ธนารักษ์เล็งแก้ปัญหา รุกที่ราชพัสดุ"1.3ล.ไร่"

ธนารักษ์เล็งแก้ปัญหา  รุกที่ราชพัสดุ"1.3ล.ไร่"

กรมธนารักษ์วางเป้าหมายแก้ปัญหาประชาชนบุกรุกที่ราชพัสดุ เล็งให้ทำสัญญาเช่าอย่างถูกต้องในปีงบประมาณนี้ 1 ล้านไร่ จำนวน 1 แสนราย จากยอดผู้บุกรุก 1.39 แสนราย พื้นที่ 1.36 ล้านไร่ เผยปัจจุบันมีผู้โต้แย้งสิทธิ์ 4.7 หมื่นราย จำนวน 3 แสนไร่

นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผย วานนี้(7ต.ค.)ว่า ในปีงบประมาณ 2563 นี้ กรมธนารักษ์ มีแผนจะจัดให้ประชาชนที่บุกรุกที่ราชพัสดุมาดำเนินการเช่าที่ราชพัสดุอย่างถูกต้อง 1 แสนราย จำนวนพื้นที่ 1 ล้านไร่ จากปัจจุบันมีผู้บุกรุกที่ราชพัสดุ 1.39 แสนราย จำนวน 1.36 ล้านไร่

“เดิมเรามีแผนที่จะจัดการให้ผู้บุกรุก มาทำสัญญาเช่าที่ดินทำกินให้ถูกต้อง 5 หมื่นรายในปีงบประมาณนี้ แต่เราเห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้ได้มากกว่านั้น โดยจะเข้าไปร่วมมือกับหน่วยงานที่ครอบครองที่ราชพัสดุที่ประชาชนเข้าไปบุกรุกพื้นที่ เพื่อช่วยเจรจาให้มาทำสัญญากับเรา”

อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวด้วยว่า ที่ราชพัสดุที่มีการบุกรุกมากที่สุด คือ จ.นครสวรรค์ และ จ.สุราษฎร์ธานี ทั้งนี้ ในเดือนนี้ กรมฯจะดำเนินการมอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุในพื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำชลประทานลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ให้ประชาชน 340 ราย ส่วนอัตราค่าเช่าที่ทำกินจะอยู่ที่ไร่ละไม่เกิน 200 บาทต่อปี ส่วนที่อยู่อาศัยจะอยู่ที่ตารางวาละ 25 สตางค์ต่อเดือน

สำหรับในรายที่คิดว่าที่ดินที่บุกรุกดังกล่าว เป็นที่ดินที่ตนเองครอบครองมาก่อนปี 2546 สามารถพิสูจน์สิทธิ์เพื่อขอเอกสารสิทธิ์ได้ โดยต้องมีหลักฐานราชการ ภาพถ่าย หรือมีพยานบุคคลที่สามารถพิสูจน์สิทธิ์ได้ ซึ่งปัจจุบันมีประชาชนที่อยู่ระหว่างการขอพิสูจน์สิทธิ์ 4.7 หมื่นราย คิดเป็นพื้นที่ 3.7 แสนไร่

อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ทุกส่วนราชการมีส่วนพัฒนาชุมชน ขณะนี้กรมฯจะส่งหนังสือไปยังหน่วยงานราชการที่ครอบครองที่ราชพัสดุทั่วประเทศ ขอให้ร่วมมือกับนโยบายดังกล่าว โดยนำที่ราชพัสดุส่วนที่ว่างเปล่ามาจัดให้ประชาชนเข้าใช้พื้นที่ โดยไม่มีการเก็บค่าเช่า ซึ่งการพื้นที่เพื่อกิจกรรมใด ก็ให้ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละชุมชน เช่น อาจจะจัดให้เป็นสถานที่ประชุม ค้าขาย หรือจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น

ทั้งนี้ กรมฯได้จัดทำโครงการทำชุมชนให้เป็นที่ประชุมในที่ราชพัสดุและการจัดพื้นที่ราชพัสดุเพื่อจำหน่ายสินค้าชุมชนขึ้น โดยจะนำร่องในพื้นที่ ต.หนองกุงศรี อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ และมีแผนจะจัดให้ดำเนินการในลักษณะดังกล่าวทั่วประเทศ