สพฐ. เดินหน้าควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กตามมติ ครม.

สพฐ. เดินหน้าควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กตามมติ ครม.

“อำนาจ”ระบุมีแนวทางดำเนินการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก พร้อมสนองมติครม.สั่งการให้รวมข้อมูล ดูรายละเอียดอย่างรอบด้าน ย้ำต้องไม่เกิดผลกระทบกับชุมชน เผย รมว.ศธ.เห็นชอบภาพรวมร่างนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียนฯ แล้วยกเว้นโรงเรียนดังสอบ 100 %

วันนี้ (9 ต.ค.)นายอำนาจ วิชยานุวัติ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (รองปลัด ศธ.) รักษาราชการเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ เรื่อง การยกเว้นเงื่อนไขการจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ปีงบประมาณ พ.ศ 2559 และ 2560 โดยข้อ 2 ระบุว่าให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พิจารณาดำเนินการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่มีระยะทางห่างจากโรงเรียนในสังกัด สพฐในตำบลเดียวกันน้อยกว่า 6 กิโลเมตร ให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้เพิ่มสูงขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอน และลดภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณด้านบุคลากรและการบริหารจัดการลง

เรื่องนี้ สพฐ.มีแนวทางในการดำเนินการ เบื้องต้นอยู่แล้ว และขณะนี้ได้สั่งการให้รวมข้อมูล เพื่อขอดูรายละเอียดและดำเนินการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน และต้องไม่ให้เกิดผลกระทบกับชุมชน อีกทั้งโรงเรียนที่จะหลักในการย้ายโรงเรียนอื่นไปควบรวม ก็จะต้องมีศักยภาพมากกว่าอีกโรงเรียนหนึ่งอย่างแท้จริง รวมแล้วสามารถบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพได้ โดยการดำเนินการจะแบ่งออกเป็นระยะสั้น กลาง และยาว จะไม่ดำเนินการทีเดียวทั้งหมด และจะเริ่มในปีการศึกษา 2563 ซึ่งคงต้องหารือกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เพื่อดูความเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆนี้ ได้เสนอร่างนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปีการศึกษา 2563 ให้นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พิจารณาและได้รับการเห็นชอบแล้ว เพียงแต่ รมว.ศธ.ไม่เห็นด้วยเพียง 1 เรื่อง คือการเปิดให้โรงเรียนดังสามารถสอบได้ 100% เท่านั้น

ในประเด็นดังกล่าวได้มีการหารือกับนายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) แล้วว่า การขับเคลื่อนเรื่องนี้ยังไม่มีความเหมาะสม เพราะ สพฐ.จำเป็นที่จะต้องประกาศร่างนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียนให้ทันตามกรอบเวลาที่กำหนด  อย่างไรก็ตาม ร่างนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียนจะมีการนำเข้าพิจารณาในที่ประชุม กพฐ. วันที่ 18 ตุลาคมนี้ ก่อนที่จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการ