุรกิจไปสู่ระดับโลก ทำให้บริษัทต้องลงทุนสูงขึ้น กดดันให้กำไรของบริษัทค่อยๆ อ่อนตัวกลับลงมาอยู่ที่ประมาณ 1.15 พันล้านบาท

อย่างไรก็ดี ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ สถานการณ์ของหุ้นเหล่านี้พลิกกลับมาดูดีอีกครั้ง โดยเฉพาะราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาได้อย่างโดดเด่นเมื่อเทียบกับผลตอบแทนของตลาดที่เพียง 3.3%

หุ้นสื่อสารอย่างแอดวานซ์ (ADVANC) และดีแทค (DTAC) ให้ผลตอบแทนถึงประมาณ 30% ขณะที่คาราบาวกรุ๊ป (CBG) พุ่งทะยานถึง 161% จากราคาปิดเมื่อปลายปี 2561

นอกเหนือไปจากประเด็นราคาที่ปรับตัวลดลงมาอย่างมากจนดูเหมือนว่าหุ้นเหล่านี้มีราคาถูก (กว่าช่วงก่อนหน้า) สิ่งที่น่าสนใจคือ พื้นฐานของหุ้นนี้เริ่มกลับมาแข็งแกร่งขึ้นด้วยเช่นกัน

สำหรับ คาราบาวกรุ๊ป (CBG) เริ่มมีสัญญาณที่ดีมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2561 ซึ่งกำไรสุทธิพลิกกลับมาเติบโตถึง 145% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำได้ 512.86 ล้านบาท และในอีกสองไตรมาสถัดมาก็ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง รวมมีกำไรครึ่งปีแรก 971.61 ล้านบาท เทียบกับทั้งปี 2561 ที่ทำได้ 1.15 พันล้านบาท

เช่นเดียวกับดีแทค (DTAC) หลังจากขาดทุนหนัก 4.94 พันล้านบาท จากรายการพิเศษ ช่วงไตรมาส 4 ปี 2561 หลังจากนั้นกำไรสุทธิกลับมาเติบโตต่อเนื่อง 2 ไตรมาส ทำให้ครึ่งปีแรกปีนี้มีกำไรรวม 3.10 พันล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้เพียง 1.49 พันล้านบาท

ขณะที่แอดวานซ์ (ADVANC) แม้กำไรสุทธิจะตลอดสี่ไตรมาสหลังสุด จะยังไม่ได้แสดงการฟื้นตัวที่เด่นชัดออกมา และครึ่งปีแรกปีนี้ยังคงติดลบประมาณ 4.5% แต่เมื่อพิจารณาลึกลงไปก็เริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวกหลายๆ อย่างออกมาแล้ว อย่างเช่น ส่วนของผู้ถือหุ้นที่เพิ่มขึ้นมาต่อเนื่องตลอด 3 ปีหลังสุด จาก 4.25 หมื่นล้านบาท มาเป็น 6.44 หมื่นล้านบาท

เช่นเดียวกับผลประกอบการส่วนอื่นๆ อย่างรายได้ครึ่งปีแรกนี้ เติบโตขึ้นเป็น 8.77 หมื่นล้านบาท หรือ 5% รวมถึง EBITDA ที่ยังคงเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อยสู่ระดับ 3.87 หมื่นล้านบาท

ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อธุรกิจที่ยังดีเผชิญกับช่วงเวลาของการชะลอตัวอันเนื่องมาจากปัจจัยชั่วคราว (ซึ่งอาจจะกินเวลาในระดับปี) แต่หากธุรกิจยังคงเดินหน้าต่อไปได้ ราคาหุ้นที่เคยร่วงกลับลงมาในช่วงเวลาที่แย่นั้น ก็อาจจะเป็นโอกาสของการลงทุน เมื่อปัจจัยพื้นฐานเริ่มส่งสัญญาณให้เห็นว่าบริษัทกำลังอยู่ในทิศทางของการเติบโตอีกครั้ง

ในปัจจุบันจะเห็นว่ายังมีหุ้นขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นหุ้มหาชนบางส่วนที่ราคาดำดิ่งลงมาอย่างหุ้นเหล่านี้ อาทิ ปูนซิเมนต์ไทย(SCC) หรือบ้านปู(BANPU) ซึ่งก็คงต้องไปพิจารณากันดูว่าปัจจัยพื้นฐานของหุ้นเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน