เก็บเกี่ยวแล้ว! กัญชาล็อตแรกจาก มทร.อีสาน ส่งไปผลิตยาศุขไสยาศน์

เก็บเกี่ยวแล้ว! กัญชาล็อตแรกจาก มทร.อีสาน ส่งไปผลิตยาศุขไสยาศน์

ผลผลิตกัญชาล็อตแรก ปลูกโดยม.เทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร เก็บเกี่ยวแล้ว พร้อมนำส่งไปยังโรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เพื่อผลิตยายาศุขไสยาศน์

วันนี้ (9 ต.ค.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร ร่วมกับ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แถลงข่าวการเก็บเกี่ยวผลผลิตกัญชาทางการแพทย์แผนไทย "โครงการศึกษาการปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์แผนไทย" ณ คณะทรัพยากรธรรมชาติ โดย นายแพทย์ปราโมทย์  เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยว่า ผลผลิตกัญชาที่เก็บเกี่ยวในครั้งนี้ มีจำนวนประมาณ 25 กิโลกรัม และจะทำการเก็บเกี่ยวอีกครั้งในสัปดาห์หน้า เพื่อนำไปผลิตยาศุขไสยาศน์ ที่ใช้สำหรับการรักษาทางการแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาล

สำหรับ "ยาศุขไสยาศน์" ถือเป็นตำรับยา 1 ใน 16 ตำรับยาแพทย์แผนไทยที่มีส่วนผสมจากกัญชาเป็นองค์ประกอบ โดยมีส่วนช่วยในการนอนหลับ ช่วยเจริญอาหาร และฟื้นฟูกำลังของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และเริ่มมีการใช้อย่างจริงจังราว 1 เดือนที่ผ่านมา ในผู้ป่วยจำนวน 200 ราย จากทั่วประเทศ และได้รับผลตอบรับที่ดี

นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงให้ใช้ผลผลิตกัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน  ซึ่งในระยะเวลาที่ผ่านมาทางกระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มใช้ยาที่มีสารสกัดจากกัญชาในโรงพยาบาล 42 แห่งทั่วประเทศ และปัจจุบันมีการเปิดคลินิกบริการการแพทย์แผนไทยคู่ขนานกับแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว

157061899447

รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตสกลนคร มทร.อีสาน เปิดเผยต่อว่า ในการใช้เมล็ดกัญชา "สายพันธุ์หางกระรอก" ที่ได้รับนิรโทษกรรมในพื้นที่ในการปลูกของคณะทรัพยากรธรรมชาตินั้น ทีมงานได้มีการพัฒนาการวิจัยอย่างต่อเนื่อง อาทิ การพัฒนาระบบการปลูกที่มีความปลอดภัยสูง วิเคราะห์เครื่องหมายดีเอ็นเอ (DNA marker) ของเมล็ดพันธุ์ การวิเคราะห์กับสำคัญ ระบบกัญชาที่มีผลผลิตไร้สารตกค้าง เป็นไปตามข้อกำหนดในเอกสารคู่มือการปฏิบัติงาน (standard operating procedure: SOP) มีการใช้วัสดุและเทคโนโลยีในการปลูกที่ได้รับการควบคุมตามมาตรฐานเป็นอย่างดี เพื่อให้เกิดผลผลิตกัญชาทางการแพทย์ที่ดีที่สุด

"สำหรับกัญชาที่เก็บเกี่ยวในวันนี้มีอายุประมาณ 100 วัน สิ่งที่ได้จากการปลูกคือทำให้ทราบถึงการวัดระยะในการเก็บใบและดอก ว่าต้องใช้เวลากี่วันถึงจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม และสิ่งมหัศจรรย์ที่ได้จากการวิจัย คือ แนวทางสู่ระบบการปลูกแบบอินทรีย์โดยการใช้ bio control"

157061871010

157061876172

สำหรับการพัฒนาในโครงการศึกษาการปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์แผนไทย  มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร ได้รับงบประมาณจากกองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อทำการวิจัยร่วมกัน โดยมีเป้าหมายให้คนทั่วโลกเข้าถึงการรักษาโรคร้าย

ในส่วนปัญหาภายในโรงเรือน แม้ว่าจะมีการควบคุมอยู่เป็นประจำ แต่ก็ยังมีศัตรูกัญชาอยู่ตามธรรมชาติ เช่น ไรแดง เชื้อรา หนอนผีเสื้อ ที่สามารถเล็ดลอดเข้ามาทำลายต้นกัญชา แต่ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้มีการนำตัวห้ำตัวเบียน ที่มีความเฉพาะในการทำลายศัตรูดังกล่าวได้เป็นอย่างดี เป็นที่น่าพอใจมาก

สิ่งที่คาดหวังในการพัฒนา ศึกษา และวิจัยโครงการศึกษาการปลูกกัญชาเพื่อก้าวสู่กระบวนการรับรองมาตรฐานกัญชาอินทรีย์ในอนาคต และเรื่องของเมล็ดพันธุ์หลังจากมีการคัด DNA สายพันธุ์ของเมล็ดแล้วจะมีการขอขึ้นทะเบียนพันธุ์กับกรมวิชาการเกษตร เพื่อสามารถใช้ในการขยายพันธุ์ได้อย่างถูกต้อง

สำหรับวิสาหกิจชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่มีความพร้อมในการขยายพันธุ์ก็จะสามารถนำสายพันธุ์กัญชาที่ถูกต้องไปต่อยอดได้ เพื่อเป็นการสร้างเรื่องราวให้กับกัญชาสกลนคร

157061906674

รศ.ดร.โฆษิต กล่าวถึงความท้าทายในการพัฒนาระบบการจัดการกัญชาเพื่อการแพทย์แผนไทยของราชมงคลสกลนครว่า ขั้นต่อไปคือการตอบคำถามให้ได้ว่า ระหว่างมาตรฐานตามระบบจัดการคุณภาพ (GAP) และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชสมุนไพร (GACP) ที่เป็น Medical grade กับระบบออร์แกนิค ที่ทางมหาวิทยาลัยฯ กำลังจะพัฒนาขึ้นมา จะสามารถให้ผลผลิตยา และความปลอดภัย ที่มีความแตกต่างกัน หรือไม่ รวมทั้งต้นทุนในการผลิตแต่ละรูปแบบต่อไป

"และยังมีเป้าหมายที่จะพัฒนาและขยายการปลูกเพื่อให้เพียงพอต่อการรองรับความต้องการของโรงพยาบาลในภาคอีสาน และในเดือนพฤศจิกายนนี้ทางมหาวิทยาลัยฯ มีแผนเปิดคลินีคกัญชารักษาโรคในโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยสกลนคร หลวงปู่แฟ๊บ สุภัทโท และผลิตยาในโรงงาน GMP ของมหาวิทยาลัยในอนาคต เพื่อให้ มทร.อีสาน เป็นแหล่งพัฒนากัญชาแบบครบวงจร เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับพี่น้องเกษตรกรด้านกัญชาอย่างครบวงจร" รศ.ดร.โฆษิต กล่าวทิ้งท้าย