ส่งออกทรุด จ้างงานซบ     

ส่งออกทรุด จ้างงานซบ     

“วอร์รูม กระทรวงพาณิชย์" แนะปรับพอร์ตประเทศลดพึ่งพาการส่งออก ส่งเสริมบริโภคภายใน เสริมการใช้ประโยชน์การนำเข้า หวังรับมือ-แก้ผลกระทบสงครามการค้า-เงินบาทแข็งค่า ด้านเอกชนเผยปัญหาลุกลามทำการจ้างลดลง ระบุกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์โดยหนักสุด

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะทำงานวอร์รูม ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิต) ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาแนวทางการรับมือการเบี่ยงเบนทางการค้า โดยเห็นตรงกันว่าจะต้องมีการปรับโครงสร้างประเทศ ด้วยการใช้โอกาสจากเงินบาทที่แข็งค่านำเข้าวัตถุดิบราคาถูกมาผลิตเป็นสินค้า และให้มีการปรับกฎระเบียบภายในให้เอื้อต่อการนำเข้า ซึ่งจะทำให้ไทยมีสินค้าศักยภาพเพื่อการส่งออกเพิ่มมากขึ้น

“ในด้านการส่งออก เห็นตรงกันว่า ค่าเงินบาทแข็งค่ามาก มีผลกระทบต่อการส่งออก การจะเข้าไปแทรกแซงก็ทำไม่ได้ เพราะไทยเป็นประเทศที่ไม่ได้แทรกแซงค่าเงิน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังดูแลอยู่ แต่การที่เงินบาทแข็ง ก็เป็นโอกาสที่จะไทยจะปรับพอร์ตประเทศใหม่ มาดูเรื่องการนำเข้า”

ส่วนในด้านการลงทุน เห็นว่า ไทยจะต้องเร่งการดึงดูดการลงทุนโดยตรงให้เพิ่มมากขึ้น เพราะผลจากสงครามการค้า ทำให้มีการย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังประเทศอื่นๆ หลายประเทศ ซึ่งไทยจะต้องมีนโยบายและมาตรการดึงดูดการลงทุนที่เอื้อต่อการเข้ามาลงทุน

 โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมการค้าลงทุน (บีโอไอ) และคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ก็ดำเนินการอยู่ แต่จะไม่เน้นการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูง

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นด้วยกับการส่งเสริมให้มีการใช้สินค้าไทย สินค้าที่ผลิตในประเทศไทย เพื่อเป็นการส่งเสริมธุรกิจของไทย และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ ไม่ใช่จะพึ่งพาแต่การส่งออกเพียงอย่างเดียว เพราะปัจจุบันจีดีพีของไทย พึ่งพาการส่งออกสูงมาก

อย่างไรก็ตาม ไทยจะต้องเร่งการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) โดยเฉพาะไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งขณะนี้ได้มีการเตรียมการไปแล้ว และจะเดินหน้าแน่นอน เพราะหากไทยไม่ทำ จะเสียเปรียบประเทศคู่แข่ง ที่ปัจจุบันมีการทำเอฟทีเอกับอียูแล้ว และยังต้องเร่งเจรจาเอฟทีเอที่ค้างอยู่ในเสร็จ ทั้งความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ไทย-ตุรกี ไทย-ศรีลังกา และไทย-ปากีสถาน

รายงานข่าวแจ้งว่า ส่วนการรับมือเบร็กซิต จะต้องเร่งกระชับความสัมพันธ์ทางการค้ากับอียูและอังกฤษให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เร่งส่งออกไปยังอังกฤษโดยใช้ประโยชน์จากอัตราภาษีชั่วคราวที่ลดลง หรือการที่อังกฤษจะหาแหล่งนำเข้าอื่นทดแทนนำเข้าจากอียู เร่งดึงดูดนักลงทุนอียูและอังกฤษมาลงทุนในไทย หาลู่ทางกระจายการลงทุนในเนเธอร์แลนด์และประเทศแถบยุโรปตะวันออก รวมทั้งต้องเตรียมการเรื่องโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าไปอังกฤษ

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.)ระบุว่า การส่งออกที่ชะลอตัว ทำให้โรงงานหลายแห่งมีการปรับลดเวลาการจ้างงานและลดคนงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่ส่งไปจีน เช่น แผงวงจรไฟฟ้า ฮาร์ดดินไดรฟ์ ซึ่งเป็นการปรับตัวของโรงงานเมื่อคำสั่งซื้อลดลง

ดังนั้น ไทยควรปรับโครงสร้างลดการพึ่งพาการส่งออก จากปัจจุบันที่พึ่งพาการส่งออก 70% และบริโภคในประเทศ 30% ให้เป็น 60:40 และเพิ่มเป็น 50:50 ในอนาคต เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งปัญหาสงครามการค้า ,เบร็กซิท,การเมืองในฮ่องกง

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัญหาสงครามการค้าและเงินบาทที่แข็งค่าส่งผลให้การ     ส่งออกชะลอตัว และกระทบถึงโรงงานบางแห่งที่จะต้องลดต้นทุน เพราะคำสั่งซื้อลด จึงทำให้โรงงานบางแห่งมีการลดคนงาน     

 

ทั้งนี้ แนวทางต่าง ๆ จะพิจารณากันในรายละเอียดเพิ่มเติม ก่อนนาเสนอต่อรายงานต่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนกระทรวงพาณิชย์ (กรอ.พณ.)ในเดือนต.ค.นี้ต่อไป