นโยบายส่งเสริมการลงทุน ศก.ดิจิทัล 'ไทย-เวียดนาม'

ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่อาศัยการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อนำมาซึ่งเงินทุน เทคโนโลยี นวัตกรรม ระบบการจัดการ เพื่อนำไปสู่การยกระดับการผลิตสินค้าและบริการของประเทศให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

การพัฒนาสู่เศรษฐกิจดิจิทัล การใช้เทคโนโลยี และการพัฒนานวัตกรรมของประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่จึงยังพยายามดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ

รายงานการศึกษาวิจัยเรื่อง โครงการพัฒนากรอบนโยบายการลงทุนและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเพื่อก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ของ ITD พบว่า ประเทศไทยมีการกำหนดเป้าหมายการลงทุนที่ชัดเจน โดยผลักดัน 10 อุตสาหกรรมหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต อุตสาหกรรมดิจิทัลเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมที่รัฐบาลใช้เป็นอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อน รวมทั้งได้มีการตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อผลักดันอุตสาหกรรมดิจิทัลอย่างจริงจัง

เวียดนามซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว ผลการศึกษาพบว่า ไม่ได้มีอุตสาหกรรมเป้าหมายชัดเจนเหมือนกับประเทศไทย แต่ได้มีการแบ่งอุตสาหกรรมหลักที่ต้องการส่งเสริมออกเป็น 3 ส่วน

อุตสาหกรรมกลุ่มแรกที่เวียดนามให้การส่งเสริมการลงทุนเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีวัสดุใหม่ เทคโนโลยีอัตโนมัติ การวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ และการผลิตซอฟต์แวร์ การส่งเสริมในส่วนของ high-tech park ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเวียดนามเองมีการส่งเสริมเงินลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล และการใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น

อุตสาหกรรมกลุ่มที่ 2 เป็นอุตสาหกรรมการลงทุนขนาดใหญ่ โดยการลงทุนต้องมีขนาดเงินลงทุนขั้นต่ำ 6,000 ล้านด่อง และก่อให้เกิดรายได้ทั้งปีในปีที่ 4 ของการดำเนินกิจการเท่ากับ 10,000 ล้านด่อง และก่อให้เกิดการจ้างงานอย่างน้อย 3,000 คน นอกจากนั้น เวียดนามยังสนับสนุนอุตสาหกรรมที่มีขนาดการลงทุนไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านด่อง และใช้เทคโนโลยีระดับสูง

อุตสาหกรรมกลุ่มที่ 3 เป็นอุตสาหกรรมหรือโครงการที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาสังคมโดยกว้าง ประกอบด้วย การศึกษา การฝึกฝนวิชาชีพ บริการสุขภาพ วัฒนธรรม กีฬาและสิ่งแวดล้อม ช่วงปี 2561 กระทรวงวางแผนและการลงทุนได้กำหนดกลยุทธ์การดึงดูดเงินลงทุนจากเวียดนามในช่วงปี 2563-2573

โดยกำหนดว่า เวียดนามจะมุ่งเน้นการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนที่มีคุณภาพจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โลจิสติกส์ การทำฟาร์มอัจฉริยะ การท่องเที่ยว บริการสุขภาพ และการศึกษา

เมื่อพิจารณาสิทธิและประโยชน์ของการส่งเสริมการลงทุน กรณีประประเทศไทย กรณีเป็นโครงการที่สนับสนุนเทคโนโลยีเป้าหมาย เช่น กิจการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ กิจการวิจัยและพัฒนา หรือกิจการออกแบบทางวิศวกรรม และกิจการในหมวดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม

ผู้ประกอบการจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงถึง 13 ปี ภายใต้ พ.ร.บ. การส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน การยกเว้นภาษีอาจจะสูงถึง 15 ปี รวมทั้งอาจได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิ 50% เป็นเวลา 5 ปี และการยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร อากรนำเข้าวัตถุดิบ สิทธิประโยชน์อื่นที่มิใช่ภาษี และสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ

สำหรับเวียดนาม การให้สิทธิประโยชน์ สามารถแบ่งออกตามลักษณะของโครงการ ถ้าเป็นกลุ่มสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงและเป็นการลงทุนที่มีขนาดใหญ่ สิทธิและประโยชน์ประกอบด้วย การเก็บภาษีนิติบุคคล 10% เป็นระยะเวลา 15 ปี นับตั้งแต่ปีที่สามารถสร้างรายได้ และการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 4 ปี จากปีแรกที่สามารถทำกำไรได้ และมีการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลอีก 50% เป็นระยะเวลา 9 ปี

กรณีอุตสาหกรรมหรือโครงการที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาสังคมโดยกว้าง ผู้ประกอบการจะเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลที่อัตรา 10% ตลอดชั่วอายุของโครงการ ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 4 ปี และได้รับการลดหย่อนภาษี 50% เป็นระยะเวลา 5 ปี ส่วนโครงการที่ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจผู้ประกอบการจะได้รับการยกเว้นภาษี 2 ถึง 4 ปี และการลดหย่อนภาษี 50% เป็นเวลา 4 ถึง 9 ปี

นอกจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศแล้ว ประเด็นที่นักลงทุนให้ความสำคัญ คือ การอำนวยความสะดวกในการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐ ความต่อเนื่องของนโยบายภาครัฐ และทักษะของทรัพยากรมนุษย์ที่สอดคล้องกับความต้องการผู้ประกอบการ