สกพอ.จ่อปลดล็อค 18 นิคมอุตสาหกรรมใหม่

สกพอ.จ่อปลดล็อค 18 นิคมอุตสาหกรรมใหม่

สกพอ.คาดชงแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินอีอีซีเข้า ครม.กลาง ต.ค.นี้ ปลดล็อกการใช้ที่ดินให้นิคมฯ ใหม่ 18 แห่ง พื้นที่ 3.5 หมื่นไร่

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กำลังเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)

สำหรับแผนผังดังกล่าวถือเป็นผังเมืองที่ดีมากและทำให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน และรองรับการขยายของอีอีซีในระยะเวลา 20 ปี ซึ่งจะเป็นการพัฒนาที่สมดุลทั้งเขตตัวเมือง อุตสาหกรรม และพื้นที่การเกษตร โดยหลังจากนี้ กรมโยธาธิการและผังเมืองจะนำผังการใช้ประโยชน์ที่ดินฯนี้ไปจัดทำผังเมืองจังหวัด 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา

“ผังการใช้ประโยชน์ที่ดินฯ อีอีซี มีการปรับปรุงจากผังเมืองเดิมเพียง 8% โดยพื้นที่ป่า และพื้นที่เกษตรชั้นดียังคงไว้ตามเดิม โดยใน 8% ที่มีการปรับปรุงนี้ แบ่งเป็นเขตบัฟเฟอร์โซน หรือพื้นที่กินไว้ริมฝั่งแม่น้ำ พื้นที่สีเขียวประมาณ 3% เป็นการปรับจากพื้นที่ชนบทไปเป็นพื้นที่เมือง 3% และพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเพียง 2% ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้การพัฒนาพื้นที่อีอีซีมีความสมดุล”นายคณิศ กล่าว

ชง ครม.เคาะผังเมืองอีอีซี

นางสาวทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการสายงานพัฒนาพื้นที่และชุมชน สกพอ.กล่าวว่า แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินของอีอีซีใกล้จะมีผลบังคับใช้แล้ว โดยคาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในวันที่ 15 ต.ค.นี้ จากนั้นก็จะประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ทันที จากนั้นกรมโยธาธิการและผังเมือจะนำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินอีอีซีไปจัดทำผังเมืองจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทราต่อไป

นางสาวทัศนีย์ กล่าวว่า หลังจากแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินอีอีซีมีผลบังคับใช้ ก็จะทำให้เกิดความชัดเจนในการใช้ประโยชน์ที่ดินในอีอีซี ปลดล็อกให้กับที่ดินในอีอีซีทำให้ภาคเอกชนขอเข้ามาตั้งนิคมอุตสาหกรรมอีกเป็นจำนวนมาก 

ทั้งนี้ ข้อมูลของ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ระบุว่าในขณะนี้มีนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ระหว่างการขอตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่กับ กนอ.รวมทั้งสิ้น 18 แห่ง มีพื้นที่รวม 35,788 ไร่ โดยเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา 8 โครงการ จังหวัดชลบุรี 6 โครงการ และจังหวัดระยอง 4 โครงการ 

จ่อยกชั้นนิคมฯ 18 แห่ง

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 18 แห่ง ที่จะตั้งขึ้นใหม่นี้จะเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ยกขึ้นเป็นเขตส่งเสริมพิเศษเพื่ออุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นการดึงดูดการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายให้เข้ามาตั้งในพื้นที่ดังกล่าว

นางสาวทัศนีย์ กล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ระหว่างการพิจารณายกขึ้นเป็นเขตส่งเสริมพิเศษเพื่ออุตสาหกรรมเป้าหมายมีอยู่ 4 แห่ง ได้แก่ 1.นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ จ.ฉะเชิงเทรา มีพื้นที่ 5,100 ไร่ 2.นิคมอุตสาหกรรมอาร์ ไอ แอล จ.ระยอง มีพื้นที่ 6,500 ไร่ 3.นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย จ.ระยอง มีพื้นทื่ 3,220 ไร่ และ 4.นิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง จ.ระยอง มีพื้นที่ 4,200 ไร่

สำหรับเขตส่งเสริมพิเศษเพื่ออุตสาหกรรมเป้าหมายในขณะนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 28 เขต แบ่งเป็นเขตส่งเสริมกิจการพิเศษ 5 แห่ง ได้แก่ 1.เมืองการบินอู่ตะเภา 2.เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) 3.เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) 4.เขตส่งเสริมด้านการแพทย์ (อีอีซีเอ็มดี) และ 5.เขตรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (อีอีซีเอช)

นอกจากนี้ มีเขตส่งเสริมพิเศษเพื่ออุตสาหกรรมเป้าหมายในรูปแบบนิคมอุตสาหกรรม 21 แห่ง ได้แก่ จังหวัดระยอง 8 แห่ง ได้แก่ เหมราชระยอง 36, อีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง), เหมราชตะวันออก (มาบตาพุด), เหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด และอมตะซิตี้ มีพื้นที่ประกาศเขตส่งเสริมรวม 40,268 ไร่ และเป็นพื้นที่ที่สามารถรองรับการลงทุน 8,043 ไร่ และคาดว่าจะมีเงินลงทุนได้ 290,113 ล้านบาท

จังหวัดชลบุรี 12 แห่ง ได้แก่ อมตะนคร1-2, ปิ่นทอง 1-5, ยามาโตะอินดัสทรีส์, เหมราชชลบุรี 1-2, เหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ดแห่งที่ 2-3 มีพื้นที่ประกาศเขตส่งเสริมรวม 42,300ไร่ เป็นพื้นที่ที่สามารถรองรับการลงทุน 17,663 ไร่ และคาดว่าจะมีเงินลงทุนได้ 762,092 ล้านบาท 

จังหวัดฉะเชิงเทรา 1 แห่ง ได้แก่ ทีเอฟดี 2 มีพื้นที่ประกาศเขตส่งเสริมรวม 841 ไร่ เป็นพื้นที่ที่รองรับการลงทุน 660 ไร่ และจะมีเงินลงทุนได้ 51,900 ล้านบาท

รวมทั้ง มีเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรม รูปแบบพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษเฉพาะด้าน 2 แห่ง ได้แก่ 1.เขตส่งสริมพิเศษโรงงานโตโยต้า บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา บนพื้นที่ 1,640 ไร่ ของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เพื่อรองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง 

2.เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและบริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิคส์ พื้นที่ 232 ไร่ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อดำเนินกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โลจิสติกส์อัจฉริยะและพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม

กนอ.ลุ้นยอดที่ดินตามเป้า

รายงานข่าวจาก กนอ.ระบุว่า ในปีงบประมาณ 2562 (ต.ค.2561-ก.ย.2562) กนอ.ประเมินว่าจะมีพื้นที่เช่าและขายในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ 3,500 ไร่ โดยได้รับปัจจัยบวกจากสงครามการค้าที่กระตุ้นให้บริษัทต่างประเทศที่มีฐานในจีนตัดสินใจที่จะออกไปลงทุนต่างประเทศเร็วขึ้น ซึ่งไทยถือเป็นประเทศเป้าหมายและเชื่อว่าปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลดีให้ยอดขายและเช่าที่ดินทั้งปีของ กนอ.เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งขณะนี้ กนอ.อยู่ระหว่างสรุปข้อมูลทั้งปีงบประมาณ

ทั้่งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม คือ คลังสินค้า ยาง พลาสติกและหนังเทียม ยานยนต์และการขนส่ง โดยประเทศที่เข้ามาลงทุนมาก ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ และเนเธอร์แลนด์

นอกจากนี้ การตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่มีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุด กนอ.ได้ลงนามสัญญาร่วมดำเนินการนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่กับบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) เพื่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมโรจนะชลบุรี 2 (เขาคันทรง) ต.เขาคันทรง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี บนพื้นที่กว่า 900 ไร่ มูลค่าการลงทุนรวม 2,100 ล้านบาท รองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ อีอีซี โดยเน้นการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่