BTS-แกรนด์แอสเสท ฉลุย ซอง 2 อู่ตะเภา

BTS-แกรนด์แอสเสท ฉลุย ซอง 2 อู่ตะเภา

ซอง 2 อู่ตะเภา BTS-แกรนด์แอสเสทฉลุย ด้าน CP แห้ว รอความหวังศาลปกครองสูงสุด

วันนี้ที่ 9 ตุลาคม 2562 พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือและประธานคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เปิดเผยว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้พิจารณาประเมินเอกสารข้อเสนอด้านเทคนิค(ซอง2) ตามข้อกำหนดเอกสารการคัดเลือกเอกชน (RFP)


ได้แก่ 1. กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) ซึ่งประกอบไปด้วย บมจ.การบินกรุงเทพ บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และบมจ.ซิโน-ไทย และ2. กลุ่ม Grand Consortium ซึ่งประกอบไปด้วย บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค(แกรนด์แอสเสท) บมจ.คริสเตียนีและนีลเส็น, ไทยแอร์เอเชีย และมีมติเห็นชอบให้มีหนังสือแจ้งผลการประเมินต่อเอกชนทุกราย พร้อมทั้งเห็นชอบให้มีการจัดเตรียมการพิจารณาเอกสารข้อเสนอซองที่ 3 (ข้อเสนอด้านราคา) ต่อไป ของผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง3ราย ได้ข้อสรุปในวันนี้ว่าทางคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้มีมติเห็นชอบให้เอกชนที่มีคะแนนผ่านเกณฑ์ประเมิน จำนวน 2 ราย เป็นผู้ผ่านการประเมินข้อเสนอซองที่ 2


ทั้งนี้คาดว่ากระบวนการคัดเลือกจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จ ภายในเดือนพฤศจิกายน 2562 และคาดว่าจะลงนามในสัญญาร่วมลงทุนได้ ภายในเดือนมกราคม 2563 ส่วนกรณีที่ผู้ยื่นข้อเสนอรายที่ 3 ธนโฮลดิ้ง (CP) และพันธมิตร ซึงประกอบไปด้วยบริษัทบี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัทโอเรียนท์ซัคเซส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดนั้น หากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุดเป็น ประการใด คณะกรรมการคัดเลือกฯ พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งศาลและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป การประมินผลข้อเสนอซองที่ 2 (ข้อเสนอด้านเทคนิค) คณะกรรมการคัดเลือกพิจารณาตามข้อกำหนดเอกสารการคัดเลือกเอกชน (RFP) ที่ได้ระบุให้เอกชนผู้ยื่นข้อเสนอจัดทำข้อเสนอซองที่ 2 แยกรายละเอียดออกเป็น 2 หมวด คือ หมวดข้อเสนอด้านเทคนิคและหมวดข้อเสนอด้านแผนธุรกิจ

โดยในส่วนของหมวดข้อเสนอด้านเทคนิค ต้องมีรายละเอียดประกอบด้วย 4 หัวข้อย่อย ดังนี้ 1.ข้อเสนอการทบทวนแบบแผนแม่บทสนามบิน 2. ข้อเสนอแนวคิดการออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ของโครงการฯ 3. ข้อเสนอแผนการดำเนินโครงการฯ และ 4. ข้อเสนอแผนการดำเนินงานและบำรุงรักษา และในส่วนหมวดข้อเสนอด้านแผนธุรกิจ ต้องมีรายละเอียดประกอบด้วย 4 หัวข้อย่อย ดังนี้ 1. ความสามารถในการจัดหาเงินทุนเพื่อใช้ในการดำเนินโครงการฯ 2. กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจเชิงพาณิชย์ 3. ข้อเสนอเกี่ยวกับประสบการณ์และศักยภาพของผู้ยื่นข้อเสนอ แผนโครงสร้างองค์กรและบุคลากร และความสามารถของบุคลากรที่จะบริหารงานในโครงการฯ และ 4. แผนการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี การประเมินในแต่ละหัวข้อย่อยเป็นแบบให้คะแนน (Scoring) ซึ่งคะแนนของแต่ละหัวข้อย่อยต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 และรวมคะแนนทั้ง 8 หัวข้อย่อยต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 จึงจะถือว่าผู้ยื่นข้อเสนอผ่านเกณฑ์ประเมิน


ทั้งนี้คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้มีมติเห็นชอบเกณฑ์การประเมินสำหรับการให้คะแนนข้อเสนอซองที่ 2 ก่อนที่จะมีการเปิดข้อเสนอซองที่ 2 ของเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอทุกราย โดยเกณฑ์การประเมินดังกล่าว ได้คำนึงถึงความสำคัญและประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ จึงมีการพิจารณาใน 3 ด้าน คือ 1. ข้อเสนอมีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการฯ มากน้อยเพียงใด 2. ข้อเสนอมีรายะเอียดเนื้อหา/หลักฐาน/ตัวอย่างเพียงพอมากน้อยเพียงใด และ 3. ข้อเสนอแสดงให้เห็นว่าผู้ยื่นข้อเสนอมีศักยภาพต่อการดำเนินโครงการฯ ให้บรรลุมาตรฐานที่เหมาะสมมากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ทางกลุ่มธนโฮลดิ้ง ได้ร้องกับศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562 เพื่อขอให้มีการรับซองข้อเสนอในส่วนยื่นเกินเวลาไป 9 นาที โดยอิงการแถลงของตุลาการผู้แถลงคดีนี้ไว้ก่อนหน้านี้ว่า เห็นควรให้เพิกถอนคำสั่งเฉพาะที่ไม่ให้รับซองเทคนิค และข้อเสนอด้านราคา เพราะเห็นว่า กระบวนการการรับซอง เป็นกระบวนการที่กระทำต่อเนื่องตั้งแต่ผู้เสนอราคามาแจ้งลงทะเบียนในช่วงเที่ยง และมีการรับเอกสารมาอย่างต่อเนื่อง กระบวนการส่งซองเกินเวลาเป็นเพียงแค่ขั้นตอนทางธุรการ นอกจากนั้น การเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อรัฐ เพราะจะทำให้การเกิดการแข่งขันเสนอราคาในโครงการมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการต่อสู้เพื่อหวังจะให้ได้งานดังกล่าว หลังจากถูกศาลปกครองกลางยกคำร้องไป