ธุรกิจจัดส่งสินค้ามาเลย์โต รับอีคอมเมิร์ซขยายตัว

ธุรกิจจัดส่งสินค้ามาเลย์โต รับอีคอมเมิร์ซขยายตัว

มาเลเซีย พยายามหาทางปรับปรุงการบริการจัดส่งสินค้าในประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ท่ามกลางการหลั่งไหลของผู้ให้บริการหน้าใหม่ ๆ ที่อยากเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดธุรกิจจัดส่งสินค้าในตลาดมาเลเซีย ที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด

นอกจากนี้ รัฐบาลมาเลเซีย ยังเตรียมทำวิจัยเพื่อประเมินขีดความสามารถด้านการแข่งขันด้านอุตสาหกรรม และขีดความสามารถในการรับมือกับการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจซื้อสินค้าทางออนไลน์ในประเทศด้วย

“ผมเริ่มหาแนวทางที่จะปรับปรุงระบบการจัดส่งสินค้าให้ดีขึ้น เพื่อให้สอดรับกับความเป็นจริงกับการที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็ว” อัล-อิชซัล ประธานคณะกรรมการด้านการสื่อสารและมัลติมีเดีย (เอ็มซีเอ็มซี) กล่าว

การเคลื่อนไหวครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงที่บรรดาผู้ให้บริการจัดส่งสินค้าในมาเลเซีย ซึ่งกำลังทำสงครามราคากันอย่างดุเดือด เรียกร้องให้มีการผนึกกำลังกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองในธุรกิจบริการขนส่งสินค้า โดยมาเลเซีย ซึ่งมีประชากร 30 ล้านคน มีธุรกิจให้บริการจัดส่งสินค้าในประเทศจำนวน 113 รายนับจนถึงเดือนสิงหาคม ซึ่งไม่ได้แปลว่าการบริการจะดีในสายตาผู้บริโภคมาเลเซีย ผู้นิยมสั่งซื้อทุกอย่างทางออนไลน์ตั้งแต่โทรทัศน์ไปจนถึงเบอร์เกอร์ แต่เป็นผู้บริโภคที่รอรับสินค้านานที่สุดเมื่อเทียบกับผู้บริโภคในประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน

ผลสำรวจของพาร์เซล เพอร์ฟอร์ม และไอไพรซ์ กรุ๊ป ซึ่งสำรวจความเห็นผู้บริโภคที่ใช้บริการอีคอมเมิร์ซ 80,000 คน ในสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ไทย และอินโดนีเซีย บ่งชี้ว่า ชาวมาเลเซียที่สั่งสินค้าทางออนไลน์ จะเสียเวลารอสินค้าประมาณ 5.8 วันเทียบกับการรอคอยสินค้าของประเทศอื่นๆในภูมิภาคเดียวกันซึ่งอยู่ที่ 3.8 วัน ซึ่งกว่าหนึ่งในสามของชาวมาเลเซียไม่พอใจกับการบริการจัดส่งสินค้าเลย

เทเลพอร์ท หน่วยงานด้านโลจิสติกส์และคาร์โก ในเครือแอร์เอเชีย สายการบินต้นทุนต่ำของมาเลเซีย คาดการณ์ว่าการแข่งขันในธุรกิจนี้จะรุนแรงขึ้น เนื่องจากมีผู้เล่นไม่มาก ประกอบกับการที่รัฐบาลมีข้อจำกัดบริษัทต่างชาติเข้าลงทุน จะยิ่งทำให้เกิดการควบรวมกิจการกันเองของบรรดาผู้ให้บริการภายในประเทศ

“จะมีการแข่งขันดุเดือดกว่าที่เป็นอยู่ และมีกระแสเงินทุนไหลเข้ามาในธุรกิจให้บริการจัดส่งสินค้าอีกมหาศาล ท้ายที่สุดจะทำให้บริษัทที่ให้บริการในท้องถิ่นผนึกกำลังกัน ซึ่งการควบคุมกฏระเบียบในอุตสาหกรรมนี้ค่อนข้างหละหลวม แตกต่างจากกฏระเบียบที่บรรดาผู้เล่นในธุรกิจอี-วอทเล็ทพบเจอ เพราะการควบคุมกฏระเบียบในธุรกิจด้านการเงินมาจากธนาคารกลาง” พีท เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) เทเลพอร์ท ให้ความเห็น

เอ็มซีเอ็มซี คาดการณ์ว่า รายได้จากธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.75 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2566 ขณะที่จำนวนของผู้ใช้บริการในธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะเพิ่มขึ้น 10.7% ภายในปีดังกล่าว เป็น 21.6 ล้านคน ส่วนปริมาณการขนส่งจะอยู่ที่ 1พันล้านห่อในปี 2568

ด้านกรมไปรษณีย์มาเลเซีย ก็เพิ่มขีดความสามารถในการจัดส่งพัสดุเป็นวันละกว่า 5 แสนห่อ จากเดิมที่จัดส่งวันละ 1 แสนห่อ โดยที่ผ่านมา ไปรษณีย์มาเลเซีย ได้ส่งสิ่งของจำนวนกว่า 100 ล้านรายการผ่านทางบริษัทให้บริการจัดส่งสินค้า และมีรายได้ 824 ล้านริงกิตในปีงบการเงินซึ่งสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม ปี 2562

ส่วนผู้ให้บริการรายเล็กๆอย่าง เนชั่นไวด์ เอ็กซ์เพรสส์ ซึ่งประสบปัญหารายได้ลดลงตลอดช่วง7ปีงบการเงิน หวังว่ารัฐบาลจะผลักดันให้เกิดการผนวกกิจการกันอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังจากส่วนแบ่งตลาดของบริษัทลดลงอย่างฮวบฮาบ พลอยทำให้ผลกำไรปรับตัวลดลงด้วยเช่นกัน ที่ผ่านมา บริษัทได้หารือกับบรรดาคู่แข่งหลายบริษัท เกี่ยวกับการผนวกและควบรวมกิจการแต่การหารือยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น

รัฐบาลหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เร่งเดินหน้าสู่การทำการค้ายุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย ที่รัฐบาลประกาศเป้าหมายว่าจะเพิ่มมูลค่าการซื้อขายสินค้าผ่านออนไลน์ ประเทศไทย ที่มีนโยบายด้านดิจิทัลเพื่อหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเปิดบริการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัลในชื่อ บริการพร้อมเพย์ เวียดนาม รัฐบาลประกาศแผนไว้ต้งแต่ปี 2559 ว่าจะเพิ่มปริมาณธุรกรรมอีคอมเมิร์ซ ภายใน 4 ปี

ขณะที่บริษัทวิจัยการตลาดของอังกฤษอย่างอินสติตัว ออฟ โกรเซอรี ดิสทริบิวชัน (ไอดีจี) เปิดเผยในผลการสำรวจธุรกิจอาหารและค้าปลีกสมัยใหม่ฉบับล่าสุดว่า ในบรรดายักษ์ใหญ่ค้าปลีกสมัยใหม่ 10 อันดับแรกของโลก เป็นค้าปลีกสัญชาติเอเชียถึง 4 รายด้วยกัน ซึ่งแนวโน้มนี้จะดำเนินต่อไปจนถึงปี 2566 โดยมีค้าปลีกจีนรั้งตำแหน่งผู้นำ และตามมาด้วย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ขณะเดียวกัน ยังมีตลาดที่น่าจับตามอง ได้แก่ อินเดีย และอินโดนีเซีย ซึ่งคาดว่าจะเติบโตสูงถึง 87% และ 85% ตามลำดับ

บริษัทวิจัยการตลาดสัญชาติอังกฤษ ยังประมาณการมูลค่าการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ในเอเชียไว้ที่ 1.76 แสนล้านดอลลาร์ ภายในปี 2565 ขยายตัว 194% ถือเป็นภูมิภาคที่เติบโตเร็วสุด

แต่มีปัจจัยที่น่าจะพิจารณาควบคู่กันไปด้วยว่า การเติบโตของซื้อสินค้าที่ซื้อผ่านช่องทางออนไลน์แต่ละประเทศ ขึ้นกับปัจจัยสำคัญ ได้แก่ สัดส่วนการใช้มือถือต่อประชากร จำนวนประชากร และการเติบโตของค้าปลีกสมัยใหม่ออนไลน์ด้วย