‘อีไอซี’ชี้3ปัจจัยกดดัน‘จีดีพี’ ห่วง‘หนี้ครัวเรือน’ดันเอ็นพีแอลพุ่ง

‘อีไอซี’ชี้3ปัจจัยกดดัน‘จีดีพี’ ห่วง‘หนี้ครัวเรือน’ดันเอ็นพีแอลพุ่ง

เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจหลายตัวเริ่มสะท้อนให้เห็นถึง "Downside risk" ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงด้าน "ขาลง" ที่ชัดเจนมาขึ้นเรื่อยๆ

สะท้อนจากผลกระทบสงครามการค้า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มากขึ้น ทำให้หลายองค์กรต้องทบทวนประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยใหม่ ไม่เว้นแม้แต่ "ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ" หรือ "อีไอซี" ของธนาคารไทยพาณิชย์

“ยรรยง ไทยเจริญ” รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด อีไอซี ระบุว่า อีไอซีได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงเหลือ 2.8% จากเดิมที่ให้ไว้ 3% โดยมาจาก 3 ปัจจัยสำคัญ คือ ด้านแรก สงครามการค้าที่ยืดเยื้อ เริ่มส่งผลกระทบวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะภาคการการส่งออกที่คาดว่าปีนี้ มีโอกาสติดลบมากขึ้นเป็น 2.5% จากเดิมที่คาดในเดือนส.ค.ว่าส่งออกจะติดลบเพียง 2% เท่านั้น 

อีไอซี คาดว่า ผลกระทบที่มีต่อภาคส่งออก ยังไม่ถึงจุดต่ำสุด ยังมีโอกาสเห็นการส่งออกติดลบได้ต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้ และจะเริ่มเห็นการส่งออกกลับมาเป็นบวกได้ ในช่วงปลายปีนี้ ส่วนส่งออกปีหน้าก็ไม่ต่างกับปีนี้ แม้จะดูดีขึ้น แต่เชื่อว่า ส่วนหนึ่งก็มาจากฐาน ทำให้การส่งออกปีหน้าขยายตัวได้เพียง 0.2% เท่านั้น

"ผลกระทบที่เกิดขึ้น เริ่มขยายวงไปสู่ภาคเศรษฐกิจในประเทศ เช่นการจ้างงานภาคต่างๆ ทำให้ตัวเลขการจ้างงานที่ออกมาติดลบถึง 2.2% ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา และหากดูการจ้างงานอุตสาหกรรมก็พบว่าติดลบ 3.7% แม้ว่าหากดูตัวเลขการว่างงานของไทยจะอยู่ในระดับต่ำ แต่หากดูชั่วโมงการทำงานต่างๆก็พบว่าต่ำลง โอทีหาย นั่นอาจเป็นตัวฉุดสำคัญ ที่มีผลต่อเศรษฐกิจในประเทศให้เริ่มชะลอตัวมากขึ้น เพราะเมื่อการจ้างงานชะลอลง ก็ลามไปสู่การบริโภค ให้การจับจ่ายใช้สอยต่างๆลดลงต่อเนื่อง ดังนั้น เป็นสิ่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ว่าการหดตัวดังกล่าว จะยังมีให้เห็นอีกเรื่อยๆหรือไม่ หรือส่งผลกระทบลามไปสู่ภาคอื่นๆเพิ่มเติมอย่างไร"

ปัจจัยที่สอง ที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย คือการแข็งค่าของค่าเงินบาท เพราะค่าเงินบาทที่แข็งค่าเพิ่มขึ้น กระทบทั้งรายได้ผู้ส่งออกให้มีรายได้ที่ลดลง ในรูปดอลลาร์ เพราะวันนี้หากดูค่าเงินบาท เทียบดอลลาร์ เราแข็งค่าขึ้นมาแล้วถึง 8% ในรอบ 8 เดือนที่ผ่านมา และหากดูค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปี แข็งค่าขึ้นมาแล้ว 7.7% และหากย้อนไปดูในช่วง 5 ปีก่อนหน้า พบว่าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ถึง 24% เมื่อเทียบกับคู่ค้าคู่แข่ง"

ยรรยง ย้ำว่า สาเหตุการแข็งค่าของเงินบาทที่สำคัญมาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ที่มีการเกินดุลต่อเนื่อง โดยปีนี้คาดว่าจะเกินดุลที่ 6.4% และปีหน้าที่ 6% ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่กดดันค่าเงินบาทให้แข็งค่าได้ต่อเนื่อง ประกอบกับนักลงทุนต่างชาติมองว่า ไทยเป็นที่ปลอดภัยหรือเซฟเฮฟเว่น จึงทำให้ยังเห็นดีมานด์เข้ามาลงทุนต่อเนื่อง ซึ่งคาดการณ์ว่าปีนี้ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ราว 30-31บาทต่อดอลลาร์

การแข็งค่าของค่าเงินบาท นอกจากกระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันของไทยให้ลดลง หากเทียบกับประเทศที่ค่าเงินอ่อนค่าแล้ว การแข็งค่าของค่าเงินบาทยังกระทบ ต่อ ภาคการท่องเที่ยว โดยทำให้รายได้ต่อหัวของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวไทยปรับตัวลดลงด้วย

ปัจจัยสุดท้าย คือ การกลับหัวของวัฏจักรสินเชื่อ เพราะมองว่าระยะข้างหน้า การขยายตัวของสินเชื่อเริ่มมีข้อจำกัดมากขึ้นในระยะกลาง หรือยาว จากหนี้ครัวเรือนที่เร่งตัวขึ้นแรงในช่วง 4-5ปีก่อน ทำให้ระยะข้างหน้า หนี้ครัวเรือนอาจขยายตัวได้จำกัด และเริ่มเห็นสินเชื่อชะลอตัวลง เช่น สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อรถยนต์ จากผลกระทบจากเศรษฐกิจ และเกณฑ์กำกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย(แอลทีวี)ของธปท. ทำให้คาดว่ายอดขายบ้านปีนี้จะติดลบ 20% ปีหน้าติดลบต่อเนื่อง ขณะที่คาดมูลค่าการโอนปีนี้ติดลบ 14% และปีหน้าจะติดลบต่อเนื่องเช่นกัน

ส่วนตลาดคอนโดมิเนียมพบว่าชะตัวลงชัดเจน ในสัญญาที่ 2 ที่ติดลบแล้ว 48% ในไตรมาส2 และระยะข้างหน้ายังมีโอกาสเห็นการติดลบต่อได้เนื่องจากมาตรการแอลทีวี ซึ่งมีผลทำให้ผู้กู้ต้องจ่ายเงินดาวน์เพิ่มมีการชะลอซื้อคอนโดลง อีกปัจจัยมาจาก ราคาอสังหาฯคอนโด มีทิศทางปรับตัวลดลง ทำให้ผู้ซื้อขาดแรงจูงใจในการซื้อคอนโด เพื่อหารายได้ในอนาคต ดังนั้นมองว่าการชะลอตัวสินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถน่าจะต่อเนื่องไปถึงปีหน้าด้วย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวด้วย

แต่หากดูระยะใกล้ๆ ในช่วง 1-2ไตรมาสข้างหน้านี้ มองว่าหนี้ครัวเรือนยังมีโอกาสปรับขึ้นได้ต่อ แม้หนี้บางประเภทจะมีทิศทางชะลอลง แต่หนี้บางประเภทยังมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น หนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ที่นับวันมีแต่เร่งตัวขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต เหล่านี้น่าห่วง เพราะเป็นตัวสะท้อนว่า ภายใต้เศรษฐกิจชะลอ คนกู้เงินที่ไม่มีหลักประกันมากขึ้น แม้ภาระดอกเบี้ยสูงกว่า กู้ประเภทอื่นๆก็ตาม เพราะสภาพคล่องเริ่มตึงตัว สภาพคล่องเริ่มช็อต ทำให้ต้องหันมาพึ่งพาสินเชื่อบุคคลมากขึ้น

“หนี้ครัวเรือนเรายังมองว่า ยังขยับได้ต่อไปอีกในระยะข้างหน้า ซึ่งสวนทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ปกติหนี้ครัวเรือนจะเติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจ แต่วันนี้เศรษฐกิจชะลอ แต่หนี้ครัวเรือนยังปรับตัวเพิ่มขึ้นซึ่งมาจาก หนี้สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันส่วนใหญ่ ดังนั้นเหล่านี้ก็ต้องติดตาม พฤติกรรมการชำระหนี้ในอนาคตว่าเป็นอย่างไร ภายใต้เศรษฐกิจที่ชะลอตัว เพราะหากดูทิศทางเอ็นพีแอลก็ยังมีทิศทางที่สูงขึ้นได้ โดยเฉพาะหนี้บ้าน หนี้รถ ที่เชื่อว่า เอ็นพีแอลหรือหนี้ค้างชำระ ยังไม่ถึงจุดต่ำสุด”

ส่วนการดำเนินนโยบายการเงิน ประเมินว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะลดดอกเบี้ยลงอีก 1ครั้งในช่วงสิ้นปีนี้ เพื่อดูแลเศรษฐกิจ ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.25% ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการเงินของต่างประเทศ ที่มีการปรับดอกเบี้ยลงทั่วหน้า และพบว่า ขณะนี้มีกว่า 20ประเทศ ลดดอกเบี้ย ใกล้กับตอนก่อนเกิดวิกฤตในอดีต ที่ทุกประเทศหันมาลดดอกเบี้ย เพื่อประคองเศรษฐกิจ ทำให้กนง.อาจต้องปรับดอกเบี้ยตามต่างประเทศได้

อย่างไรก็ตาม หลังจากลดดอกเบี้ยแล้ว เชื่อว่าการใช้นโยบายการเงินจะมีข้อจำกัดมากขึ้น เนื่องจาก ภายใต้ดอกเบี้ยต่ำกนง.อาจต้องกลับมาดูเรื่องเสถียรภาพระบบการเงิน หรือปัญหาจาก Search for yields หรือการแสวงหาผลตอบแทนในระดับสูงมากขึ้น อีกทั้งกนง.อาจต้องการเก็บกระสุน หรือ Policy Space ไว้ใช้ในยาวที่เศรษฐกิจต้องเผชิญกับช็อคที่เกิดขึ้นระยะข้างหน้าด้วย

“แม้จะมองว่าปัจจัยเสี่ยงไทยมีเพิ่มขึ้น แต่ข่าวดีก็มี โดยเฉพาะมาตรการของภาครัฐ ที่มองว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง โดยเฉพาะ โครงกาชิมช้อปใช้ที่คาดกระตุ้นเศรษฐกิจ 0.03% ขณะเดียวกัน เชื่อว่า จะเริ่มเห็นผลบวกจากากรลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะในอีอีซีเพิ่มขึ้นได้”