เคลียร์ปมค่าตอบแทน ส.ส.- ส.ว. ไม่ย้อนหลัง

เคลียร์ปมค่าตอบแทน ส.ส.- ส.ว. ไม่ย้อนหลัง

​มติ ครม. แก้ พ.ร.ฎ. ค่าตอบแทนสมาชิกรัฐสภา ทำ ส.ส.- ส.ว. สับสน หลังเงินเดือนย้อนหลังไม่ได้รับการอนุมัติ ตีความสถานะแตกต่าง “หลังวันเลือกตั้ง - หลังกล่าวคำปฏิญาณ” หวั่นขัด รธน. อดีตที่ปรึกษา กรธ.​ชี้ ส.ส. ไม่ควรได้เงินย้อนหลัง เพราะยังไม่เริ่มทำงาน

จากกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ ร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.)  ​เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)​ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)​ และกรรมาธิการ (กมธ.) พ.ศ..... ซึ่งมีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการแก้ไข พ.ร.ฎ. เพื่อให้ค่าตอบแทนย้อนหลัง เกือบ 2 เดือน เพราะสมาชิกภาพเริ่มนับตั้งแต่วันที่มีการเลือกตั้ง ส.ส.  

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ตอบข้อถามผู้สื่อข่าวเพียงว่า มีประเด็นที่ประสานไปยังรัฐบาลเรื่องเดียว คือการขอให้ ครม. อนุมัติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม เพื่อให้ ส.ส.ทยอยรับเอกสาร

ผู้สื่อข่าวถามว่าการแก้ไขพ.ร.ฎ.ขึ้นเงินเดือนและค่าตอบแทน ส.ส. จะทำให้มีผลย้อนหลัง นายชวน กล่าวเพียงว่า “อย่างนั้นหรือ ตกเบิกหรืออย่างไร ทั้งนี้ผมยังไม่ทราบต้องไปดูก่อน ส่วนจะเริ่มนับวันไหน แล้วแต่กฎหมาย”

ขณะที่นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อดีตเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร ชี้่แจงเรื่องนี้ว่า กรณีที่มีการสอบถามนายชวน หลีกภัย เรื่องที่คณะรัฐมนตรี มีมติขึ้นเงินเดือน ส.ส. และส.ว.ว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาที่ ครม.มีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมานั้น ไม่ใช่การไปเพิ่มเงินเดือน ส.ส. หรือ ส.ว. แต่อย่างใด แต่เป็นการแก้ไขถ้อยคำในพระราชกฤษฎีกาเดิม เพื่อให้ชัดเจนและมีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน

นายอิสระ อธิบายว่า มีการเปลี่ยนจากถ้อยคำว่า “วันที่เข้ารับหน้าที่” เป็น “วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง” ในกรณีประธาน รองประธานของทั้ง 2 สภา ผู้นำฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา และในกรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้เริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้งทั่วไป อันเป็นวันเริ่มต้นของสมาชิกภาพ และในกรณีเลือกตั้งซ่อม หรือการเลื่อนลำดับบัญชีรายชื่อ จะให้ใช้เป็นวันเลือกตั้งซ่อม หรือวันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้วแต่กรณี

“การที่กำหนดให้พระราชกฤษฎีกานี้มีผลบังคับย้อนหลัง เพื่อให้ครอบคลุมกับระยะเวลาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสมัยปัจจุบัน โดยไม่มีการขึ้นเงินเดือน ส.ส. หรือ ส.ว. ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด” นายอิสระ กล่าว

ขณะที่แหล่งข่าวจากสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า การแก้ไขเนื้อหา พ.ร.ฎ.ฉบับดังกล่าว เป็นไปตามที่เสนอ คือ ให้ส.ส.รับเงินประจำตำแหน่ง และเงินเพิ่มนับแต่วันเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถให้เงินเดือนย้อนหลังกับสมาชิกรัฐสภาได้ เพราะอ้างอิงตามความเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานของกระทรวงการคลัง ซึ่งสร้างความแปลกใจกับฝ่ายสภาฯ ​ที่ไปชี้แจง เพราะการออกมติ ครม. ลักษณะดังกล่าว อาจเป็นการกระทำที่ทำให้ พ.ร.ฎ.ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ(รธน.)ฉบับปัจจุบัน ในมาตรา 100 ที่ให้นับการทำหน้าที่ ส.ส.เริ่มจากวันเลือกตั้งที่ผ่านมา หรือวันที่ 24 มี.ค.2562 

ทั้งนี้ ตามเจตนารมณ์ของ รธน. ปี 2560 มาตรา100 ที่ให้ความเป็นสมาชิกภาพ ส.ส. นับแต่วันเลือกตั้ง ซึ่งในระหว่างการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ชุดที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานฯ ได้ถกเถียงถึงการบัญญัติเนื้อหา จากเดิมจะให้ระบุถ้อยคำเหมือนใน รธน.ปี2550  ว่า การได้รับค่าตอบแทนให้นับตั้งแต่ช่วงระยะเวลาเข้ารับหน้าที่ แต่ กรธ. เห็นว่าควรตัดอออก เพราะถือว่าเป็นการไปตัดสิทธิของส.ส. และกำหนดเจตนารมณ์ว่า สิทธิของส.ส. ควรได้รับตั้งแต่วันที่มีสถานะที่รธน.กำหนด คือ วันเลือกตั้ง  

ส่วนที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า หากยึดตามที่สภาฯ เสนอ คือการให้เงินเดือนย้อนหลัง ทั้งที่ ส.ส. ไม่ได้ทำงานนั้น ไม่ว่าจะแปลความอย่างไร แต่สิทธิของส.ส. ที่เป็นไปตามพ.ร.ฎ.ต้องสอดคล้องกับ รธน. ดังนั้นกรณีนี้ ส.ส.ที่คิดว่า เสียประโยชน์สามารถฟ้องร้องสิทธิได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมติ ครม.​ เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ต่อเรื่องดังกล่าว สรุปเนื้อหาสำคัญ ว่า ให้ส.ส.รับค่าตอบแทนตั้งแต่วันที่มีการเลือกตั้ง และหากพ.ร.ฎ.มีผลบังคับใช้ ให้ ส.ส.และ ส.ว. ได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มย้อนหลังไปนับวันที่สมาชิกภาพของส.ส. และ ส.ว. เริ่มต้น ทำให้ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง วันที่ 24 มี.ค. และ ส.ว. จะได้รับเงินค่าตอบแทนย้อนหลังอีก  227,120 บาท ส่วนส.ส.บัญชีรายชื่อ จะได้รับค่าตอบแทนนับแต่วันที่มีชื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ด้านนายเจษฎ์ โทณวณิก อดีตที่ปรึกษากรธ. กล่าวในประเด็นเดียวกันว่า ตนเห็นว่าสมาชิกรัฐสภาควรได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทน ตั้งแต่การปฏิบัติหน้าที่ คือ วันที่กล่าวคำปฏิญาณตน ไม่ใช่นับตั้งแต่วันที่เลือกตั้ง เนื่องจาก กว่าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จะประกาศรับรองผลเลือกตั้ง ซึ่งตามรธน.ปี 2560  ต้องใช้เวลา ไม่ใช่หลังจากวันเลือกตั้ง จึงสามารถประกาศผลได้ทันที 

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้ส.ส.มีสมาชิกภาพนับจากวันเลือกตั้ง แต่การได้รับค่าตอบแทนหรือเงินเดือนนั้น ถือเป็นคนละส่วน

“ความสำคัญของเรื่องนี้ คือ การเป็น ส.ส.ที่ครบถ้วน คือ การกล่าวคำปฏิญาณตนเพื่อให้เป็น ส.ส.โดยสมบูรณ์และปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งคล้ายกับการเป็นพนักงานของบริษัทที่จะได้รับเงินเดือน ก็ต่อเมื่อมีสถานะเป็นพนักงาน หรือเป็นไปตามข้อตกลง แต่ส่วนของส.ส.ไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะต้องดูความสำคัญ โดยเฉพาะวันที่เริ่มทำงานได้ ไม่เช่นนั้นการให้เงินเดือนทั้งที่ไม่ได้ทำงาน  อาจมีคำถามว่า เป็นการจ่ายเงินแบบให้เปล่าหรือไม่ ส่วนกรณีที่อาจมีผู้ยื่นตีความสามารถทำได้” นายเจษฎ์ กล่าว