"ประวิตร" ชี้ข้อเสนอรื้อ‘กอ.รมน.’ต้องยึดกฎหมาย

"ประวิตร" ชี้ข้อเสนอรื้อ‘กอ.รมน.’ต้องยึดกฎหมาย

นายกฯ ชี้เป็นสิทธิ์ฝ่ายค้าน แจ้งความกลับ “มทภ.4-กอ.รมน.” ระบุไม่อยากขยายความขัดแย้ง ด้าน“ประวิตร” ชี้ ข้อเสนอรื้อโครงสร้าง กอ.รมน.ว่ากันตาม กม. ขณะที่ผู้นำฝ่ายค้านยันเวทีเสวนายึดรธน. จี้ตรวจสอบงบเกณฑ์ทหาร ครม.ไฟเขียวร่างพ.ร.ฎ.เงินเดือน2สภา ย้อนหลัง

ความเคลื่อนไหวภาคส่วนต่างๆ ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งก่อนหน้านี้มีการแจ้งความเอาผิดกันระหว่างกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) และ 7 พรรคฝ่ายค้าน 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 ต.ค.โดยระบุว่า เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมที่จะดำเนินการไป ใครจะฟ้องร้องอะไร ก็ว่าไปตามหลักฐาน ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะฟ้องร้อง ขณะเดียวกันหน่วยงานก็มีหน้าที่ของเขาเหมือนกัน ฉะนั้นตนไม่ไปก้าวล่วงใครทั้งสิ้น ซึ่งตนไม่อยากให้ขยายความขัดแย้งนี้ต่อไป

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ กล่าวว่า กรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เสนอปรับโครงสร้าง กอ.รมน.ว่าเป็นไปตามกฎหมาย ทำได้ก็ทำไปเลย ยืนยันว่าการฟ้องร้อง 7 แกนนำพรรคฝ่ายค้านและนักวิชาการ เป็นเรื่องของกฎหมาย ไม่มีใครสั่ง ด้านความมั่นคงไม่เกี่ยว พร้อมยืนยันว่าไม่ได้ห้ามจัดเวที แต่เป็นหน้าที่ของนักกฎหมายที่จะต้องดู

เช่นเดียวกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า กรณีนายธนาธร เสนอปรับโครงสร้าง กอ.รมน.เรื่องนี้เป็นกฎหมายก็ต้องแก้กฎหมาย และต้องทำให้ประชาชนเข้าใจ การจะรื้อหรือปรับปรุงอะไร ก็สามารถทำได้ แต่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย

แจงจับฝ่ายค้านทำตามหน้าที่

ขณะที่ พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษก กอ.รมน.ชี้แจงกรณีที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งความดำเนินคดี แกนนำพรรคฝ่ายค้านและนักวิชาการ 12 คนว่า เกิดจากการเสวนาดังกล่าวได้มีการพูดคุยกันซึ่งตอนหนึ่ง มีการพาดพิงมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญ จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง ทำให้เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ภาค4 สน. ที่ทำหน้าที่ด้านกฎหมายดำเนินคดี 

สิ่งที่ดำเนินคดียืนยันว่ามีความจำเป็นในเรื่องของการปฎิบัติงาน ถ้าเพิกเฉยหรือละเว้นทางเจ้าหน้าที่อาจได้รับผลกระทบ ผิดตามมาตรา 157 ได้ คิดว่าการปฏิบัติต่างๆ เป็นไปตามกรอบของกฎหมายที่กำหนดไว้

ส่วนกรณีที่ผู้นำพรรคฝ่ายค้านแจ้งความกลับ พล.ท.พรศักดิ์ พลูสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้ชำนาญการ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า คิดว่าไม่มีผลกระทบ ดังนั้นคำตัดสิน เป็นอำนาจของศาล 

"ยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่ได้รับไฟเขียวจากใครเป็นการปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย ที่มีฝ่ายกฎหมาย เรื่องนี้ไม่มีการกันแกล้งทางการเมือง เพราะสิ่งที่ทำยึดตามกฏหมายเป็นหลัก”

ปรับโครงสร้างกอ.รมน.ต่อเนื่อง

ส่วนที่มีการพูดถึงการปฏิรูป กอ.รมน. นั้นที่ผ่านมา ยืนยันว่ามีการปรับโครงสร้างที่ใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง ปี 51 และดำเนินการใน ปี 52 ซึ่งการดำเนินการ ในการปรับรูปแบบต่างๆเพื่อให้สอดคล้องกับมิติด้านความมั่นคง ที่เกิดขึ้นและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ดังนั้นการปรับโครงสร้างของกอ.รมน. ก็ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ตั้งแต่ ปี 59 - ปี 60 ได้มีการปรับโครงสร้างอย่างเต็มรูปแบบ เพราะมิติความมั่นคง เพิ่มวงกว้างอยู่ทุกวัน

ส่วนที่มีการพูดว่าเมื่อคณะรักษษความสงบแห่งชาติ(คสช.) หมดอำนาจลงก็ถ่ายโอนอำนาจมาให้ทาง กอ.รมน.นั้น ตนคิดว่านัยของการเพิ่มอำนาจ น่าจะเป็นการเพิ่มบทบาทมากกว่าที่กอ.รมน.ต้องเข้าไปเป็นแกนกลางในการประสานงาน เพื่อขับเคลื่อนงานทุกมิติที่เกิดขึ้นปัจจุบันกอ.รมน.ได้ดูแลทุกพื้นที่

สมพงษ์ยันเวทีแก้รธน.ไม่ขัดกม.

ขณะที่ท่าทีจากทางฝ่ายค้านนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่าการแจ้งความกลับพล.ต.บุรินทร์ นั้นตนและพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ประชุมหารือกันหลายครั้ง โดยเห็นว่าสิ่งที่ตนและพรรคฝ่ายค้านได้พูดนั้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และเป็นนโยบายของพรรค ขณะเดียวกันนโยบายของรัฐบาลก็กำหนด เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในข้อเร่งด่วนเช่นกัน จึงไม่เห็นว่าสิ่งที่พูดมีข้อบกพร่องอย่างไร การแจ้งความดำเนินคดีของทหารจึงเป็นการทำหน้าที่เกินไปกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด 

ขอฝากไปถึงพล.ต.บุรินทร์ว่า ท่านเป็นนักกฎหมายทำหน้าที่กรมพระธรรมนูญมาอย่างดี 

จึงอยากให้ทำหน้าที่ให้ดีขึ้นกว่าเดิมและควรไปดูแลและตรวจสอบกรณีทหารเกณฑ์ที่หนีทหาร ซึ่งการหนีทหารต้องไม่ได้รับเงินเดือน แต่ในทุกเดือนเม็ดเงินเหล่านี้ยังถูกเบิกจ่ายออกไป จึงต้องตรวจสอบให้ชัดว่า เม็ดเงินกี่ร้อยล้านบาทที่หายไป รวมถึงตรวจสอบกรณีทหารเกณฑ์ที่ติดยาเสพติดด้วย เพราะประเด็นดังกล่าว เป็นข้อเท็จจริงที่ตนได้รับทราบมาแล้วไม่สบายใจ

 

ชวนแนะถอดบทเรียนปี44

ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่ากรณีที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเดินสายรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญตนไม่ขอวิจารณ์ แต่ขอแนะนำว่า เรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงจะต้องระมัดระวัง ถ้ายังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนว่าจะดีกว่าเดิมก็อย่าไปทำให้มันกระทบ

ทั้งนี้การแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เคยมีความผิดพลาดมาแล้ว เมื่อวันที่ 8 เม.ย.2544 และมีผลจนถึงทุกวันนี้ มีความสูญเสียไปถึง 6,000 กว่าคน เพราะความผิดพลาดจากนโยบายที่มีการเปลี่ยนแปลงใหม่

จึงเสนอว่า ถ้าเป็นเรื่องของความมั่นคง ขอให้ทุกฝ่ายทั้งฝ่ายค้าน รัฐบาล และฝ่ายที่เกี่ยวข้องศึกษาให้ถ่องแท้ทั้งประวัติศาสตร์และแนวทางที่มีอยู่ถ้าดีกว่าเดิมก็แก้ไขเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเห็นว่ายังไม่สามารถแก้ไขให้มันดีกว่าเดิมได้ก็ต้องระมัดระวัง โดยยึดจากความผิดพลาดเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2544 เป็นตัวอย่าง จนทำให้เกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 ที่เกิดการปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์อ.เจาะไอร้อง

ถึงการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญสภาผู้แทนราษฎรมีคณะกรรมาธิการศึกษาการแก้ไขเพิ่มเติมอยู่แล้ว แต่ยังไม่ถึงเวลาต้องพูดว่าจะต้องยกเลิกมาตราไหน เพราะต้องดูวิธีการก่อนว่าจะมีทางไหนแก้ไขรัฐธรรมนูญได้บ้าง เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้แก้ไขได้ยากมาก ซึ่งเนื้อหาสาระนั้นต้องหารือร่วมกันทุกฝ่ายและสมาชิกวุฒิสภาด้วย

ร้องกกต.ยุบ7พรรคฝ่ายค้าน

วันเดียวกันนายนพดล อมรเวช เลขาธิการสมาพันธ์เครือข่ายรักษ์สยาม ยื่นหนังสือถึงประธาคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)เพื่อขอให้ตรวจสอบพรรคการเมืองและยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบ 7 พรรคการเมืองในกรณีร่วมจัดเวทีเสวนาเรื่องรัฐธรรมนูญโดยการเสวนาดังกล่าวนางชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 1 และได้รับเชิญจากผู้ที่ร่วมเป็นเจ้าภาพของ 7 พรรคฝ่ายค้าน ย่อมต้องทราบกรอบ ขอบเขตและเนื้อหาการเสวนา

อีกทั้งพรรคการเมืองที่เข้าร่วมเสวนา ไม่ได้ให้ข้อมูลในลักษณะท้วงติง แต่กลับมีพฤติกรรมเหมือนรู้เห็นเป็นใจและมีส่วนร่วมสนับสนุน คล้อยตามว่าจำเป็นและสมควรที่ต้องแก้ไขมาตราดังกล่าว

ไฟเขียวร่างพ.ร.ฎ.เงินเดือน2สภา

ส่วนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.)เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมาชิกวุฒิสภา และกรรมาธิการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเสนอ

สำหรับร่างพ.ร.ฎ.ฉบับนี้กำหนดให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มเป็นรายเดือนนับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ซึ่งเดิมกำหนดให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มนับแต่วันเข้ารับหน้าที่ ทั้งนี้ เมื่อได้รับเงินดังกล่าวแล้ว ไม่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งส.ส.หรือส.ว. แล้วแต่กรณี

นอกจากนี้ กำหนดให้ส.ส.ที่มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ไม่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งเป็นรายเดือนของ ส.ส.อีก และกำหนดให้ ส.ว.ในวาระเริ่มแรก และส.ว.ในบัญชีสำรองที่เลื่อนขึ้นมาแทน ส.ว.ที่ว่างตามมาตรา 269 ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มเป็นรายเดือน นับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ทั้งนี้กำหนดให้พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเมื่อมีผลใช้บังคับ ให้ ส.ส.และส.ว.ได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มย้อนหลังไปนับวันที่มีสมาชิกภาพของส.ส.และส.ว.เริ่มต้น