รวบหนุ่มประกัน ฉกข้อมูลบัตรเครดิตไปใช้สูญเงิน 2.8 แสน

รวบหนุ่มประกัน ฉกข้อมูลบัตรเครดิตไปใช้สูญเงิน 2.8 แสน

รวบหนุ่มประกัน อดีตพนักงานสินเชื่อรถ ผันตัวเป็นโจรยุค 4.0 สวมรอย-เปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์ที่พ่วงบัตรเครดิต ไปใช้กว่า 25 ราย เสียหายกว่า 2.8 แสนบาท

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 9 ต.ค.62 ที่กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล (บก.สส.บช.น.) พล.ต.ต.สันติ ชัยนิรามัย ผบก.สส.บช.น. พร้อมด้วย พ.ต.อ.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบก.สส.บช.น. , พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย ผกก.สส.2 บก.สส.บช.น. และนายปราโมทย์ ลลิกิตติ หัวหน้าคณะทำงานป้องกันการทุจริต ชมรมบัตรเครดิต ร่วมกันแถลงผลจับกุมนายธนากร สงวนศักดิ์ อายุ 27 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาธนบุรี ที่ 523/2562 ลงวันที่ 4 ต.ค. 62 ความผิดฐาน “ลักทรัพย์ในเวลากลางคืน,ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนฯ” สามารถจับกุมได้ที่ย่านบางบอน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา

พ.ต.อ.พรศักดิ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากมีผู้เสียหายรวม 25 ราย ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ว่า ถูกคนร้ายลอบเปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์ที่ผู้เสียหายเชื่อมข้อมูลกับบัตรเครดิต แล้วนำไปรูดซื้อสินค้า จนสูญเงินรวมกว่า 280,000 บาท ทางตำรวจ กก.2 บก.สส.บช.น. จึงสืบสวนจนทราบว่า นายธนากร เป็นผู้ก่อเหตุในคดีนี้ โดยนายธนากร เคยประกอบอาชีพเป็นพนักงานสินเชื่อรถยนต์ของธนาคารแห่งหนึ่ง ปัจจุบันเป็นพนักงานขายประกันรถยนต์และขายรถมือสอง จึงรู้ข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า เช่น หมายเลขบัตรประชาชน , วันเดือนปีเกิด , เบอร์โทรศัพท์ และหมายเลขบัตรเครดิต รวมถึงขั้นตอนติดต่อการทำธุรกรรมเกี่ยวกับบัตรเครดิต

พ.ต.อ.พรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า จากนั้น นายธนากร จะติดต่อไปที่คอลเซ็นเตอร์ของบริษัทบัตรเครดิตที่ลูกค้าใช้ เพื่อทำการเปลี่ยนแปลงเบอร์โทรศัพท์ให้เป็นเบอร์ของตัวเอง แล้วขอรับรหัสรักษาความปลอดภัย(OTP) ก่อนจะนำข้อมูลบัตรเครดิตของผู้เสียหายไปชำระค่าสินค้า และบริการที่ร้านค้าต่างๆ ผ่านระบบคิวอาร์โค้ด ทำให้ไม่มีข้อความแจ้งเตือนเข้าไปยังโทรศัพท์ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นคนถือบัตรเครดิตตัวจริง นอกจากนี้ นายธนกร เลือกก่อเหตุในเวลากลางคืน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เหยื่อกำลังนอนหลับ ทำให้ไม่ทราบความเคลื่อนไหวทางการเงิน และอาจไม่ทันเห็นข้อความแจ้งขอเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์จากธนาคาร ทั้งนี้ หากมีผู้เสียหายที่คาดว่าเคยถูกล้วงข้อมูลทางธุรกรรมไปใช้จ่ายในลักษณะผิดปกติ ขอให้มาติดต่อได้ที่ กก.2 บก.สส.บช.น.

จากการสอบสวนนายธนากร ให้การยอมรับว่าได้ก่อเหตุดังกล่าวจริง โดยล้วงข้อมูลบัตรเครดิตของลูกค้าไปกว่า 20 ใบ เมื่อได้ข้อมูลบัตรมาจะนำไปใช่จ่ายทั่วไป เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม จึงแจ้งข้อกล่าวหาตามหมายจับ ก่อนคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน สน.ท่าข้าม เพื่อดำเนินคดีตามกฏหมายต่อไป

ด้าน น.ส.เอ (นามสมมุติ) หนึ่งในผู้เสียหาย กล่าวว่า ตนรู้จักกับผู้ต้องหาตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย และเป็นเพื่อนในกลุ่มเดียวกัน โดยผู้ต้องหาทำงานเป็นพนักงานไฟแนนซ์ ดูแลการทำสัญญาซื้อขายของตน กระทั่งก่อนเกิดเหตุ ผู้ต้องหาโทรศัพท์มาสอบถามข้อมูลส่วนตัว และบัตรเครดิตของตน 2 ใบ จากนั้น ช่วงกลางดึกก็ได้รับข้อความจากธนาคารว่ามีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ และมีข้อความแจ้งอีกว่า มีการใช้จ่ายบัตรเครดิตไป 1 ใบ เสียหายกว่า 4 หมื่นบาท จึงโทรศัพท์สอบถามทางธนาคาร ก่อนทราบว่าถูกผู้ต้องหาเอาข้อมูลไปใช้จ่ายแล้ว

ทางด้าน นายปราโมทย์ กล่าวว่า ปกติทางธนาคารจะมีขั้นตอนการตรวจสอบตลอด 24 ชม. รวมถึงแจ้งเตือนเวลามีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลบัตรเครดิตของลูกค้าอยู่แล้ว เช่น แจ้งทาง SMS ตนขอฝากไปถึงผู้ที่ใช้บัตรเครดิต ขอให้เก็บรักษาข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลบัตรให้ดี ทั้งนี้ ในอนาคต ทางธนาคารอาจจะมีการพัฒนาระบบยืนยันบุคคล เช่น การยืนยันบุคคลด้วยเสียง เพื่อป้องกันคนร้ายก่อเหตุในลักษณะนี้ ซึ่งปัจจุบันก็มีบางธนาคารใช้ระบบดังกล่าวแล้ว